“สุดารัตน์” ยอมรับข้อผิดพลาดเป็นบทเรียน พร้อมเรียกร้อง “นายกฯ” ฟังเสียงประชาชน

(3 มี.ค. 63) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการปรับเปลี่ยนการบริหารงานพรรคให้เป็นเอกภาพ ว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้รับฟังความคิดเห็นของทุกคน พรรคเพื่อไทยก็เป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ซึ่งอย่างแรกต้องขอให้กำลังใจผู้ปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่หัวหน้าพรรค ผู้ที่มีหน้าที่ในการทำงาน สมาชิก ฯลฯ สำหรับเหตุการณ์จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ผ่านมา อะไรที่เป็นข้อบกพร่อง หรือมีข้อผิดพลาด เราจะนำบทเรียนนั้นมาวิเคราะห์ ว่าเราจะแก้ไขกันอย่างไร เพื่อให้เรามีความแข็งแรงขึ้น

“วันนี้ไม่มีใครโทษใคร เกิดอะไรขึ้นเราก็อยู่องค์กรเดียวกัน การโทษกันไปโทษกันมา เชื่อว่าไม่มี จะเกิดอะไรขึ้นเราก็ต้องช่วยกันแก้ไขปรับปรุง”

คุณหญิงสุดารัตน์ ตอบคำถามกรณีพรรคจะมีมาตรการกับงูเห่าที่แตกแถวไปลงชื่อร่วมประชุมในวันลงมติ และประกาศตัวอย่างชัดเจนหรือไม่ อย่างไร ว่า ความรับผิดชอบของคนในแต่ละด้านแตกต่างกัน ทางหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการจริยธรรมที่หัวหน้าพรรคแต่งตั้ง ขณะนี้กำลังพิจารณาดำเนินการเรื่องนี้อยู่ ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ มีหน้าที่รวบรวมเนื้อหาในการอภิปรายฯ แล้วมาดำเนินการเอาผิดต่อทางด้านกฎหมาย ซึ่งเรามีคณะกรรมการชุดความยุติธรรม และกฎหมาย ที่มี นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นประธาน และจะมีการยื่นดำเนินการทางกฎหมาย ทั้งต่อศาล ป.ป.ช. และองค์กรที่มีหน้าที่ที่ดูแลเรื่องเหล่านี้ให้มารับเรื่องดำเนินการและตรวจสอบต่อไป

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวถึงการทำงานร่วมกันกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า ผู้ใหญ่ของพรรคก็ได้มีการประชุมหารือกัน ซึ่งมีข้อสรุปว่าก็เดินหน้าทำงานกันต่อ เมื่อสักครู่ตนก็ได้รับโทรศัพท์จากทางพรรคอนาคตใหม่ให้ไปทานข้าว แต่ที่ประชุมยังไม่ได้คุยสรุปกัน ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อะไรที่ผิดพลาด บกพร่อง หรือไปกระทบกระทั่งกันมันก็เป็นบทเรียนที่ต้องแก้ไข

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเสนอให้เปิดประชุมวิสามัญ เพื่อรับฟังความเห็นของน้องๆนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว ว่า ความจริงถ้าจะรับฟังความเห็นของนักศึกษา คนที่เกี่ยวข้องคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สามารถรับฟังได้โดยตรง และเป็นเรื่องที่ควรต้องรับฟังด้วย ทั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ยากมาก ที่จะมีนักศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาที่ออกมากันอย่างพร้อมเพรียง ทุกเสียงย่อมมีความหมาย และมีคุณค่าที่จะต้องรับฟัง ซึ่งเขาเรียกร้องไปที่นายกฯโดยตรง นายกฯก็ควรที่จะต้องรับฟัง แล้วค่อยใช้เวทีสภาในคราวต่อไป