คนรุ่นใหม่เพื่อไทย ร่วมแคมเปญ EachForEqual เนื่องในวันสตรีสากล ชี้ความเท่าเทียมทางเพศและความเท่าเทียมในกติกา สร้างความเท่าเทียมให้กับประเทศได้

(8 มี.ค.63) เนื่องในวันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล คณะผู้จัดวันสตรีสากลระดับโลกได้มีการจัดทำแคมเปญ “ความเท่าเทียมทางเพศ” หรือ #EachForEqual สนับสนุนให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ส่งเสริมให้ทุกเพศมีส่วนร่วมในพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และประเทศชาติ

กลุ่มเพื่อไทยพลัส พรรคเพื่อไทย จึงได้เข้าร่วมแคมเปญ #EachForEqual เพื่อเป็นแนวร่วมกับสตรีทุกประเทศ โดยการถ่ายรูปพร้อมแสดงสัญลักษณ์เท่ากับ (=) และร่วมแสดง “Flash Talk” หรือความคิดเห็นสั้น ๆ เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.จ.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันสตรีสากลปีนี้ ขอให้เป็นปีแห่งความเสมอภาค เราทุกคนมีความแตกต่าง อย่าตัดสินที่เราไม่เหมือนกัน แต่ขอให้เข้าใจในความหลากหลาย  

นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส. จ.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากสังคมเปิดกว้างและเปิดใจยอมรับในความสามารถของผู้หญิง มากกว่าการให้สิทธิพิเศษโดยใช้เรื่องเพศสภาพเข้ามาตัดสิน เพศสภาพจะไม่ใช่ข้อจำกัดในการทำงานอีกต่อไป ขณะที่นางสาวชนก จันทาทอง ส.ส. จ.หนองคาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ความเท่าเทียมควรเริ่มที่การมีผู้นำที่ดี นึกถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ความเท่าเทียมกันถึงจะเกิดขึ้น

ด้านนางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส. จ.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผู้หญิงมีศักยภาพและความสามารถพอที่จะรับได้ทุกบทบาท ไม่ใช่เพียงผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง โดยคำว่า “นางสาว” ไม่ควรเป็นอุปสรรคการทำงาน หรือตัวชี้วัดถึงคุณสมบัติใคร

ขณะที่นางสาวสกุณา สาระนันท์ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการเป็น ส.ส.คือ จิตสำนึกในการผลิตความยุติธรรม เพราะความยุติธรรม เป็นรากฐานของความเท่าเทียม โดยไม่มีเพศสภาพมาเป็นข้อจำกัด หากทางเมืองไม่มีสิ่งนี้ เราจะหวังให้มีในพื้นที่อื่นคงยาก  และนางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี ส.ส. จ.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า เรื่องเพศสภาพ หากใช้ตามอง แล้วใช้สมองประมวลผล จะเห็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอก  แต่ถ้าเราใช้หัวใจมอง ประมวลผลไปที่หัวใจของเขาเหล่านั้น  เราจะเห็นพลังและเห็นความสุข   
   
ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผู้ชายหลายคนรับผิดชอบดูแลลูกอยู่บ้าน ผู้หญิงออกไปทำงาน หาเลี้ยงครอบครัว  เป็นความสุขในวิถีทางของเขา

นอกจากนี้ยังมีแนวร่วมเป็นนักเรียน นักศึกษา จากหลากหลายสถาบันมาร่วมแคมเปญนี้ด้วย โดยนางสาวณัฐชรี จันทร์อยู่สุข นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย เป็นสิ่งที่มีพลวัตมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันสังคมไทยอาจต้องเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโอกาสของผู้หญิงในการเป็นผู้นำในองค์กรและในทางการเมือง

ส่วนนางสาวอนินท์ญา ขันขาว  นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในยุคปัจจุบัน Gender Equality มีความสำคัญในการขับเคลื่อนทุกมิติ ทั้งการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ อีกทั้งสอดคล้องกับโลกาภิวัตน์และ Global Mega Trend ถ้าคนในสังคมบางส่วนยังมีความเชื่อเกี่ยวกับสังคมชายเป็นใหญ่ ก็อาจจะยากในการพัฒนาชีวิตและสังคมให้ก้าวหน้าและทันสมัยขึ้น

นางสาวปนัสยา งามนิจ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนควรจะเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่ในเพศสภาพไหนก็ตาม เราควรส่งเสริมและช่วยกันสร้างทัศนคติที่ดีต่อทุกเพศ เพราะในความจริงแล้วทุกเพศมีความสามารถต่างกันและทุกคนควรให้สิทธิที่จะปฎิบัติแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมด้วย