ศูนย์ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 พรรคเพื่อไทย เรียกร้องรัฐบาล ยกระดับมาตรการควบคุมโรค ควบคู่กับการเตรียมแผนลดผลกระทบเศรษฐกิจ
18 มีนาคม 2563 นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานศูนย์ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 พร้อมด้วย นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงว่า พรรคเพื่อไทยได้ติดตามการแถลงของนายกรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรีที่มีประกาศตามมาระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม 2563 ด้วยความสนใจ เพราะตั้งใจจะสนับสนุนมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคในบทบาทหน่วยงานนอกภาครัฐ โดยพบประเด็นที่ควรปรับปรุงเพิ่มเติม จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีการดำเนินการเพิ่มเติมในประเด็นดังต่อไปนี้
1. รัฐควรแสดงแผนฯ และมาตรการในการลดการติดเชื้อและการควบคุมโรค ซึ่งครอบคลุมทั้งแผนฯและมาตรการที่ภาครัฐดำเนินการและสิ่งที่ขอให้ประชาชนร่วมด้วยช่วยกันในการดำเนินการซึ่งไม่ใช่แค่ให้เชื่อในรัฐบาลเพราะพวกเราตระหนักดีว่า สถานการณ์ของโรคจำเป็นต้องขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกัน ข้อเรียกร้องของเราที่มีต่อรัฐบาลในด้านการลดการติดเชื้อและควบคุมโรค จึงมีดังนี้
1.1 รัฐควรประกาศเปิด “ปฏิบัติการค้นหาผู้ติดเชื้อ COVID-19” เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงที่ต้องการการคัดกรองตามหลักระบาดวิทยา ได้แก่ คนมีอาการ คนที่สัมผัสกับกลุ่มเสี่ยง ซึ่งต้องให้เข้าถึงการคัดกรองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย การดำเนินการเช่นนี้ อาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นแต่จะทำให้สามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ เราพบข้อมูลว่า การเข้าถึงการตรวจ PCR มีข้อจำกัดทั้งในด้านหน่วยงานที่ตรวจและราคา จึงจำเป็นต้องเร่งให้มีหน่วยงานที่มีศักยภาพตรวจไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาลหรือองค์กรที่มีศักยภาพและมีมาตรฐาน
1.2 ระงับการเพิ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้าประเทศ โดยสามารถทำได้ 2 วิธีคือ ประกาศการงดรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ หรือ การประกาศกักตัวนักท่องเที่ยวประเทศกลุ่มเสี่ยงตามระยะเวลาการฟักตัวของโรคคือ 14 วัน โดยต้องเป็นการกักตัวที่เข้มงวด จำกัดการไปสัมผัสบุคคลอื่นในประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่ให้กักตัวเอง
1.3 แสดงการเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ สถานพยาบาลและเวชภัณฑ์ ที่เป็นรูปธรรม โดย
1.3.1 ควรจัดตั้งคณะกรรมการบริหารเครื่องมือและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ในสภาวะฉุกเฉิน โดยให้มีอำนาจในการพิจารณาจัดหา สำรวจความต้องการและจัดสรรให้เหมาะสมครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะ เราพบการร้องเรียนความไม่เพียงพอของวัสดุอุปกรณ์ในสถานบริการทางการแพทย์อยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ ในบางพื้นที่หน้ากากอนามัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ
1.3.2 ต้องเร่งฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศให้มีความพร้อมในการให้บริการทางการแพทย์เฉพาะด้าน
1.4 ศูนย์ปฏิบัติการของรัฐบาล ต้องเปิดเผยข้อมูลเชิงระบาดวิทยาเมื่อพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างรวดเร็ว และขอความร่วมมือจากประชาชนในการจำกัดการเคลื่อนที่ของตนเองในการเข้าพื้นที่ดังกล่าว
1.5 เสนอให้ระงับการกระจายของเชื้ออย่างเข้มข้นในเขตพื้นที่ที่มีการตรวจพบเชื้อ คือ การระงับทุกกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มทุกประเภท ยกเว้น สถานที่ที่บริการด้านความจำเป็นพื้นฐาน เช่น ร้านอาหารประเภทส่งถึงบ้าน ร้านขายยา ร้านขายของชำและของใช้สำหรับเด็ก ตามระยะฟักตัวของโรค และเร่งทำความสะอาด ฉีดยาฆ่าเชื้อ ในทุกส่วนพื้นที่สาธารณะ ทำความสะอาดธนบัตรและอื่นๆ ที่จำเป็น
1.6 ขอความร่วมมือให้ประชาชนจำกัดการเคลื่อนที่ของตัวเอง ขณะเดียวกัน รัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือบุคคลที่กักตัวว่าจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ยากไร้ในสังคม
2. รัฐต้องแสดงแผนฯและมาตรการลดผลกระทบความสูญเสียของโรค ซึ่งเราต้องการเห็นอย่างน้อย 2 มาตรการ คือ
2.1 แผนฯและมาตรการที่แสดงความพร้อมของการลดการสูญเสียชีวิต โดยเราขอเสนอมาตรการต่อรัฐบาล ดังนี้
2.1.1 เสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทั้งในเรื่องการกำหนดเกณฑ์คัดกรองผู้ป่วย การจัดเตรียมสถานพยาบาลและบุคลากรรองรับ และการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยในภาพรวมของประเทศ
2.1.2 แสดงให้เห็นศักยภาพในการรับผู้ป่วยเป็นรายพื้นที่ และต้องมีแผนการคัดกรองความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ชัดเจน เพราะเราจำเป็นต้องดูแลถึงกลุ่มเปราะบางในสังคมให้เข้าถึงการรักษา มาตรการนี้รวมถึงการแยกสถานบริการทางการแพทย์(ตึกผู้ป่วย)ปกติและการแยกสถานบริการรักษาโควิด-19 เป็นการเฉพาะออกจากกัน เนื่องจากต้องมีมาตรการการควบคุมโรคควบคู่กับการรักษาพยาบาลด้วย
2.1.3 มาตรการดูแลกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานทั้งในด้านการป้องกัน ควบคุมและรักษาพยาบาลทั้งในด้านสุขภาพและด้านสวัสดิการต้องชัดเจน
2.2 แผนฯและมาตรการที่แสดงความพร้อมในการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมาตรการต่างๆในการป้องกันและควบคุมโรคจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจ อันจะทำให้ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับครัวเรือน และระดับประเทศ รัฐบาลต้องจัดตั้งคณะทำงานฯ หามาตรการช่วยเหลือให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้ทั้งในระยะสั้นและจัดเตรียมแผนฯฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวควบคู่กันไป