โฆษกพรรคเพื่อไทย แนะ รัฐบาล เร่งเยียวยาฟื้นฟูทางเศรษฐกิจผู้ได้รับผลกระทบ ควบคู่ยกระดับมาตรการรับมือโควิด-19
23 มีนาคม 2563 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยว่า แนวทางที่เสนอรัฐบาลเป็นเจตนาที่จะช่วยกันหาทางออกและหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นการสะท้อนปัญหาของประชาชนถึงรัฐบาล ที่ผ่านมามาตรการต่างๆ ของรัฐบาลค่อนข้างล่าช้ากว่าสถานการณ์และล้าหลังกว่าประชาชน จนถึงปัจจุบันหากรัฐบาลเร่งยกระดับการทำงานยังพอจะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดชะลอลงไปได้บ้าง จึงขอเน้นย้ำนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาดังนี้
1. ปิดประเทศทันที เพื่อปิดรับการแพร่ระบาดจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่ม ส่วนคนไทยในต่างประเทศต้องสามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ ผ่านกระบวนการคัดกรอง ผู้ติดเชื้อต้องเยียวยารักษา ผู้ไม่พบเชื้อต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
2. มาตรการที่ภาครัฐออกมา ต้องบูรณาการ ครบถ้วน มีแผนรองรับ อย่าสั่งการแบบแยกส่วน และต้องปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกันทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างเป็นระบบ
3. การสั่งการไปยังส่วนราชการต่างๆ ต้องเป็นเอกภาพ ไม่ย้อนแย้ง สับสน ยากต่อการตีความและการปฏิบัติ
4. การสื่อสารกับประชาชนต้องเป็นเอกภาพ อย่าสร้างความสับสนวุ่นวายขึ้นในหมู่ประชาชนด้วยตัวรัฐบาลเอง
5. การกระจายและจัดสรรทรัพยากร เวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ ต้องเพียงพอ ไม่ให้มีการกักตุน จำหน่ายเกินราคา ซ้ำเติมประชาชน
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์พยาบาลและบุคลากรทางการสาธารณสุขยากลำบากอยู่แล้ว จึงขอให้ประชาชนให้กำลังใจนักรบเสื้อกาวน์ด้วยการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ลดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่เพิ่มภาระให้กับผู้ปฏิบัติงานในส่วนหน้า
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องมีมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูทางเศรษฐกิจให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งประชาชนได้รับผลกระทบจากการหยุดงานเฉียบพลัน จนไม่มีรายได้ หรือรายได้ลดลงมีจำนวนมาก รัฐบาลจะรอให้โควิด-19 ซา ค่อยหามาตรการเยียวยาฟื้นฟูทางเศรษฐกิจไม่ได้ ต้องทำควบคู่และออกมาตรการเยียวยาอย่างทันท่วงที ขอเสนอ 3 หลักในการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจดังนี้
1. มาตรการช่วยเหลือเยียวยาทางเศรษฐกิจต้องทำทันทีเพราะมีประชาชนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวนมาก
2. มาตรการช่วยเหลือเยียวยาทางเศรษฐกิจต้องตรงกลุ่ม เสมอภาค เท่าเทียม ไม่เน้นเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบมากกว่าควรจะรับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน
3. มาตรการช่วยเหลือเยียวยาทางเศรษฐกิจต้องสอดรับกับสถานการณ์ ไม่ยุ่งยาก ไม่นำคนไปรวมกันมากๆ เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติมปัญหา
รัฐบาลต้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังทางสังคม โดยการยกระดับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนควบคู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19