ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ชี้ รัฐบาล ต้องเร่งเยียวยาทางเศรษฐกิจ ผู้ได้รับผลกระทบ วิกฤติโควิด-19

23 มีนาคม 2563 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังร่วมประชุมกับคณะกรรมการศูนย์ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 พรรคเพื่อไทย ถึงมาตรการของรัฐบาลในการปิดสถานประกอบการ 28 ประเภท เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า เป็นการคิดไม่รอบด้าน และไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน รัฐบาลปล่อยให้ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดดำเนินการกันเอง ถือเป็นความบกพร่องอย่างมากที่นายกรัฐมนตรีไม่เรียกหน่วยงานต่างๆ มาหารือก่อน จนทำให้ประชาชนต้องหยุดงาน ไม่มีรายได้ จึงเลือกที่จะกลับภูมิลำเนา ซึ่งรัฐบาลไม่มีมาตรการรองรับ ไม่มีการระบุว่าห้ามออกจากกรุงเทพฯ หรือให้การเยียวยาชดเชยในช่วงที่หยุดงาน จึงทำให้เห็นภาพการกลับภูมิลำเนาของประชาชนจำนวนมาก ยิ่งทำให้มีการเคลื่อนที่ของคนจำนวนมาก 

รัฐบาลควรมีมาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการควบคู่กับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะคนตัวเล็ก คือ พนักงาน ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน จากมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่าง SMEs โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านค้าปลีกรายเล็ก และอื่นๆ 

โดยขอเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบดังต่อไปนี้

 

1. มาตรการสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ต้องถูกเลิกจ้าง คนตกงาน ถูกพักงาน

 

1.1 สำหรับคนที่ต้องออกจากงาน ตกงาน หรือพักงาน เพราะผลกระทบจากโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (หากมีงานทำก่อน ก็ยกเลิกการอุดหนุนเบี้ยยังชีพนี้)

 

1.2 พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยทุกประเภท ให้ประชาชน ทั้งหนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนเครื่องมือทำการเกษตร หรือผ่อนเครื่องมือทำมาหากินอย่างคอมพิวเตอร์ (ที่เป็นหนี้มาก่อน ไม่ใช่หนี้ใหม่) เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนเป็นเบื้องต้นนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 

1.3 ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ประชาชนทุกประเภท  

1.4 สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังต้องถูกกักตัว 14 วัน ต้องจ่ายชดเชยรายได้ให้คนละ 5,000 บาท 

1.5 ช่วยลดค่าน้ำค่าไฟ ให้ผู้มีรายได้น้อย ใช้ไม่เกิน 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน  

1.6 สำหรับเด็กนักเรียนที่ต้องเรียนออนไลน์ และพนักงานที่ต้องทำงานจากบ้านให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งให้เอกชนช่วยสนับสนุนบางส่วน 

1.7 ขอความร่วมมือภาคเอกชนงดเก็บค่าเช่าให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็กอย่างน้อย 3 เดือน โดยลดภาษีให้ผู้ประกอบการ 

2. มาตรการสำหรับภาคธุรกิจ ต้องเร่งช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง SMEs กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มผู้ผลิต ขนาดเล็กขนาดกลาง ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร รับจัดอีเว้นท์ สปา ฯลฯ ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดย 

2.1 พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือนก่อนในเบื้องต้น นับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป 

  

2.2 ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ธุรกิจเล็ก กลางที่ได้รับผลกระทบ ให้เหลือ 3% พร้อมทั้งปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เอกชนพอที่จะยืนอยู่ได้ ในสภาวะเช่นนี้  

  

2.3 ให้ Soft Loan “สินเชื่อเพื่อต่อชีวิตธุรกิจ” ในอัตราดอกเบี้ย 1% เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ SMEs (โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนปรนหลักเกณฑ์ในการให้สินเชื่อ และค้ำประกันเงินกู้ให้ธนาคารพาณิชย์) 

  

2.4 ให้เงินอุดหนุนนายจ้าง ”ไม่ให้เลิกจ้างพนักงาน” โดยช่วยสนับสนุนค่าจ้างพนักงานบางส่วน 

2.5 ลดราคาน้ำมันตามราคาตลาดโลก โดยเฉพาะให้ยกเลิกการเก็บภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อลดต้นทุนการผลิต 

2.6 เลื่อนการจ่ายภาษีนิติบุคคลออกไปอีก 6 เดือน สำหรับธุรกิจ SMEs และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ 

3. มาตรการสำหรับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและกำลังมีปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 

3.1 พักชําระหนี้เกษตรกรทุกชนิด 6 เดือน หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น อาจขยายเวลาเพิ่มขึ้น 

3.2 เร่งจ่ายชดเชยค่าภัยแล้ง ไร่ละ 2,500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ส่วนเกษตรกรที่มีพื้นที่น้อยให้ขั้นต่ำรายละ 25,000 บาท  

3.3 จัดสรรเงิน SML 500,000-800,000-1,000,000 บาท ให้หมู่บ้านนำไปพัฒนาแหล่งน้ำ ถนนในหมู่บ้าน โดยให้ใช้แรงงานในพื้นที่เท่านั้น

“วันนี้รัฐบาลต้องฟังความเห็นอย่างรอบด้าน และออกมาตรการอย่างรอบคอบ รวมถึงเตรียมความพร้อมในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งการป้องกันและการรักษา ส่วนมาตรการที่เกิดความผิดพลาด ทำให้คนเรือนแสนต้องเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ขอให้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของสาธารณสุขและมหาดไทย ช่วยเอกซเรย์พื้นที่ว่ามีใครกลับมาบ้าง และให้คำแนะนำในการกักกันตัวเอง 14 วัน อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว