โฆษกพรรคเพื่อไทย แนะรัฐ ประเมินเคอร์ฟิว หากสถานการณ์ดีขึ้นควรพิจารณาผ่อนปรน

7 เมษายน 2563 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ว่า หลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การใช้มาตรการเคอร์ฟิว เพื่อจำกัดการเดินทางของประชาชน ถ้าผลออกมาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ที่อาจเป็นสัญญาณว่า บุคลากรทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขของประเทศ เริ่มที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ภาครัฐต้องผ่อนปรนบางมาตรการเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทสามารถกลับมาขับเคลื่อนได้ ไม่ใช่ไปจับคนฝ่าฝืนเคอร์ฟิว คืนละร้อยกว่าคน แล้วพยายามสื่อสารในลักษณะข่มขู่ประชาชนว่า ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือ จะต้องประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง แม้ต่อมาจะมีการอ้างว่าตีความจดหมายราชการของกระทรวงมหาดไทยที่ให้เตรียมพร้อมและยกระดับมาตรการรับมือโควิด-19 แล้วผิดไปนั้นแสดงว่าประชาชนบางส่วนตื่นตระหนกและไม่เชื่อมั่นในมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐออกมา เพราะที่ผ่านมาหลายมาตรการของภาครัฐ ลักลั่น สับสน ไม่มีมาตรการรองรับ ช้ากว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเสมอ 

“หากการประกาศเคอร์ฟิว 4 ทุ่ม ถึง ตี 4 ไม่ได้ผล ไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อได้ แล้วรัฐบาลจะขยายเวลาในการประกาศเคอร์ฟิวเป็น 24 ชั่วโมง จะมีอะไรมาการันตีว่าการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคจะได้ผล เกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาด ก็ไม่ได้ใช้วิธีการประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ในขณะที่พบข้อมูลว่ามีการติดเชื้อของคนในบ้านสูงที่สุด หากรัฐมีมาตรการที่เข้มขึ้นถึงขนาดห้ามออกจากเคหสถาน 24 ชั่วโมง อยากถามว่าเตรียมการรับมือในเรื่องนี้ไว้หรือไม่ อย่างไร มีงบประมาณในการดูแลประชาชนทั้งประเทศเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะการผลิต ระบบการจัดส่งอาหารให้ประชาชนได้ครบ 3 มื้อทั่วประเทศ รวมถึงการจัดส่งเครื่องอุปโภค บริโภค เวชภัณฑ์ต่างๆ เพียงพอหรือไม่ จะนำงบประมาณมาจากส่วนไหน รัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับ และงบประมาณดำเนินการในการช่วยเหลือประชาชนให้ชัดเจน เพราะมาตรการของรัฐที่ออกมาจะส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชนในทันที”  

 

ในสถานการณ์มหาวิกฤติโควิด-19 ที่เลวร้าย ส.ส. และบุคลากรทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ได้สละเงินเดือนของตัวเองมาหลายเดือนเพื่อเข้าไปช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ทั้งการจัดหาหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ ไปจนถึงดูแลอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค เวชภัณฑ์ต่างๆ แต่การช่วยเหลือของส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่า หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ ที่นำไปแจกจ่ายประชาชนนั้นจัดหามาจากเงินส่วนตัวของ ส.ส. หรืองบประมาณและสิ่งของจากหน่วยงานต่างๆ ภาครัฐมาแจกหรือไม่ ซึ่งการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบถือเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ไม่ควรปล่อยให้มีการนำงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ภาครัฐ ไปหาคะแนนเสียงในช่วงมหาวิกฤติ และการจะดำเนินการอะไรต้องมีความชัดเจน เช่น หน้ากากอนามัย ที่จะนำมาแจก ตกลงเป็นงบประมาณของกระทรวง หรืองบประมาณจากพรรคการเมือง ในขณะที่แพทย์พยาบาลบุคลากรทางการสาธารณสุข ขาดแคลนหน้ากากอนามัย แต่พรรครัฐบาลไปจัดหามาจากไหนถึง 10 ล้านชิ้น ไปจนถึงคำถามสำคัญที่ว่า หน้ากากอนามัยในระบบมีเพียงพอต่อความต้องการของนักรบเสื้อกาวน์ ที่เป็นด่านหน้าหรือยัง 

รัฐธรรมนูญมาตรา 185 ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภากระทำการใดๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การปฏิบัติราชการหรือการดําเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

(2) กระทำการในลักษณะที่ทำให้ตนมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใดๆ ของหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นการดำเนินการในกิจการของรัฐสภา

(3) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนหรือการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

“การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบในช่วงมหาวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเรื่องที่ดีและต้องดำเนินการ แต่ต้องแยกแยะให้ชัดว่าใช้งบประมาณส่วนใดในการลงช่วยประชาชนและต้องไม่ดำเนินการผิดกฎหมาย” นายอนุสรณ์ กล่าว