โฆษกพรรคเพื่อไทย แนะ รัฐเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ให้ครอบคลุมผู้เดือดร้อนตัวจริงทุกกลุ่ม

8 เมษายน 2563 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงมติ ครม.มาตรการจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. นั้น หลังสุด ครม. มีมติให้ขยายการจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบ เพิ่มเป็นจ่ายให้ คนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย. 2563 รวมเป็นเงิน 30,000 บาท แต่ให้แค่ 9 ล้านคนว่า การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำอย่างเร่งด่วน แต่การจำกัดจำนวนผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาเพียง 9 ล้านคนจากจำนวนผู้มาลงทะเบียน 24 ล้านคน เป็นจำนวนที่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดแล้วหรือไม่ รัฐบาลประเมินตัวเลขจากข้อมูลใดว่าเยียวยา 9 ล้านคนเพียงพอเหมาะสม ที่ผ่านมารัฐบาลประเมินตัวเลขผู้ที่จะได้รับการเยียวยาผิดพลาด ครั้งแรกตั้งไว้จำนวน 3 ล้านคนแล้วก็มีการขยายจำนวนออกมา จึงไม่ทราบว่าใช้เงื่อนไขใดมาคัดกรองจาก 24 ล้านคน เหลือ 9 ล้านคน จนทำให้มีคนที่ลงทะเบียนแต่ไม่ได้รับเงินอีก 15 ล้านคน ซึ่งอาจเป็นการตัดสิทธิ์ผู้เดือดร้อนที่แท้จริงจำนวนมากออกไปหรือไม่ ที่สำคัญการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน 30,000 บาทต่อคนได้ 9 ล้านคน กับการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน 15,000 บาทต่อคนได้ 18 ล้านคน แบบไหนจะเป็นการกระจายการช่วยเหลือในภาวะที่งบประมาณมีจำกัดออกไปได้มากกว่ากัน

หลายกรณีก่อนหน้านี้ดูเหมือนรัฐบาลจะออกแบบให้ดูว่ามีประชาชนตอบรับมาก แต่ก็จะไปตัดสิทธิ์หรือสร้างเงื่อนไขต่างๆ ขึ้นมาอย่างมากในภายหลัง ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก จนกระจาย แล้วยังมีการแจกเงินแบบกระจุก ระหว่าง 5,000 บาท 3 เดือนเหมือนเดิม แต่เพิ่มคนได้รับจาก 9 ล้านเป็น 18 ล้านคน กับการขยายวงเงินแต่ไม่ขยายกลุ่มผู้ได้รับ หรือแม้แต่คน 10 กลุ่มที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เหมือนกัน ดังนั้นรัฐบาลต้องไปตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดและเร่งรัดเข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของทางราชการ เช่น ลูกจ้างอิสระ แรงงานรายวัน คนตกสำรวจ คนที่เดือดร้อน ขอให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาที่มาจากเงินงบประมาณแผ่นดินให้ตกถึงมือผู้เดือดร้อนจริงๆ

สำหรับกรณีข้อเสนอให้หักเงินเดือน ส.ว. ไปแก้ปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นขณะนี้กระแสสังคมที่ออกมากดดัน สะท้อนว่าประชาชนรู้สึกอย่างไร ต่อความจำเป็นของการมี ส.ว. หรือมองไม่เห็นประโยชน์ของการทำหน้าที่ ส.ว. ซึ่งประชาชนรับรู้โดยทั่วไปว่า ส.ว. ชุดนี้มีที่มาอย่างไร 6 ใน 10 กรรมการสรรหา ส.ว. กลับสรรหาตัวเองมาเป็น ส.ว. ประชาชนตั้งคำถามว่า เป็น ส.ว. ของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อ พล.อ.ประยุทธ์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ คือ ตั้งมาเพื่อจะมาโหวต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจเท่านั้นหรือไม่ เงินเดือน ส.ว. 1 คน และทีมงาน รับรายได้เดือนละ 250,000 บาท ส.ว. 250 คน เงินเดือนจากภาษีของประชาชนที่ต้องจ่าย คือเดือนละ 62,500,000 บาท ในขณะที่บางส่วนเป็นนายทหาร เป็นอดีตข้าราชการ มีรายได้หลักแสนต่อเดือนอยู่แล้ว แต่ก็มารับรายได้ 2 ทาง วันนี้ประชาชนที่เคยดูแล ส.ว. เดือดร้อนจากมหาวิกฤติโควิด ก็อยู่ที่สปิริต จิตสำนึก และการแสดงน้ำใจต่อพี่น้องประชาชนในยามที่ประชาชนเดือดร้อนของ ส.ว. ซึ่งตอนจะโหวต พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ พร้อมเพรียงแข็งขัน พอสังคมกดดัน ให้ตัดเงินเดือน ส.ว. กลับโบ้ยกันไปมา เชื่อว่าจากนี้ไปกระแสกดดันให้ตัดเงินเดือน ส.ว. จากประชาชนจะมากขึ้นเรื่อยๆ