โฆษกพรรคเพื่อไทย ชี้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ปัญหาระบบคัดกรองเยียวยา ทำประชาชนจำนวนมากเสียสิทธิ

15 เมษายน 2563 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงปัญหาระบบคัดกรองคุณสมบัติผู้ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล จนทำให้ประชาชนจำนวนมากเสียสิทธิว่า ภาพที่ประชาชนบุกกระทรวงการคลัง จนต้องปิดประตูหนีประชาชนนั้น อธิบายสถานการณ์ความรับผิดชอบของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี การจัดระเบียบความปลอดภัยไม่ให้ประชาชนบุกเข้าไปอีก สะท้อนการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่ต่างจากการบอกว่า ถ้าลงทะเบียนไม่ผ่านให้อุทธรณ์ออนไลน์ได้ ถ้าไม่ผ่านอีกจะต้องถึงขั้นฎีกาออนไลน์กันอีกหรือไม่ จึงเป็นหลักฐานที่รัฐบาลสารภาพเองว่าการเยียวยาของรัฐบาลเป็นปัญหาประชาชนได้รับผลกระทบจากการบริหารและการออกมาตรการที่ผิดพลาดของรัฐบาล ดังนั้นจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ระบบเอไอที่นำมาใช้คัดกรองถ้าไร้ประสิทธิภาพ ไม่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องทบทวน ปรับปรุง ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ เพราะความทุกข์ร้อนของประชาชนรอไม่ได้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนวิธีการคัดกรองใหม่ และเร่งเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ อย่ามัวแต่ไปแนะนำประชาชนตากแดดฆ่าเชื้อโรค เงินมีแล้ว ยิงศรให้ตรงเป้า จ่ายเงินเยียวยาให้ถูกคน การบอกว่าเราไม่ทิ้งกันแต่ไร้ประสิทธิภาพแบบนี้ทำให้มีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังจำนวนมาก

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 9/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 33 คน มีอำนาจพิจารณากลั่นกรองการจัดซื้อพัสดุและเวชภัณฑ์ ป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเคยเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลัง แต่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ยึดอำนาจกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว รวมถึงก่อนหน้านี้ได้ตั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ จนถูกตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลได้ยึดอำนาจกระทรวงพาณิชย์จากพรรคร่วมรัฐบาลไปแล้วหรือไม่ 

แม้แนวทางการแก้ไขปัญหาจะเป็นลักษณะรวบและกระชับอำนาจ มารวมศูนย์ไว้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ และคนใกล้ชิด แต่ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน รวมถึงปัญหาจำหน่ายเกินราคา ปัญหาการกักตุน ยังมีอยู่ ปัญหาวิกฤติศรัทธาที่กระทบรัฐบาลโดยตรงเรื่องแก๊งอมหน้ากาก นอกจากการฟ้องร้องกันไปมา มีอะไรที่เป็นความคืบหน้าหรือแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม รัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จหรือไม่ ซึ่งปัญหาการกักตุนหน้ากากอนามัยจนทำให้หน้ากากขาดแคลน จำหน่ายเกินราคาที่รัฐบาลยอมรับสารภาพเองถึงวันนี้แม้จะมีสารพัดกรรมการชุดต่างๆ ก็ยังแก้ไขไม่ได้