เพื่อไทย เรียกร้อง เปิดสมัยประชุมสภา เปิดทางตรวจสอบการใช้จ่ายงบฯ ภาครัฐ หวั่นใช้เงินผิดพลาด-ปัญหาทุจริต สร้างความเสียหายซ้ำอีกมหาศาล

21 เมษายน 2563 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และนายวัฒนา เมืองสุข กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้ร่วมกันแถลงข่าวสรุปผลการประชุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์   

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวถึงข้อเรียกร้องของพรรคเพื่อไทย ให้รัฐบาลตัดงบประมาณประจำปี 2563 ที่ไม่จำเป็นออกมาให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะงบซื้ออาวุธ งบฝึกศึกษา งบสร้างอาคาร หรืองบซื้อครุภัณฑ์ แม้รัฐบาลจะเปิดเผยรายละเอียดของการใช้จ่ายงบกลางในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ ครม. อนุมัติจำนวน 96,000 ล้านบาทออกมาแล้ว และมีหลายรายการที่ยังน่าสงสัยว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนและฉุกเฉินกว่าเรื่องโควิด-19 หรือไม่ โดยพรรคเพื่อไทยจะเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดและนำมาแถลงให้ประชาชนทราบต่อไป แต่ในชั้นนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยตัวเลขชัดๆว่าสรุปแล้วจากงบประมาณปี 2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท รัฐบาลตัดออกมาเพื่อใช้แก้ไขปัญหาเรื่องโควิดให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนเท่าไร ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใสและเป็นข้อมูลสำคัญให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่าการกู้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทนั้นจำเป็นต้องกู้เต็มจำนวนหรือไม่

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า ส่วนกรอบงบประมาณ ปี 2564 ที่ผ่าน ครม. ไปแล้วนั้นขอเรียกร้องให้รื้อใหม่ทั้งหมด เพราะเป็นการดำเนินการจัดทำกรอบงบประมาณก่อนมีสถานการณ์โควิด-19 เมื่อสถานการณ์ปัจจุบันพัฒนาจนเป็นสถานการณ์พิเศษไปแล้วการใช้กรอบงบประมาณแบบเดิมจึงไม่สมเหตุผล และการตั้งใจจะกู้อย่างเดียวโดยไม่ใช้เงินในกระเป๋าของตัวเองก่อน คงเป็นเรื่องไม่ฉลาดและไม่ถูกต้อง เพราะพรรคเพื่อไทยต้องการให้รัฐบาลลดภาระการกู้เงินที่เป็นหนี้สินของคนทั้งประเทศให้เหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

นายวัฒนา กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบยังไม่รวดเร็ว มีข้อแม้มาก ไม่ทั่วถึง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ผู้เดือดร้อนได้ทันเวลา จึงเสนอวิธีการที่ยุติธรรม เป็นประโยชน์สูงสุด สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและทันเวลาก็คือ (1) เยียวยาประชาชนอย่างทั่วถึงโดยใช้เกณฑ์ครัวเรือน ในอัตราครัวเรือนละ 10,000 บาท/เดือน ยกเว้นผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และประชาชนผู้ที่ไม่ประสงค์จะรับการเยียวยา (2) อำนวยความสะดวกในการรับเงินอย่างรวดเร็วให้ประชาชน โดยให้ประชาชนสามารถนำบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านไปขอรับเงินจากธนาคารได้ก่อน จากนั้นรัฐบาลค่อยโอนเงินคืนให้กับธนาคารต่อไป (3) สำหรับผู้ที่ตกหล่นทางทะเบียนบ้าน เช่น ผู้เช่า หรือมีการโยกย้ายภูมิลำเนา สามารถลงทะเบียนซ่อมเพื่อให้รัฐจ่ายเพิ่มเติมได้ ส่วนผู้ไม่ประสงค์จะรับเงินให้ลงทะเบียนแสดงความจำนง โดยประชาชนสามารถตรวจสอบได้

ส่วนเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะที่ขาดธรรมาภิบาลนั้น นายวัฒนากล่าวว่า ประเด็นธรรมาภิบาลในการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สิ่งที่น่ากังวล มี 2 ประการ คือ 1. ตรวจสอบไม่ได้และ 2. แต่งตั้งกรรมการแบบผิดฝาผิดตัว โดยเหตุที่จะตรวจสอบการใช้เงินไม่ได้ ก็เพราะกรรมการที่แต่งตั้งเข้ามา ล้วนเป็นลูกน้องและผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทั้งนั้น ไม่มีตัวแทนของประชาชนเลย จึงขาดการถ่วงดุลและตรวจสอบไม่ได้ แต่อาจจะนำไปสู่สภาวะ “ชงเอง กินเอง” ซึ่งผิดหลักการบริหารที่ดี และน่ากลัวว่าการใช้จ่ายเงินกู้จะกระจายไปไม่ถึงมือผู้ที่เดือดร้อนตัวจริง อีกทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการ ก็ตั้งแบบผิดฝาผิดตัว ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขร่วมเป็นกรรมการเลย ทั้งๆที่ผลกระทบจากโรคไวรัสโควิดเป็นงานของกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง แต่ทำไมคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ กลับมีแต่คนในวิชาชีพอื่น ที่เป็นลูกน้อง พล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่ได้เป็นไปตามหลักการ  Put the right man on the right job แล้วการกระจายทรัพยากรจะมีประสิทธิภาพและทั่วถึงได้อย่างไร นอกจากนี้ยังขอเรียกร้องให้รัฐบาลจัดเครื่องบิน ไปรับคนไทยในต่างแดนกลับประเทศเหมือนที่ประเทศอารยะอื่นๆ ปฏิบัติกัน เพราะขณะนี้ คนไทยจำนวนหนึ่งมีปัญหาเรื่องวีซ่าหมดอายุ จึงต้องอยู่ในต่างแดนอย่างผิดกฎหมาย

ขณะที่ นายสุทิน กล่าวว่า ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้านได้รับทราบความเป็นห่วงมาจากเพื่อน ส.ส. ว่าเนื่องจากงบประมาณส่วนท้องถิ่นที่รัฐบาลให้แต่ละจังหวัดดำเนินการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องรีบใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชน และให้เกิดประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์ แต่การใช้อย่างเร่งด่วนโดยสามารถข้ามขั้นตอนของระเบียบการใช้เงินตามปกติ ก็อาจเปิดช่องให้ผู้ต้องการแสวงประโยชน์ ฉกฉวยประโยชน์จากงบประมาณก่อนนี้ จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้กำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และ ตรงกับความเดือดร้อนของประชาชนด้วย

นายสุทิน กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้พิจารณาเปิดสมัยประชุมสภาให้เร็วขึ้น เพราะสถานการณ์โควิด-19 กับผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นพัวพันกันในหลายมิติ และที่สำคัญ พ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ก็มีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งยังมีมูลค่ามหาศาล หากใช้เงินผิดพลาดหรือมีการทุจริตในการใช้งบประมาณ จะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแก่ประเทศชาติ จึงต้องรีบเปิดสภาเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายเงินต่างๆ ของรัฐบาล หากเปิดสภาช้าก็จะสายเกินไป เข้าตำรา “กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้” ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ และกระจายความช่วยเหลือแก่ประชาชนไม่ทั่วถึง หากขาดการตรวจสอบ อาจนำไปสู่วิกฤติการณ์ของประเทศเหมือนในอดีต โดยเฉพาะการที่รัฐบาลจะออก พ.ร.ก. ให้แบงค์ชาติไปซื้อตราสารหนี้ หากไม่รอบคอบ อาจซ้ำรอย เหมือนที่แบงค์ชาติเคยใช้เงินอุ้มสถาบันการเงิน ผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน สมัยวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้สูญเสียเม็ดเงินถึง 800,000 ล้านบาท ในระยะแรก และสูญเสียอีก 1.4 ล้านล้านบาทในเวลาต่อมา รวมความเสียหาย 2.2 ล้านล้านบาท รวมทั้งกรณีที่แบงค์ชาติ ใช้เงินปกป้องค่าเงินค่าเงินบาท จนขาดทุน 2 แสนกว่าล้านบาท จนนำไปสู่วิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งยังเป็นฝันร้ายที่หลอกหลอนคนไทยอยู่จนถึงวันนี้ จึงขอเรียกร้องให้รีบเปิดสมัยประชุมสภาก่อนกำหนด เพื่อให้รัฐบาลและแบงค์ชาติได้รับฟังความคิดเห็นของสภาด้วย

นายสุทิน กล่าวว่า ส่วนใครที่กังวลว่าการประชุมสภาจะนำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 นั้น เป็นเรื่องสามารถป้องกันได้ด้วยมาตรการทางสาธารณสุข เช่น การเว้นระยะห่าง หรือ การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการประชุม ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากการประชุม ครม. หากการประชุม ครม. สามารถทำได้ การประชุมสภาก็ควรกระทำได้เช่นเดียวกัน ขอให้รัฐบาลและประธานสภาผู้แทนราษฎรเร่งพิจารณาเปิดสภาก่อนกำหนด เนื่องจากขณะนี้เกิดข้อพิรุธในการใช้จ่ายเงินงบประมาณต่างๆ ในการแก้ปัญหาโควิด และแผนการใช้เงินที่ออกมาก็มีเงื่อนงำมากมาย จึงต้องรีบเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อให้ผู้แทนราษฎรตรวจสอบเรื่องต่างๆ โดยด่วน อย่าฉวยโอกาสใช้วิกฤติโควิด-19 มาเป็นข้ออ้าง เพื่อปิดปากฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาล