ศูนย์ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 พรรคเพื่อไทย เสนอแนวทาง “เข้มสุขภาพ คลายเศรษฐกิจ” แนะรัฐบาลปรับใช้พร้อมเร่งผ่อนคลายมาตรการ
22 เมษายน 2563 นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานศูนย์ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย จากตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19 คน เห็นได้ว่า มาตรการการป้องกันโรค คือการดูแลสุขอนามัยตัวเองของประชาชน Physical Distancing เป็นไปด้วยดี การควบคุมโรค การปิดสนามบิน การคัดกรอง และกักกันผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศได้ทำกันอย่างเข้มงวดในระยะหลัง ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง การรักษาพยาบาลมีจำนวนผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านเพิ่มมากขึ้น จำนวนผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลลดลง แต่ขณะเดียวกันประชาชนก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่ต้องหยุดงาน ตกงาน ไม่มีเงินทองจับจ่ายใช้สอยในการดำรงชีวิต การเยียวยาของกระทรวงการคลังไม่ทั่วถึง เราจะเห็นภาพคนที่ไปเรียกร้องสิทธิที่จะได้รับเงิน 5,000 บาทที่กระทรวงการคลัง คนจำนวนมากมายออกมาเบียดเสียดยัดเยียดรับแจกอาหาร รับเงิน และมีคนที่ทุกข์หนักจนถึงขนาดฆ่าตัวตาย
ศูนย์ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 พรรคเพื่อไทย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผ่อนคลายมาตรการโดยใช้หลักการของ WHO และหลักการทางการแพทย์เป็นลำดับขั้น และขอเสนอแนวทาง “เข้มสุขภาพ คลายเศรษฐกิจ” ดังนี้
1. การปิดสนามบินป้องกันการนำเข้าเชื้อไวรัสโควิด-19 จากต่างประเทศอาจต้องทำต่อไป แต่ต้องเร่งนำคนไทยที่ติดอยู่ในต่างประเทศกลับมาสู่เมืองไทยโดยมีมาตรการกักกันอย่างเข้มงวด
2. การเดินทางระหว่างจังหวัดยังต้องคงความเข้มงวดในการคัดกรอง และกักกันผู้เดินทางมาจากจังหวัดหรือสถานที่ที่มีการระบาดของโรคอยู่
3. เร่งตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อ และภูมิคุ้มกันของประชาชนในประเทศให้มากขึ้นอย่างทั่วถึง
4. เร่งทบทวนและเสริมความรู้ให้ประชาชนทุกคนในการดูแลป้องกันตนเอง ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐทั้งฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น และ อสม. ที่จะดูแลป้องกันชุมชนแต่ละชุมชน
5. เร่งเสริมความพร้อมของหน่วยงานสาธารณสุข โรงพยาบาล ในเรื่องสถานที่ ห้องตรวจ ห้องคนไข้ ห้องไอซียู อุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์การป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ ยาต้านโควิด-19 ตลอดจนหน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อให้เพียงพอ
6. เตรียมความพร้อมของสถานประกอบการธุรกิจต่างๆ โรงเรียน บ้านพักคนชรา สถานที่สาธารณะต่างๆ ที่จะต้องมีการคัดกรอง มีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ มีที่ให้ล้างมืออย่างพอเพียง การจัดสถานที่ไม่ให้คนแออัด เพื่อให้มี Physical Distancing
7. จัดลำดับความสำคัญของกิจการต่างๆ ทั้งกิจการสาธารณะ สถานประกอบการ และธุรกิจต่างๆ ที่จะเปิดตามลำดับในแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชน
8. กำหนดมาตรการที่จะผ่อนคลายทั้งประเทศโดยรวม และมาตรการที่จะผ่อนคลายในแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ ตามสถานการณ์ของศักยภาพในการควบคุมโรค และสภาพเศรษฐกิจ