“ดร.เผ่าภูมิ” เตือนรัฐบาล อย่าต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเกินความจำเป็น ชี้ เศรษฐกิจยุคโควิด เปรียบ “ตกเหว 3 ระยะ” ยิ่งปิดเมืองนานก้นเหวก็ยิ่งลึก

25 เมษายน 2563  ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป เนื่องจากการปิดเมืองเสมือนการผลักให้เศรษฐกิจตกเหว ซึ่งความลึกก้นเหวขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงของการปิดเมือง อาจสามารถแบ่งการตกเหวและแนวทางการรับมือ แบ่งเป็น 3 ระยะ  

ระยะที่ 1 : “ตกเหว” หรือระยะปัจจุบัน เป็นภาวะที่ธุรกิจเล็กใหญ่ รวมถึงแรงงานได้รับแรงกระแทก จากการหยุดผลิต หยุดจ้างงานในวงกว้าง ในช่วงนี้เป็นปัญหาที่ด้าน “อุปทาน”  มาตรการในช่วงนี้ก็ต้องลดความเสียหายของภาคอุปทาน คือป้องกันการล้มตายของธุรกิจ การตกงานจำนวนมหาศาลของแรงงาน และการลามถึงระบบการเงิน เหมือนการส่งเชือกช่วยคนที่กำลังหล่นลงเหว เพื่อทำให้ธุรกิจล้มน้อยที่สุด คนตกงานน้อยที่สุด การกระตุ้นเศรษฐกิจกระตุ้นกำลังซื้อยังไม่ใช่ในระยะนี้ และยังไม่ใช่เวลาของ “ภาคอุปสงค์” แต่ต้องเป็นการรองรับ “ภาคอุปทาน” ให้อยู่รอดและประชาชนไม่อดตาย

ระยะที่ 2 : “ก้นเหว” หรือจุดต่ำสุด ตราบใดที่ยังปิดเมืองอยู่ ก็ยังไม่ถึงก้นเหว “ยิ่งปิดนาน ก้นเหวยิ่งลึก” ธุรกิจและแรงงานในธุรกิจ ก็จะหล่นจากที่สูงแรงขึ้น ก็จะตายเกลื่อนมากขึ้น และการฟื้นตัวจะยิ่งยากเป็นทวีคูณ ตรงนี้คือหัวใจ ในปัจจุบันมาตรการเข้มงวดทางสาธารณสุข น่าจะเข้ามาแทนที่มาตรการเข้มงวดทางเศรษฐกิจได้แล้ว ทั้งนี้ลักษณะของการฟื้นตัว จะขึ้นอยู่กับว่าก้นเหวมันลึกขนาดไหน เราปิดเมืองนานขนาดไหน และสภาพที่ก้นเหวล้มตายกันมากขนาดไหน หากก้นเหวไม่ลึก การฟื้นตัวจะเร็ว เป็นการฟื้นแบบตัว V แต่หากเหวลึก มาตรการต่างๆ รองรับไม่ไหว จะฟื้นแบบตัว U ซึ่งใช้เวลานาน หรือถ้าธุรกิจตายเกลื่อน ลามถึงระบบการเงิน ก็จะแย่และอาจไม่ฟื้นขึ้นมาอีกเลย หรือเป็นแบบตัว L

ระยะที่ 3 : “ปีนขึ้นจากเหว” หรือระยะฟื้นตัว ระยะนี้ “ภาคอุปสงค์” จะกลับมาเป็นหัวหอกในการฟื้นตัว เรื่องของกำลังซื้อ จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วงนี้ มาตรการต่างๆ จะต้องเป็นในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อ ให้คนมาจับจ่ายใช้สอยและท่องเที่ยว ให้คนกลับมาทำมาหากิน ภาคธุรกิจจึงจะมีอุปสงค์มารองรับอุปทานที่เริ่มฟื้นตัว แต่รัฐบาลต้องระลึกเสมอว่าการกระตุ้นภาคอุปสงค์จะไร้ค่า หากภาคอุปทานตายกันหมด ในระยะที่ 1-2
 
ดังนั้น จะเห็นว่า หัวใจอยู่ที่ “ความลึกของเหว” และมาตรการที่รองรับระหว่างการตกเหว หากเหวลึกมาก ปิดเมืองนาน มาตรการต่างๆ ไม่มีทางรับไหว ซึ่งตรงนี้อันตราย จึงอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่า อย่าทำก้นเหวให้ลึกเกินไปด้วยการแช่แข็งประเทศไปเรื่อยๆ เกินความจำเป็น