จิรายุ เรียกร้อง รัฐบาลเร่งชี้แจง ปมปัญหา “กองทุนประกันสังคม” จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนล่าช้า

30 เมษายน 2563 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการรัฐวิสาหกิจองค์การมหาชนและกองทุน กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนถึงความล่าช้าและมีเงื่อนไขยุ่งยากในการรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคม ซึ่งผู้ประกันตนที่ถูกหักเงินของตัวเองฝากเข้าสมทบกับกองทุนทุกเดือน กลับมีคนจำนวนมากไม่เคยใช้เงินกองทุนแม้แต่บาทเดียว มีความไม่มั่นใจและสงสัยว่าสำนักงานกองทุนประกันสังคมได้นำเงินของกองทุนไปใช้อย่างไร โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งผู้ประกันตนจำนวนมากได้รับผลกระทบ กลับยุ่งยากซับซ้อนและล่าช้า ทั้งๆที่มีข้อมูลผู้ประกันอยู่แล้ว

จากการตรวจสอบการใช้เงินและพิจารณาสถานะของกองทุนต่างๆ เบื้องต้น พบว่าเดือนมีนาคม 2563 มีผู้อยู่ในระบบกองทุนประกันสังคมประมาณ 1.2 ล้านคน และมีเงินกองทุนอยู่ถึงกว่า 2.1 ล้านล้านบาท โดยพบว่ามีการนำเงินไปลงทุนในรูปแบบต่างๆจำนวนมาก อาทิ เอาเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมากถึง 1.5 ล้านล้านบาท มีลักษณะคล้าย “อัฐยายซื้อขนมยาย” ถึงร้อยละ 68 นำไปซื้อหุ้นกู้เอกชนประมาณ 1 แสนล้านบาท นำไปลงทุนในตราสารในประเทศกว่า 2 แสนล้านบาท ไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และตลาดทองคำประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือสำนักงานประกันสังคมนำไปฝากธนาคารและลงทุนในตราสารทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งพันธบัตรของรัฐวิสาหกิจที่มีความเสี่ยงสูงประมาณแสนกว่าล้านบาท

จึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังผู้บริหารสำนักงานกองทุนประกันสังคมว่าเหตุใดจึงเกิดความล่าช้า ทั้งๆที่ตัวเลขผู้ประกันตนมีอยู่ประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งหากให้ความช่วยเหลือเพียงคนละ 7,000 บาท ก็จะใช้เงินเพียง 8,000 กว่าล้านบาท รัฐบาลจ่าย 3 เดือนก็ใช้เงินประมาณ 24,000 ล้านบาท แค่ 2% ของเงินกองทุนทั้งหมดด้วยซ้ำ ซึ่งกองทุนประกันสังคมไม่น่าจะล่าช้าและมีขั้นตอนซับซ้อนเหมือนกรณีเงิน 5,000 บาท รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขและอธิบายให้ชัดเจนว่าที่ล่าช้าเป็นเพราะเหตุใด ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องง่าย หรือเป็นเพราะนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และลงทุนอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งหลังจากที่กองทุนชี้แจงเป็นเอกสารแล้ว จะนำเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาดำเนินการทันที