โฆษกพรรคเพื่อไทย ชี้ เงินกู้ 1.9 ล้านล้าน ต้องไม่เป็นการตีเช็คเปล่า

5 พฤษภาคม 2563 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงปัญหาการเยียวยาประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในสถานการณ์นี้ 3 ด้าน คือ 1. ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ควบคู่ไปกับการเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มให้ทันสถานการณ์ ,  2. พ.ร.ก. 3 ฉบับให้อำนาจกระทรวงการคลัง-ธปท. กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท จะต้องไม่เป็นการตีเช็คเปล่า ต้องตกถึงมือประชาชนและเกิดประโยชน์สูงสุด ลดความเสียหายทางธุรกิจ ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายจากโควิด-19 และ 3. ลงทุนเพื่อธุรกิจสำหรับอนาคตรองรับ New Normal 

การที่ประชาชนแห่ไปกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อขอให้กระทรวงการคลังทบทวนสิทธิเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นการประจานตัวรัฐบาลเองว่า ล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพในการเยียวยาประชาชน ถึงวันนี้รัฐบาลมีคำตอบหรือยังว่าจะเยียวยาประชาชนที่เข้าไม่ถึงการเยียวยาได้อย่างไร รวมถึงกรณีเปิดให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนรับเงินเยียวยา เกิดคำถามว่ารัฐบาลมีข้อมูลทะเบียนเกษตรกรอยู่แล้ว ทำไมต้องมาลงทะเบียนให้ยุ่งยากเพิ่มขึ้นอีก ตอนคัดกรองเยียวยา 5,000 บาท มีการระบุสาเหตุของการไม่ได้รับการเยียวยาว่าเป็นเกษตรกร แต่พอเกษตรกรจะมารับการเยียวยากลับให้ไปลงทะเบียนใหม่เพิ่มขั้นตอนให้ยุ่งยากวุ่นวายทำไม จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงเรื่อยๆ ถ้าการเยียวยามีประสิทธิภาพ จะสามารถลดจำนวนคนฆ่าตัวตายรายวันได้

ส่วนกรณีผลตรวจเชิงรุกที่ยะลา 40 คน เป็นบวกลวง หลังตรวจยืนยันกับแล็บที่สงขลา ผลที่แท้เป็นลบนั้นการอ้างเป็นความผิดพลาดจากการติดตั้งเครื่องมือในพื้นที่ อาจมีการปนเปื้อน ทำให้รายงานคลาดเคลื่อนนั้น อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบคัดกรองของประเทศ เพราะกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้การรับรองห้องแล็บนี้แล้ว ศบค. ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบ ไม่ควรปล่อยให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ไปว่า ศบค. กลบเกลื่อนตกแต่งตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยหรือไม่ ในขณะที่มีกระแสข่าวชุดตรวจโควิด-19 ไม่ได้มาตรฐานจากบางประเทศ จนถูก อินเดีย-อังกฤษ แห่คืนของ แต่กลับพบสินค้ามาโผล่ในประเทศไทย ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีคำตอบให้กับประชาชน ทุกคนไม่อยากให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ชุดข้อมูลใดที่อาจกระทบความเชื่อมั่น ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องระมัดระวัง