พรรคเพื่อไทย เรียกร้อง รัฐบาลเร่งเยียวยาประชาชน 4 กลุ่ม อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ภายใน 10 พ.ค.นี้

7 พฤษภาคม 2563 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงมติที่ประชุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ต่อมาตรการเยียวยาของรัฐบาลที่ต้องใช้เงิน 600,000 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ว่า รัฐบาลกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องหยุดงาน หรือลดเวลาทำงานลง ทำให้ขาดรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ ต่อมารัฐบาลได้อนุมัติเงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการให้รวดเร็ว ทั่วถึงและทันเวลา แต่ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยได้รับการร้องเรียนอย่างต่อเนื่องจากประชาชนทั่วประเทศว่า ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิ และได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เพราะไม่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ซึ่งพรรคเพื่อไทยตระหนักถึงความทุกข์ดังกล่าว จึงได้เรียกร้องและเสนอแนะรัฐบาลมาเป็นลำดับ แต่การเยียวยาก็ยังไม่ทั่วถึงและทันเวลา พรรคเพื่อไทยจึงขอยืนยันจุดยืนในการใช้เงิน 600,000 ล้านบาท เพื่อเยียวยาประชาชน ดังนี้ 

1. กลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท / 3 เดือน ได้แก่ ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ นอกระบบประกันสังคม จากข้อมูลของกระทรวงการคลังพบว่าขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนผ่านเกณฑ์แล้ว 12.8 ล้านราย ซึ่งจะจ่ายให้ครบภายในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ก็ยังมีผู้มีสิทธิที่ตกหล่นยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ และออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมอีกเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากกลุ่มผู้เดือดร้อนที่ยังไปประท้วงขออุทธรณ์สิทธิที่กระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้รัฐบาลต้องดำเนินการชดเชยให้ครบถ้วนตามความเป็นจริงโดยด่วน และเชื่อว่ารัฐสามารถผ่อนปรนมาตรการและขยายความช่วยเหลือตามความเป็นจริงได้ถึง 20 ล้านคน 

 

2. กลุ่มเกษตรกร ประมาณ 7 ล้านครอบครัว ขณะนี้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาต่างๆ รอบด้าน เพราะการบริหารงานของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำได้ ทำให้หนี้สินเกษตรกรเพิ่มพูนเป็นลำดับ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกจากนี้ เกษตรกรยังประสบกับปัญหาภัยแล้งสลับกับน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ซึ่งการเยียวยาผู้ประสบภัยปีล่าสุดพบว่า รัฐบาลยังค้างจ่ายค่าเยียวยาภัยแล้ง-น้ำท่วม กับเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อมาประสบปัญหาวิกฤติไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติมจากปัญหาเดิมที่ค้างคาอยู่ จึงส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อนเป็นทวีคูณ พรรคเพื่อไทยจึงขอเรียกร้องให้ชดเชยเงินเกษตรกรเป็นเงิน 35,000 บาท/ครอบครัว 

3. กลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 11 ล้านคน ขณะนี้ยังไม่ได้รับการชดเชยอีกเป็นจำนวนมาก ตัวเลขล่าสุดพรรคเพื่อไทยตรวจสอบพบว่าล่วงเลยมาเดือนพฤษภาคมแล้ว ยังมีผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยมากกว่า 6 ล้านคน ซึ่งพรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้ชดเชยผู้ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ให้ครบถ้วนโดยด่วนที่สุด

4. กลุ่มเปราะบางทางสังคม ได้แก่ คนไร้สัญชาติ ผู้พิการ คนไร้ที่พึ่ง และผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ยังตกสำรวจและไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปดูแล คนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่มากและยังต้องพึ่งพาตนเอง ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสำรวจและดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบโดยด่วน อย่าปล่อยปละละเลยหรือทิ้งขว้าง เพราะทุกคนเป็นคนไทยเหมือนกัน

จากการคำนวณงบประมาณที่ต้องใช้ในการเยียวยาประชาชนทั้งหมดตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอ ยังไม่เกินกว่ากรอบเงินกู้ 600,000 ล้านบาท และสามารถเยียวยาให้กับผู้เดือดร้อนได้ทุกกลุ่มโดยถ้วนหน้า แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วนในขณะนี้ก็คือ ต้องรีบชดเชยให้กับผู้ที่ตกสำรวจ ผู้ขออุทธรณ์สิทธิ เกษตรกร รวมทั้งผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินชดเชยอีกหลายล้านคน เพราะเวลาล่วงเลยมามากแล้ว แม้รัฐบาลจะมั่นใจว่าจ่ายครบอย่างแน่นอน แต่ต้องอย่าลืมว่าการจ่ายเงินต้องรวดเร็วและทันเวลาด้วย เพราะทุกคนต้องใช้เงินก้อนนี้ในการดำรงชีพ  

“รัฐบาลต้องใช้มาตรการเชิงรุก ด้วยการใช้กลไกรัฐที่มีอยู่ทั่วประเทศ ลงไปดูแลทุกข์สุขของประชาชน เพื่อค้นหาตัวเลขผู้เดือดร้อนที่แท้จริงมารับการเยียวยา ก่อนที่จะมีปัญหามากกว่านี้ ที่ผ่านมารัฐบาลพูดถึงแต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงตัวเลขคนเดือดร้อนจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของตัวเอง ตั้งแต่การล็อกดาวน์โดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า หรือแม้กระทั่งการแจกเงินเยียวยาที่ไม่เท่าทันความเดือดร้อน จนเป็นที่มาของข่าวโศกนาฏกรรมรายวัน สังคมไทยรู้สึกเสียใจต่อท่าทีของนายกรัฐมนตรีที่เมินเฉยต่อปัญหาการฆ่าตัวตายรายวัน ซึ่งทำราวกับว่าเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับคนในยุคนี้ ทั้งที่สาเหตุมาจากการเยียวยาที่ผิดพลาดและล่าช้า พรรคเพื่อไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เดือดร้อนทั้งหมดที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยจะต้องได้รับสิทธิของตนเองภายในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้เป็นอย่างช้า”