เพื่อไทย ประเมินสถานะประเทศไทย ครบรอบ 2 ปี คสช
ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
(คสช.)
ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศไปจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่
22 พฤษภาคม 2557 โดยใช้ข้ออ้างการยึดอำนาจดังกล่าวว่า
กระทำไปเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง สร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม
และสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและเหมาะสมกับประเทศไทย
โดยได้ให้สัญญาว่าจะปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ
และจะเร่งคืนประชาธิปไตยแก่สังคมไทยในไม่ช้า
และยังได้ย้ำกับประชาชนในหลายโอกาสและหลายช่องทางว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”
ณ บัดนี้ ครบรอบ 2
ปีของการบริหารประเทศโดย คสช. สิ่งที่เคยใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจ
และที่ได้เคยสัญญาไว้กับพี่น้องประชาชน กลับไม่ได้รับการปฏิบัติ
ที่สำคัญสถานการณ์ด้านต่างๆ ของประเทศกลับตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
นับวันยิ่งถูกต่อต้านจากนานาอารยประเทศ และการออกมาแสดงความไม่พอใจจากประชาชน
นักธุรกิจ นักวิชาการ ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ในโอกาสครบรอบ 2
ปีดังกล่าว พรรคเพื่อไทยขอประเมินสถานการณ์ในด้านต่างๆ
ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพการณ์ของประเทศในปัจจุบัน
เพื่อให้ผู้มีอำนาจได้ตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศและเร่งดำเนินการแก้ไข
ดังนี้
1. ประชาธิปไตยล้มเหลว
รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ และการทำประชามติที่มัดมือประชาชน
รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด
และเป็นสัญญาประชาคมที่ประชาชนตกลงร่วมกันสร้างขึ้น
ต้องเปิดโอกาสอย่างเต็มที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม
เพื่อให้ได้ข้อสรุปอันเป็นเจตจำนงร่วมกันของประชาชน
แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะนำไปลงคะแนนประชามติ ผู้ร่างเป็นคนที่ คสช. แต่งตั้ง
และเนื้อหามิได้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย และความต้องการ อันแท้จริงของประชาชน
ตรงกันข้ามกลับให้เป็นไปตามความต้องการของ คสช.
โดยให้มีองค์กรที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.
ใช้อำนาจเช่นเดียวกับผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
เปิดโอกาสให้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากบุคคลที่มิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้
สร้างกลไกให้มีรัฐบาลที่อ่อนแอบริหารประเทศไม่ได้ ถูกกำกับและควบคุมโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ
การให้ คสช. มีอำนาจทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการต่อไปอีกเป็นเวลานาน
แม้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว เป็นต้น
แม้จะกำหนดให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
แต่ก็เป็นประชามติที่ขัดต่อหลักการสากล ไม่อาจจะอ้างความชอบธรรม
เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติได้
เพราะมีการออกกฎหมายจำกัดและปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ
การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเข้มงวด
ประชาชนถูกปิดโอกาสรับรู้ถึงข้อเสียและข้อด้อยของร่างรัฐธรรมนูญ
โดยกำหนดโทษจำคุกถึง 10 ปี และยังใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. และประกาศ คสช.
จำกัดการแสดงออกของประชาชนด้วย
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลสามารถใช้กลไกของรัฐทุกรูปแบบให้ประชาชนเห็นแต่สิ่งที่ดีของร่างรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ประชาชนไม่มีทางเลือก และไม่ทราบล่วงหน้าได้เลยว่า
หากประชามติไม่ผ่านแล้ว สิ่งที่ตามมาจะเป็นอย่างไร จึงเป็นประชามติที่มัดมือประชาชน
2.
การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ทวีความรุนแรง จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศ
อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ในช่วงหนึ่งปีแรกหลังการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับ
2550 สิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนถูกจำกัดและละเมิดอย่างรุนแรง
จากการออกประกาศ คำสั่ง และการใช้อำนาจของ คสช. และหัวหน้า คสช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มาตรา
44 ของ คสช.ที่รับรองให้การละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ไม่ว่าจะรุนแรงเพียงใด
ย่อมถือว่าชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีการใช้มาตรการอื่นๆ
ไปละเมิดและจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน
สื่อมวลชนและนักการเมืองอย่างกว้างขวางและหลายรูปแบบ ทั้งๆ ที่การใช้สิทธิ
เสรีภาพส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นปัญหาต่อความมั่นคงของประเทศแต่อย่างใด
สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงปีที่สองยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น
มีการใช้อำนาจแบบเลือกปฏิบัติอย่างเด่นชัดเพื่อความมั่นคงของรัฐบาลและ คสช.
นักวิชาการ องค์กรภาคประชาชน ประชาชน นักการเมือง
แม้กระทั่งพระภิกษุถูกห้ามแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ถูกข่มขู่ จับกุม ดำเนินคดี
รวมทั้งนำตัวบุคคลไปควบคุม
ที่เรียกว่าปรับทัศนคติซึ่งที่แท้คือการนำตัวไปขู่ให้กลัว ควบคุมตัวผู้ที่เห็นต่างกับ
คสช. เพื่อจะไม่มีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์ คสช.นั่นเอง
คสช. ยังได้ออกคำสั่ง
ฉบับที่ 13/2559
ที่ถูกมองว่าเป็นการเปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางและขัดต่อระบบกระบวนการยุติธรรมตามปกติ
เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจตรวจค้น จับกุม ยึดทรัพย์ ระงับธุรกรรมทางการเงินและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดได้ถึง
7 วัน โดยไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายใดๆ คำสั่งของ คสช.
ฉบับนี้ทำให้ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา
และสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย
ต่างแถลงแสดงความกังวลหรือไม่เห็นด้วยกับการให้อำนาจทหารเช่นนี้
การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในยุคของ
คสช. ถือได้ว่ารุนแรงกว่ายุคเผด็จการใดๆ หลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516
เป็นต้นมา เป็นเหตุให้หลายประเทศและข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยึดถือและปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยได้ร่วมลงมติเห็นชอบ
และให้สัตยาบันไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2491
3. สังคมขาดความปรองดอง
มีความแตกแยกอย่างรุนแรง และการปฏิรูปที่เป็นเพียงข้ออ้าง
“เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี เช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา
ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ
เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทั่วทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ…จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ” คำกล่าวนี้ปรากฏอยู่ใน ประกาศ คสช.ฉบับที่ 1/2557 ซึ่งเป็น “ข้ออ้างในการยึดอำนาจ” และเป็นสิ่งที่ คสช.
สัญญาว่าจะดำเนินการให้สำเร็จ
จากวันนั้นถึงวันนี้
เป็นเวลา 2 ปีเต็ม สิ่งต่างๆ ที่ได้เคยสัญญาและใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจนั้น
กลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในทุกมิติ
ในด้านการสร้างความปรองดองนั้น
การดำเนินการของ คสช.ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมานั้น
ได้แสดงให้สังคมประจักษ์อย่างชัดแจ้งว่า
มิได้มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด
ซ้ำจะทำให้ความขัดแย้งที่มีอยู่เดิมทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และ คสช. กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนเสียเอง
มีการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม
การเร่งรัดคดีโครงการรับจำนำข้าวอย่างโจ่งแจ้ง
การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตามอำเภอใจ นักการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน
นักศึกษาและประชาชน ที่เห็นต่างหลายร้อยคนถูกจับกุมตัวเพื่อ “ปรับทัศนคติ” มีผู้ถูกดำเนินคดีโดยศาลทหารมากกว่า
1,500 คน เว็บไซท์ที่เห็นต่างถูกปิดลงมากกว่า 200 เว็บไซท์
สถานีโทรทัศน์และวิทยุถูกปิดลงอีกหลายแห่ง
นอกจากนั้นยังมีการให้ร้ายรัฐบาลที่ผ่านมาด้วยการโทษว่าปัญหาต่างๆ
ที่เกิดขึ้นมาจากรัฐบาลก่อน แม้แต่เรื่องภัยแล้ง เป็นต้น
การกระทำทั้งหมดนี้จะไม่สามารถลดความขัดแย้ง
และไม่สามารถนำประเทศไปสู่ความรักสามัคคีมีความปรองดองได้เลย
ซ้ำจะยิ่งเป็นการสร้างความโกรธแค้น เป็นระเบิดที่รอวันประทุออกมาเท่านั้น
ในด้านการปฏิรูป
คสช.กำหนดให้มีการปฏิรูปในด้านต่างๆ แต่การปฏิรูปในด้านต่างๆ ในห้วงเวลา 2
ปีที่ผ่านมานั้นต้องถือว่าล้มเหลว ไร้ทิศทาง ไม่เปิดรับความเห็นต่าง
และขาดความเข้าใจในปัญหาของประเทศ เช่น
ด้านการเมือง
ประชาชนถูกข่มขู่ ขาดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น
สร้างรัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจและทำลายฝ่ายประชาธิปไตย
สร้างระบบการเลือกตั้งที่นำไปสู่รัฐบาลที่อ่อนแอ เปิดโอกาสให้มีนายกฯคนนอก ออก
พ.ร.บ. ประชามติเพื่อมัดมือชกประชาชนให้รับร่างรัฐธรรมนูญของตน เป็นต้น
ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
และการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ใช้อำนาจแบบตามอำเภอใจโดยอาศัยมาตรา 44
ที่ยิ่งใหญ่กว่าอำนาจขององค์กรใดในประเทศ
เพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่เรื่องการโยกย้ายข้าราชการ การงดเว้นใช้กฎหมายต่างๆ
แม้แต่เรื่องสิ่งแวดล้อม ใช้อำนาจรัฐประหารของ
คสช.ให้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแก่นายทหารตั้งแต่ยศร้อยตรีขึ้นไป
ด้านการปฏิรูปสื่อมวลชน
มีการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
โดยเฉพาะสื่อที่มีความเห็นต่างสถานีโทรทัศน์และวิทยุถูกปิดลงจำนวนมาก
ยังไม่รวมถึงการข่มขู่สื่อมวลชนอีกนับครั้งไม่ถ้วน เป็นต้น
ด้านสังคมและการรักษาความสงบเรียบร้อย
แม้ว่า คสช. จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่พบว่าปัญหาความรุนแรงในสังคมกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น
ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด การใช้ความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งปัญหา 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
ด้านการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น
การปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการอย่างยิ่ง
แต่พบว่ารัฐบาลได้ถูกข้อครหาเกี่ยวกับการทุจริตหลายครั้ง
แต่สุดท้ายก็ใช้กระบวนการตรวจสอบ ทำให้เรื่องต่างๆ เงียบหายไป ทั้งเรื่อง
กรณีการจัดซื้อไมโครโฟนภายในทำเนียบรัฐบาล กรณี อุทยานราชภักดิ์
แปรเปลี่ยนค่าหัวคิวเป็นค่าที่ปรึกษา การรับงานขุดลอกคูคลองขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
ซึ่งอื้อฉาวเป็นอย่างมาก ทำตัวเป็นเสือนอนกิน ขายงานให้เอกชน
การซื้อขายตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนผู้ที่ออกมาให้ข้อมูล
กลับถูกดำเนินคดีความจนกลายเป็นรัฐบาลที่แตะต้องตรวจสอบไม่ได้
4. นโยบายเศรษฐกิจผิดพลาด
เศรษฐกิจฝืดเคืองในทุกมิติ ประชาชนยากจนแร้นแค้น
เศรษฐกิจภาพรวม
นับตั้งแต่การรัฐประหาร การดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจประสบความล้มเหลวเพราะขาดวิสัยทัศน์
ความรู้ ความสามารถ การขาดความเข้าใจในระบบเศรษฐกิจ เศรษฐกิจชะลอตัว เติบโตต่ำสุดในภูมิภาค
การลงทุนชะลอตัว การบริโภคตกต่ำ งบประมาณที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สามารถสร้างการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้
ตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร
เศรษฐกิจไทยมีการเจริญเติบโตที่ต่ำมาโดยตลอด โดยในปี 2557 เศรษฐกิจขยายตัวเพียง
0.7% และในปี 2558 ขยายตัว 2.8%
จนมีการอ้างถึงคำว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเป็น “New
Normal” จะเติบโตต่ำอย่างนี้ต่อไป ซึ่งไม่เป็นความจริง
ประเทศไทยมีศักยภาพในการเติบโตได้สูงกว่านี้ เพียงแต่ต้องการรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์
เป็นประชาธิปไตย และสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้เท่านั้นเอง
นอกจากนี้การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับประเทศไทย
แต่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่โอกาสเหล่านั้นถูกทำลายลง เพราะการยึดอำนาจ
ซึ่งทำให้ประเทศไทยไม่พร้อมสำหรับการตักตวงโอกาสในครั้งนี้
เศรษฐกิจปากท้อง
เกษตรกรประสบปัญหาพืชผลเกษตรราคาตกต่ำ โดยเฉพาะชาวนาและชาวสวนยาง
อีกทั้งยังประสบภาวะภัยแล้งทำให้ไม่สามารถปลูกพืชผลการเกษตรได้
เกษตรกรต้องลำบากแร้นแค้น ผู้ใช้แรงงานมีรายได้ลดต่ำลง หลายคนถูกให้ออกจากงาน
ประสิทธิภาพการผลิตใช้อยู่เพียง 50-60% หลายโรงงานต้องปิดตัวลง
ทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นพ่อค้า แม่ค้า และผู้หาเช้ากินค่ำ
พลอยได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ เพราะประชาชนส่วนใหญ่รายได้ลดลง จึงจับจ่ายใช้สอยลดลง ธุรกิจ SME
ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากและเริ่มปิดตัวมากขึ้น
ธุรกิจขนาดใหญ่หลายธุรกิจเริ่มมีปัญหา เช่น ธนาคารพาณิชย์ เริ่มมีผลประกอบการลดลง
เพราะ NPL จากธุรกิจ SME เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีกที่เริ่มประสบปัญหา ที่แม้จะเพิ่มสาขา
แต่ยอดขายกลับไม่เพิ่มขึ้น
พรรคเพื่อไทยเห็นว่า
สภาพการณ์ด้านต่างๆ ของประเทศกำลังเสื่อมถอย จนอาจเข้าขั้นวิกฤตได้
เหตุผลหลักของความล้มเหลวดังกล่าวคือ
ความไม่เป็นประชาธิปไตยอันเป็นที่ยอมรับของสากล
การขาดศักยภาพในการแก้ไขปัญหาของประเทศ
การขาดความจริงใจและการมุ่งแต่รักษาอำนาจของตน
ความอคติและการความต้องการทำลายฝ่ายตรงข้าม การขาดวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ
เป็นต้น พรรคเพื่อไทยใคร่ขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจ
ในปัจจุบันได้ตระหนักถึงวิกฤตของประเทศครั้งนี้
โดยต้องเร่งแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชน แทนการเป็นคู่ขัดแย้ง
และต้องเร่งคืนประชาธิปไตยที่เป็นสากลให้แก่สังคมไทยโดยเร็ว
พรรคเพื่อไทย
26 พฤษภาคม 2559