หลักการและแนวทางการปรองดอง ของพรรคเพื่อไทย

1.  ปัจจัยที่จะทำให้การปรองดองเกิดความสำเร็จ

ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมล้วนต้องการเห็นสังคมวิวัฒน์ไปในทางสันติและมีความยั่งยืน
มีความเป็นธรรม เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ยอมรับในสิทธิเสรีภาพพื้นฐานที่เป็นสากลของบุคคล
ขณะเดียวกันในทุกสังคมก็มีความขัดแย้งที่เกิดจากปัญหาเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ผิว
วัฒนธรรม ความเชื่อ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ

ในสังคมที่ยึดหลักที่ถูกต้องและปฏิบัติตามหลักนั้น สังคมก็จะวิวัฒน์ไปได้อย่างสันติท่ามกลางความแตกต่างและขัดแย้งซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์
แต่หากสังคมใดไม่เป็นเช่นนั้น ก็จะเกิดความรุนแรง ความเกลียดชัง การใช้อารมณ์
การใส่ร้ายป้ายสี ความอยุติธรรม ฯลฯ จนทำให้เกิดความสั่นคลอนทั้งในระดับจิตใจและการดำรงชีวิตตามปกติของผู้คน

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยเกิดความสั่นคลอนอย่างมาก
การไม่ยอมรับในวิถีทางประชาธิปไตยก็ดี การแบ่งแยกออกเป็นสีต่างๆ ก็ดี
การไม่ยอมรับในการอำนวยความยุติธรรมขององค์กรที่เกี่ยวข้องโดยประชาชนบางกลุ่มก็ดี
ฯลฯ จนเป็นเหตุให้มีการยึดอำนาจถึง 2 ครั้งในช่วง 7 ปี และมีประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลบาดเจ็บล้มตายจำนวนไม่น้อยนั้น
เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ
พ.ศ. 2475 และผู้คนยังคงมีความหวาดหวั่นต่อไปว่า
แม้จะมีการเลือกตั้งแล้ว ความขัดแย้งและความรุนแรงที่ดูเหมือนจะซ่อนตัวอยู่ชั่วคราว
จะปรากฏขึ้นมาอีก

ดังนั้น สังคมไทยจึงต้องการความปรองดองเป็นที่สุด
เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักแห่งความแตกแยกขัดแย้งในครั้งนี้ให้สำเร็จ และต้องดำเนินไปเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ
ไม่ใช่เพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนนั้น
ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยคือ

ประการแรก ความจริงใจในการดำเนินการเรื่องนี้ของรัฐบาลและ
คสช. เป็นหลัก ตามมาด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ประการที่สอง ความเข้าใจและการมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องต่อความหมายและกระบวนการในการปรองดอง
โดยผู้รับผิดชอบควรมีความเป็นกลาง มีความเป็นอิสระ
โดยไม่ตกอยู่ภายใต้การชี้นำและสั่งการของฝ่ายใด

ประการสุดท้าย การปราศจากอคติของบุคคลที่ใช้อำนาจรัฐทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล คสช. 
องค์กรนิติบัญญัติ ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐทั้งหลาย
เพราะหากเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอคติ ไม่มีความเป็นกลางในการแก้ไขปัญหาแล้ว
ความปรองดองจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย เพราะผู้คนขาดความไว้วางใจในกลไกของรัฐ

2.  การปรองดองและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ต้องอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคมเช่นไร

ชาติต่างๆ ในสังคมโลกเกือบทั้งหมดรวมทั้งชาติไทยยอมรับหลักการที่ว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย”
แม้แต่คณะรัฐประหารทุกคณะตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง
เมื่อล้มระบอบประชาธิปไตย ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง และบัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่
ไม่มีการเลือกตั้ง มีแต่สภาแต่งตั้งและรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร
ก็ยังคงหลักการที่ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ไว้ ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า เมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน การจะใช้อำนาจจึงต้องมาจากประชาชน
ถ้าทุกฝ่ายยอมรับในหลักการนี้และปฏิบัติตาม
การเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลหนึ่งไปอีกรัฐบาลหนึ่งจะเป็นไปอย่างสันติ แต่หากมีปัญหาที่ว่า
รัฐบาลหรือรัฐสภาหรือองค์ใดก็ตามที่ใช้อำนาจของประชาชน ไม่ได้ใช้อำนาจนั้น “เพื่อประชาชน” จะมีวิธีการและกระบวนการเช่นใดจัดการกับปัญหาดังกล่าว
เพื่อให้สังคมยังเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงและสันติ

คำตอบที่เป็นสากลก็คือ

1)  องค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องยึดหลักนิติธรรม” เป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่
(รัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา3)  มีผู้รู้ทางกฎหมายทั้งในต่างประเทศและในประเทศจำนวนมาก
หรือแม้แต่สหประชาชาติได้ให้ความหมายของหลัก “นิติธรรม”ไว้ ซึ่งสรุปได้ใน 2 ด้านใหญ่ๆ คือ

ด้านภววิสัย หลักนิติธรรมในสังคมปัจจุบันจะดำรงอยู่ได้ในบริบทประชาธิปไตย
เพราะกฎหมายต้องมาจากประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย ด้านอัตวิสัย หลักนิติธรรมหมายถึงหลักที่ยอมรับและปกป้องศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
หลักสิทธิมนุษยชน การรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพพื้นฐานและความเสมอภาคของบุคคล
กฎหมายจะต้องไม่ลงโทษหรือส่งผลกระทบในทางลบย้อนหลังต่อบุคคล
เจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจรัฐทุกองค์กรต้องบังคับใช้กฎหมายตามขอบเขตอำนาจและปราศจากอคติ
ทั้งต้องถูกตรวจสอบได้โดยศาลซึ่งเป็นอิสระและปราศจากอคติ
ขณะเดียวกันประชาชนทุกคนก็ต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย

ดังนั้น ถ้าทุกฝ่ายยึด หลักนิติธรรม”
ในการจัดการกับรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เห็นว่าไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อประชาชน
มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริต ฯลฯ โอกาสจะแตกแยกขัดแย้งอย่างที่เกิดขึ้นก็เป็นไปไม่ได้
และแม้เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้ หากกลับไปยึด “หลักนิติธรรม” โดยเคร่งครัด ความปรองดองก็จะเกิดขึ้นโดยไม่ยาก

2)  นอกจากการที่ทุกฝ่ายจะต้องยึด “หลักนิติธรรม”
โดยเคร่งครัด
เพราะเป็นหลักที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมแล้ว
อีกสิ่งหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้ก็คือ “การให้อภัย”
ซึ่งต้องเป็นไปในสองแนวทางคือ

หนึ่ง ผู้ที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้ง
ต้องเลิกคิดและหาประโยชน์จากความขัดแย้ง ต้องไม่ย่ำยีผู้ที่เป็นเหยื่อของความขัดแย้งอีกต่อไป
ขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือเหยื่อของความขัดแย้งก็ต้องปรับจิตใจตนเอง โดยยอมรับการให้อภัยต่อผู้ที่กระทำต่อตน

ไม่คิดแก้แค้นหรือตอบโต้ใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมที่ต้องการให้เกิดความสมานฉันท์

สองผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ต้องยอมรับในกระบวนการยุติธรรมที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์
นั่นคือการนำการให้อภัยไปสู่การปฏิบัติต่อไป

3.  สาเหตุของความขัดแย้ง

ต้องค้นหาสาเหตุของความขัดแย้งเพื่อการยอมรับและนำไปสู่การแก้ปัญหาไม่ใช่เพื่อการประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
และในเบื้องต้นต้องยอมรับว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากบางพวกบางกลุ่ม
แต่แทบทุกฝ่ายล้วนเข้าไปมีส่วนไม่มากก็น้อย จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องรับฟัง
ยอมรับในความผิดพลาดและให้อภัยซึ่งกันและกัน ลบความคิดแบบอคติออกไปให้หมด

การค้นหาสาเหตุควรเริ่มจากรายงาน
หรือผลการศึกษาที่องค์กรต่างๆ จัดทำขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
(ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์
สุวรรณโณ มาตรา 298) และศึกษาเพิ่มเติม ถ้ายังมีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง

4.  การกำหนดคู่ขัดแย้ง

ประเด็นนี้มีความสำคัญมาก เพราะต้องพิจารณาทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค
กล่าวคือ

1) 
ถ้าพิจารณาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
จะพบความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 
นั่นคือ ระหว่างชนชั้นนำทางเศรษฐกิจจำนวนไม่กี่กลุ่มหรือตระกูลที่ครอบงำระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศ
และชนชั้นล่างจำนวนมหาศาล
ที่สิ้นหวังและต้องการความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพโดยเร่งด่วน

2) 
ถ้าพิจารณาจากประเด็นอำนาจ จะมีผู้เกี่ยวข้องอย่างน้อย
4 ฝ่ายคือ หนึ่งชนชั้นนำทางเศรษฐกิจจำนวนน้อยมากที่ได้ประโยชน์และใช้อำนาจแฝงผ่านทางพรรคการเมือง
กองทัพ และระบบราชการ สองกองทัพและระบบราชการที่ต้องการมีอำนาจเพื่อประโยชน์ของตัวเอง
แม้จะไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม สามพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ต้องการได้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง
ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีการซื้อเสียง มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีการทุจริตคอรัปชั่น สี่ ประชาชนที่ต้องการใช้อำนาจของตนผ่านการเลือกตั้ง
ประชามติ เสนอร่างกฎหมาย เสนอเรื่องถอดถอนและการมีส่วนร่วมอื่นๆ

3) 
ถ้าพิจารณาอย่างแคบเพื่อโทษบางกลุ่มบางพวก ก็จะมุ่งไปที่
หนึ่งสองพรรคการเมืองใหญ่ สอง กลุ่มอิทธิพลใหญ่คือ
กลุ่มเสื้อเหลืองกับกลุ่ม กปปส และกลุ่มคนเสื้อแดง ดังนั้นจึงต้องไม่พิจารณาแบบอัตวิสัยเพื่อโทษบางคนบางกลุ่ม
เพราะจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ต้องพิจารณาทั้งภววิสัยและอัตวิสัยประกอบกัน แม้แต่ศาลและองค์กรอิสระเพราะในการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมาในหลายกรณี
ถูกกล่าวหาว่ายิ่งขยายความขัดแย้งเพราะไม่ยึดในหลักนิติธรรม แม้แต่การรัฐประหารก็เช่นเดียวกัน

5.  กระบวนการในการสร้างความปรองดอง

ควรพิจารณาเป็นขั้นตอนดังนี้

1)  การพิจารณาและยอมรับในสาเหตุร่วมกัน

2)  การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม

(1)  การสถาปนาหลักนิติธรรมที่แท้จริงขึ้นในกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใดที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักดังกล่าว
ตลอดจนการบังคับใช้หลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ

(2)  การนำเอากระบวนการยุติธรรมเพื่อการสมานฉันท์มาใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

(3)  การชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ

(4)  การเยียวยาผู้ได้รับความอยุติธรรมด้วยหลักนิติธรรม

(5)  การรณรงค์ให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายถูกกระทำด้วยความอยุติธรรมให้อภัยผู้กระทำ
ไม่มีการแก้แค้น

(6)  กำหนดแผนและขั้นตอน
(โรดแมป) ร่วมกันในการดำเนินการตามข้อ (1) – (5)

3)  การหามาตรการเสริม
“หลักนิติธรรม” เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต
เช่น
การตรวจสอบและปฏิรูปศาลและองค์กรอิสระเพื่อให้ผู้พิพากษาและกรรมการองค์กรอิสระมีความเป็นกลางอย่างแท้จริง
คือไม่มีอคติในการปฏิบัติหน้าที่ การส่งเสริมและควบคุมให้สื่อต่างๆ ทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง
ไม่ยุยงหรือสร้างความเกลียดชัง แม้แต่กองทัพและระบบราชการก็ต้องทำหน้าที่ของตนตาม
“หลักนิติธรรม” ไม่ใช้การรัฐประหารเพื่อแก้ไขปัญหา

เพราะจะทำให้ความขัดแย้งยิ่งขยายตัวและซ่อนเร้น จนยากจะกลับสู่ความสมานฉันท์ได้อย่างที่ควรจะเป็น

6.  ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อการดำเนินการเรื่องการปรองดองในช่วงที่ผ่านมา

1) 
เพื่อให้การดำเนินการได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากประชาชน
เมื่อได้รับฟังข้อมูลจนครบถ้วน ควรจัดตั้ง
คณะกรรมการอิสระ”ที่มาจากทุกภาคส่วนมาเป็นผู้ดำเนินการในกระบวนการปรองดอง
โดยไม่อยู่ภายใต้การสั่ง หรือครอบงำของฝ่ายใด

2) 
ต้องเปิดโอกาสให้นักวิชาการ สื่อมวลชน
องค์กรภาคประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง
ได้มีโอกาสร่วมเสนอความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้อย่างเสรี
ผ่านทางช่องทางต่างๆ
อย่าให้การรับฟังความคิดเห็น เป็นเพียงพิธีกรรมและเลือกปฏิบัติ

3) 
ผลสรุปของแนวทางการสร้างความปรองดอง
ต้องเป็นข้อตกลงร่วมกันบนพื้นฐานของการคำนึงถึงคุณค่า
และศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างเท่าเทียม ผูกพันกับหลักประชาธิปไตย
และหลักนิติธรรมที่เป็นสากล ไม่ใช่เกิดจากการบังคับด้วยอำนาจ

……………..