แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย เรื่อง ขอให้ทบทวนและแก้ไขเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ….

ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 โดยมีสาระสำคัญบางประการที่แตกต่างไปจากร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเดิม และหลักการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องอายุความ การให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีลับหลังจำเลยและการตรากฎหมายย้อนหลังที่เป็นโทษกับบุคคล

พรรคเพื่อไทยเห็นว่าภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อ 7 ซึ่งกำหนดว่า “ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด…” ข้อ 10 ที่กำหนดว่า “ทุกคนย่อมมีสิทธิในความเสมอภาคอย่างเต็มที่ในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผย…” รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดว่า “บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันในการพิจารณาของศาลและคณะตุลาการในการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งตนต้องหาว่ากระทำผิด…” ซึ่งประเทศไทยโดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับได้บัญญัติรับรองและผูกพันต่อพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าว รวมถึงคำประกาศของผู้นำประเทศคนปัจจุบัน และแม้แต่เนื้อหาของร่างสัญญาประชาคมก็ยังระบุไว้เช่นเดียวกัน 

พรรคเพื่อไทยมีความเห็นว่า  
1. การยกเว้นไม่นำหลักเรื่องอายุความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายสาระบัญญัติมาใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นการเฉพาะขัดต่อหลักที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้การที่กฎหมายที่มีการกำหนดอายุความในทางอาญาหรือแม้แต่ในทางแพ่งล้วนมีเจตนารมณ์ไม่ต้องการให้นำคดีมาว่ากล่าวกันเมื่อใดก็ได้ เช่นอีก 30 ปี หรือ 50 ปี ฯลฯ ข้างหน้าซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คู่ความหรือผู้เกี่ยวข้องในคดีจะสามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง เช่น พยานเอกสารอาจสูญหาย บุคคลอาจจะเสียชีวิตหรือไม่สามารถจำสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนานๆได้อย่างถูกต้อง อันจะกระทบการต่อการอำนวยความยุติธรรมอย่างร้ายแรง การบัญญัติกฎหมายในลักษณะดังกล่าวยังทำให้เกิดความลักลั่นในการบังคับใช้และเป็นการเลือกปฏิบัติ  

2. การกำหนดให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ โดยไม่ต้องมีตัวจำเลยมาศาลหรืออยู่ในอำนาจศาล ซึ่งแตกต่างไปจากการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป รวมถึงคดีที่อยู่ในอำนาจศาลคดีทุจริต  และประพฤติมิชอบซึ่งใช้บังคับกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐด้วยที่กำหนดว่าการพิจารณาและสืบพยานในศาลให้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย แต่ตามร่างกฎหมายนี้ กลับยกเลิกหลักการดังกล่าวโดยกำหนดให้ศาลรับฟ้องโดยไม่ต้องมีตัวจำเลยมาศาลและพิจารณาสืบพยานจนถึงการพิพากษาคดีไปได้ ทั้งที่หลักการพิจารณาและสืบพยานต้องกระทำต่อหน้าจำเลยนั้น เป็นหลักยุติธรรมสากล ที่มีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิของจำเลยอันเป็นสาระสำคัญของหลักนิติธรรมและหลักการพื้นฐานในกระบวนการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งหลักการดังกล่าวได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 วรรคสาม (d) อย่างชัดเจนว่า “ในการพิจารณาคดีอาญาบุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดย่อมมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังต่อไปนี้โดยเสมอภาค… (d) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาต่อหน้าบุคคลนั้น…” แต่ร่างกฎหมายนี้กลับยกเว้นหลักการดังกล่าว ทำให้การพิสูจน์ความจริงของศาลสามารถกระทำได้เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ต้องฟังความจากฝ่ายจำเลยแต่ประการใด การกำหนดเช่นนี้ยังขัดต่อหลักความเสมอภาคตามที่กล่าวไว้ในข้อ 1 อีกด้วย

3. การกำหนดให้ร่างกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับย้อนหลังทั้งๆ ที่ร่างเดิมของ กรธ. ไม่ได้กำหนด จึงเป็นการตรากฎหมายที่มีผลย้อนหลังเป็นโทษต่อบุคคล ซึ่งขัดกับหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน แม้จะอ้างว่าเป็นเรื่องของวิธีพิจารณาแต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะว่าเรื่องอายุความก็ดี การพิจารณาคดีที่ต้องทำต่อหน้าจำเลยก็ดี หากบัญญัติกฎหมายฉบับใหม่ย้อนหลังไปใช้บังคับอันมีลักษณะเป็นการจำกัดตัดสิทธิจำเลยเพื่อทำให้จำเลยเสียเปรียบในคดีอาญา ย่อมถือว่าเป็นการตรากฎหมายย้อนหลังเป็นโทษทั้งสิ้น 

พรรคเพื่อไทยตระหนักว่าการทุจริตและประพฤติมิชอบนั้นเป็นภัยอันร้ายแรงของชาติ และเห็นด้วยต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในทุกรูปแบบแต่จะต้องกระทำโดยยึดหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญและพันธะกรณีระหว่างประเทศโดยเคร่งครัดตามที่กล่าวมาข้างต้น เพราะมิเช่นนั้นจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาอย่างร้ายแรงและไม่เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ ซึ่งพรรคจะได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอไปยังองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อพิจารณาต่อไป ขณะเดียวกันก็จะทำหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย  
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน  
 
  พรรคเพื่อไทย
  18 กรกฎาคม 2560