แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย กรณีข้อมติของที่ประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศ กรณีความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป
แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย
กรณีข้อมติของที่ประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศ
กรณีความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป
จากกรณีที่ข้อมติของที่ประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศกรณีความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560 รวม 14 ข้อ (“ข้อมติ”) โดยระบุว่าจะติดต่อทางการเมืองกับประเทศไทยนั้น พรรคเพื่อไทยขอแถลงดังนี้
1. พรรคเพื่อไทยตระหนักถึงคุณค่าของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรปซึ่งมีมายาวนาน และท่าทีอันหนักแน่นของสหภาพยุโรปในการแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย รวมทั้งการคัดค้านต่อการรัฐประหารในปี 2557 อย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งประกาศการระงับการติดต่อในระดับสูงกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และเรียกร้องให้มีการนำกลับมาซึ่งประชาธิปไตยและฟื้นฟูสิทธิ เสรีภาพ และยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย ดังนั้น ท่าทีของสหภาพยุโรปตามข้อมติดังกล่าวซึ่งยังย้ำยืนยันท่าทีของสหภาพยุโรปข้างต้นอย่างหนักแน่นเช่นเดิม จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อประชาธิปไตยของไทยเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งท่าทีของสหภาพยุโรปที่จะไม่ลงนามกรอบข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ ซึ่งคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปฯ ยังคงมีท่าทีคงเดิมในเรื่องนี้ ตามที่ปรากฏในข้อ 11 ของข้อมติว่าการลงนามในกรอบข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ และการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศไทย จะสามารถดำเนินการได้กับรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยเห็นว่าประเทศไทยเสียโอกาสมามากแล้ว ถ้าสามารถทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปได้สำเร็จ จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนไทยและสินค้าจากประเทศไทยนับแสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม โอกาสความสำเร็จที่จะเกิดข้อตกลงดังกล่าวได้ตามเงื่อนไขและข้อเสนอของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป คือ การมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลปัจจุบันที่จะต้องดำเนินการและผลักดันให้เกิดสภาวะดังกล่าวโดยเร็ว
2. พรรคเพื่อไทยตระหนักในท่าทีที่สร้างสรรค์ของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปฯ ที่ได้เรียกร้องให้ประเทศไทยมีการคืนสู่กระบวนการทางด้านประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วนผ่านการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ รวมถึงการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ซึ่งไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศอื่นๆ
3. พรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตว่าคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปฯ ได้ทราบถึงการที่หัวหน้า คสช. ได้ระบุในวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ว่า การการเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 พรรคฯ เห็นว่าการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ สุจริตและเที่ยงธรรมจะทำให้ประเทศได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ และจะสร้างโอกาสทางด้านเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยและคนไทยอย่างมาก
4. พรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตว่า การที่สหภาพยุโรปจะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป (gradual political re-engagement) กับประเทศไทยตามที่ระบุในข้อ 7 ของข้อมติ รัฐบาลและผู้รับผิดชอบงานด้านต่างประเทศควรเข้าใจให้ถ่องแท้ถึงถ้อยคำนี้ เนื่องจากมีการเข้าใจไปในทำนองว่าสหภาพยุโรปจะฟื้นความสัมพันธ์หรือปรับความสัมพันธ์ด้านการเมือง ซึ่งอาจไม่ตรงทีเดียวกับความหมายของฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายความเพียงแค่ว่าจะติดต่อทางการเมืองกับไทย ดังนั้นไม่ควรมีการใช้ปฏิบัติการไอโอหรือข้อมูลข่าวสารจนเกินเหตุ
5. พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีได้ตระหนักถึงข้อ 12 ของข้อมติของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปฯ ซึ่งระบุไว้อีกครั้งว่า จะยังคงพิจารณาทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับการยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อ การยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง การจัดการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ การมีรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีเรื่องที่ต้องดำเนินการอีกหลายเรื่อง เพื่อให้ความสัมพันธ์กลับมาสู่ระดับที่ไม่ต้องถูกทบทวนหรือกลับมาสู่ปกติ แต่พรรคเห็นว่ารัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการในหลายๆ เรื่องที่เป็นข้อห่วงใยของคนไทยและประชาคมระหว่างประเทศ
พรรคเพื่อไทย ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ดำเนินการโดยเร่งด่วนและจริงจังเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ที่น่าเชื่อถือ บริสุทธิ์ ยุติธรรมตามวิถีทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อให้มีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อการเร่งสานความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปให้แน่นแฟ้นดังที่เคยเป็นมาในอดีต และจะสามารถเร่งเปิดการเจรจาและลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีและข้อตกลงอื่นๆ บนพื้นฐานของความเป็นธรรม และเพื่อประโยชน์ร่วมกันของสหภาพยุโรปและประทศไทยต่อไป.
พรรคเพื่อไทย
13 ธันวาคม 2560