คำแถลงพรรคเพื่อไทย เรื่อง ขอคัดค้านการเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
คำแถลงพรรคเพื่อไทย
เรื่อง ขอคัดค้านการเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ตามที่คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ…. ได้มีมติเสียงข้างมากแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 2 ของร่างกฎหมายดังกล่าว โดยให้กฎหมายมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้นัดประชุมเพื่อพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ ในวันที่ 25 มกราคม 2561 นั้น
พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การมีมติของคณะกรรมาธิการขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยมีวาระทางการเมืองแอบแฝง เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและทำเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มผู้มีอำนาจ เปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจและอยู่ในตำแหน่งต่อไป เป็นการกระทำที่ขาดความชอบธรรม และขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และขาดเหตุผลรองรับอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ
1. คสช. ได้ใช้กลไกและเทคนิคหรืออภินิหารทางกฎหมาย หลายครั้งที่ทำให้เข้าใจ ได้ว่าต้องการอยู่ในอำนาจให้ยาวนานที่สุด เริ่มตั้งแต่การที่ สปช. มีมติล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยคณะกรรมาธิการยกร่าง ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ทำให้นายบวรศักดิ์ ฯ ต้องออกมาพูดถึงเหตุผลของเรื่องดังกล่าวทำนองว่า เพราะเขาต้องการอยู่ยาว ต่อมาเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ได้วางกลไกในรัฐธรรมนูญให้ระยะเวลาของการเลือกตั้งยึดยาวออกไป เช่น การจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญของ กรธ. ก็ใช้เวลาถึง 240 วัน ไม่รวมระยะเวลาการพิจารณาของ สนช. และองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง ต่างกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้กำหนดให้จัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับจากวันที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ (ไม่ต้องรอให้รัฐธรรมนูญประกาศใช้) ขณะเดียวกัน คสช. ก็ใช้อำนาจในการออกประกาศ และคำสั่ง ห้ามพรรคการเมืองดำเนินการทางการเมืองตั้งแต่เมื่อมีการยึดอำนาจการปกครองเป็นต้นมา นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน 150 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับมีผลใช้บังคับแล้ว ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ขณะที่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน 90 วัน และดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. ภายใน 150 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ใช้บังคับ เมื่อพิจารณากรอบเวลาดำเนินการแล้วจะแตกต่างกันอย่างมาก นอกจากนี้ถ้า คสช. และ กรธ. เห็นว่าการเลือกตั้งมีความสำคัญก็ต้องจัดให้มีกฎหมายทั้ง 4 ฉบับก่อน แต่กลับได้รับการพิจารณาหลังสุด ทั้งที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ได้ให้ความสำคัญต่อกฎหมายทั้ง 4 ฉบับไว้เป็นลำดับต้นๆ
2. เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ประกาศใช้แล้ว ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้พรรคการเมืองที่มีอยู่ คงเป็นพรรคการเมืองต่อไป และรับรองสมาชิกพรรคให้เป็นสมาชิกพรรคต่อไป และได้กำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงานด้านธุรการของพรรคเพื่อเตรียมพร้อมในการเลือกตั้ง แต่ คสช. และ กกต. กลับตีความว่าประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองมีผลใช้บังคับอยู่ ทำให้พรรคการเมืองไม่อาจปฏิบัติตามกฎหมายได้ แทนที่ คสช. จะยกเลิกประกาศและคำสั่งดังกล่าว กลับออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ยกเลิกสมาชิกพรรคและสาขาพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมและกำหนดเงื่อนไขและกรอบเวลาดำเนินการของพรรคการเมืองเสียใหม่ ซึ่งมีแต่เกิดผลเสียต่อพรรคการเมืองเดิม ขณะเดียวกันกลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มการเมืองที่เตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของผู้นำ คสช. โดยมิได้ให้ความสำคัญว่า คำสั่งดังกล่าวจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร และกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรคและพรรคการเมืองอย่างไร
3. ระหว่างมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ของ สนช. คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กลับเสนอให้มีการเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 90 วัน โดยอ้างเรื่องเงื่อนไขและกรอบเวลาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 จะเป็นปัญหาต่อพรรคการเมือง ซึ่งพรรคเห็นว่ามติดังกล่าวขาดความชอบธรรมและเหตุผลรองรับ ดังนี้
3.1 เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ที่กำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับมีผลใช้บังคับแล้วนั้น ถือว่ามีความสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับเงื่อนเวลาดังกล่าว การที่ กมธ. กำหนดให้ขยายระยะเวลาการมีผลใช้บังคับของกฎหมายออกไป 90 วัน ถือเป็นการจงใจที่จะฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และมิใช่เป็นการใช้อภินิหารทางกฎหมายเท่านั้น แต่ถือเป็น “การโกงกฎหมาย” ทีเดียว
3.2 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ไม่มีข้อใดที่ กมธ. จะยกเป็นข้ออ้างเพื่อขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งออกไปได้ แต่ตรงกันข้ามเมื่อดูตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ข้อ 8 ที่กำหนดให้วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ใช้บังคับเป็นเงื่อนไขสำคัญของการยกเลิกประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งรวมถึงประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ด้วย ดังนั้น การเลื่อนระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งออกไป 90 วัน จะทำให้การปลดล็อคพรรคการเมืองเพื่อจัดประชุมใหญ่ เพื่อแก้ไขข้อบังคับ การเลือกกรรมการบริหาร และจัดตั้งสาขาพรรค รวมถึงการรับสมัครสมาชิกพรรคใหม่ต้องเลื่อนออกไปอีก 90 วัน ด้วย
3.3 การขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งออกไป 90 วัน จะส่งผลกระทบหลายด้านตามมา ประการแรก ทำให้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป พรรคการเมืองยังไม่สามารถดำเนินกิจการของพรรคการเมืองได้ และประชาชนก็ยังถูกห้ามชุมนุมทางการเมืองต่อไป ประการที่สอง พรรคการเมืองก็ยังไม่สามารถที่จะประชุมเพื่อแก้ไขข้อบังคับ เลือกกรรมการบริหาร และจัดตั้งสาขาพรรค รวมถึงดำเนินการอื่น เพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งได้ จนกว่าจะครบเวลา 90 วัน ที่ขยายออกไปและ คสช. ยกเลิกประกาศทั้ง 2 ฉบับแล้ว
3.4 การขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไป ทำให้ คสช. สนช. รวมถึง องค์กรในเครือข่ายของ คสช. ได้อยู่ในอำนาจต่อไป เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง และได้รับผลตอบแทนจากงบประมาณแผ่นดินในหลายตำแหน่ง เปิดโอกาสให้หัวหน้า คสช. ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใช้ทรัพยากรของรัฐในการหาเสียงล่วงหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ
4. การขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการตั้งพรรคเพื่อสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนนอกต่อไป เพราะนอกจากกลุ่มการเมืองนี้จะได้ประโยชน์จากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 โดยสามารถจัดประชุม จัดหาสมาชิก หรือผู้มีอุดมการณ์ร่วมกัน การเตรียมผู้สมัคร ซึ่งอาจรวมถึงการหาเสียงล่วงหน้าได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 แล้ว การขยายเวลาไปอีก 90 วัน ย่อมทำให้กลุ่มการเมืองนี้ มีเวลาเตรียมการสำหรับส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งถึงหนึ่งปีเต็ม ขณะที่พรรคการเมืองเดิมยังไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ จนกว่าจะมีการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และจะยกเลิกประกาศและคำสั่งดังกล่าวได้ ต่อเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้งแล้ว เมื่อมีการยืดเวลาบังคับใช้กฎหมายต่อไปเท่าใดก็จะมีผลกระทบต่อพรรคการเมืองเดิมมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
5. เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คสช. และแม่น้ำ 5 สาย พยายามทุกวิถีทางที่จะใช้อำนาจและกระบวนการทางกฎหมายที่พวกตนสร้างขึ้นทั้งหมด รวมทั้งอำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ในการออกคำสั่งที่มีผลกระทบต่อการจัดการเลือกตั้งและต่อพรรคการเมืองโดยตรงเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กับ คสช. และกลุ่มการเมืองที่สนับสนุน คสช. ขณะที่พรรคการเมืองเดิมไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองใดได้เลย ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นย่อมมิได้เป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรมตามหลักการสากลอย่างแน่นอน
6. การที่หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไว้ต่อประชาชนและนานาชาติและยืนยันคำประกาศดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง ว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 การเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งออกไปจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ทั้งในประเทศ และต่อนานาชาติอย่างมีนัยสำคัญ
พรรคเพื่อไทยจึงขอคัดค้าน และไม่เห็นด้วยต่อการเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน หรือจะกี่วันก็แล้วแต่ และขอเรียกร้องให้องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย หยุดทำร้ายประเทศด้วยกระบวนการโกงกฎหมายอีกต่อไป และเร่งคืนอำนาจให้กับประชาชนตามโรดแมปที่ประกาศไว้
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
พรรคเพื่อไทย
24 มกราคม 2561