แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย เรื่อง คสช.และรัฐบาล หมดความชอบธรรมที่จะเป็นรัฐบาลต่อไป
คำแถลงพรรคเพื่อไทย
เรื่อง
คสช.และรัฐบาล หมดความชอบธรรมที่จะเป็นรัฐบาลต่อไป
ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
(คสช.) ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557
และได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ แต่ คสช.
และรัฐบาลไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประเทศและประชาชนได้
แต่กลับสร้างปัญหาสำคัญที่จะเป็นวิกฤตของชาติในอนาคตต่อไป ซึ่งอาจสรุปได้ ดังนี้
1.ได้ใช้อำนาจของหัวหน้า
คสช. ออกประกาศและคำสั่ง จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน สื่อมวลชน และนักวิชาการ
แม้เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ยังคงคำสั่งและประกาศที่ละเมิดสิทธิ
เสรีภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดมา ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง
2.มีการแต่งตั้งคนของตนเอง
เพื่อทำหน้าที่ในองค์กรอิสระและองค์กรต่างๆ ซึ่งทำให้องค์กรต่างๆ
ขาดความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ และถูกชี้นำโดย คสช. และหัวหน้า คสช.ได้
3.ใช้กลไกที่ตนเองสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ
ไม่ว่าจะเป็นเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภามาเป็นฐานอำนาจแก่ตนเองในอนาคต, การเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง, การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ
20 ปี, การเขียน พ.ร.ป. พรรคการเมือง และใช้อำนาจตามมาตรา 44
เพื่อสร้างความอ่อนแอให้พรรคการเมืองเดิม
และสร้างความได้เปรียบแก่พรรคการเมืองใหม่
(ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นพรรคที่จะสนับสนุนให้ตนเองได้สืบทอดอำนาจต่อไป)
4.ไม่เคารพและยึดมั่นในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด
ด้วยการออกคำสั่งที่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของตน แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายพรรคการเมือง
นอกจากนั้น ล่าสุดผู้นำ คสช. (พลเอกประวิตร)
ได้ออกมาข่มขู่ผู้ที่จะออกมาเรียกร้องให้คืนสิทธิ เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย
โดยอ้างว่าขณะนี้ตนเป็นรัฎฐาธิปัตย์
ซึ่งเป็นถ้อยคำที่แสดงให้เห็นว่าไม่ยอมรับในการมีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในขณะนี้
5.ไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญของประเทศไทย
5.1ล้มเหลวในการสร้างความสามัคคีปรองดอง
เนื่องจาก คสช.ได้เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง
และกระบวนการสร้างความปรองดองผิดพลาด
นำแต่พวกพ้องและเครือข่ายของตนเข้ามาเป็นกรรมการ
ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและส่วนอื่นๆ
5.2ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้
ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำยังคงเป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง
ประชาชนยังขาดกำลังซื้อ แม้จะทุ่มเทงบประมาณไปนับแสนล้านบาท / ปัญหาสังคม
การค้ามนุษย์และยาเสพติด
รวมถึงปัญหาอาชญากรรมยังคงอยู่อย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น
5.3ไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้
ตั้งแต่เริ่มเข้ามาบริหารประเทศก็มีข่าวเกี่ยวข้องกับการทุจริตอย่างต่อเนื่อง
ในฟากฝั่งคนในรัฐบาล ทั้งเรื่องการซื้อไมค์ราคาแพงใช้ในห้องประชุม ครม., อุทยานราชภักดิ์, การจัดซื้อเรือดำน้ำ, ข่าวการทุจริตในโครงการ 9101, การทุจริตใน อผศ.,
การอนุญาตให้เอกชนใช้พื้นป่าโดยผิดกฎหมาย เป็นต้น เรื่องต่างๆ
ดังกล่าว รวมถึงมีกรณีแกนนำ คสช.บางส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่อง GT200 และ เรือเหาะ ก็ไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง
บางเรื่องก็ทำให้จบไปแบบง่ายๆ ล่าสุด
เรื่องการครอบครองนาฬิการาคาแพงของพลเอกประวิตร ฯ กว่า 25 เรือนที่พลเอกประยุทธ์ ฯ
ก็บอกปัดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว นอกจากนั้น ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกันคือ
ใช้อำนาจแทรกแซงการแต่งตั้งกรรมการในองค์กรอิสระบางองค์กร
แม้ว่าจะมีปัญหาขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม
โดยกรรมการบางคนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำ คสช. ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างกลไกปกป้องพวกพ้องและเครือข่ายของกลุ่มตน
ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง
5.4ปัญหาวิกฤตผู้นำ
เห็นว่า หัวหน้า คสช.
และนายกรัฐมนตรีมีปัญหาวิกฤตศรัทธาที่ไม่สามารถจะนำพาประเทศต่อไปได้
เนื่องจากเป็นผู้ไม่รักษาคำพูดในเรื่องต่างๆ ดังเช่น
(1)เริ่มตั้งแต่วันที่
8 ธันวาคม 2556 ก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร
พลเอกประยุทธ์ได้กล่าวยืนยันว่าทหารจะไม่ปฏิวัติ โดยกล่าวว่า
ตนและกองทัพต้องอดทนแล้วหาทางออก หาข้อสรุปที่สงบ สันติ เพื่อยุติปัญหา
หากทหารปฏิวัติอีกจะเป็นการแก้ปัญหาผิดทาง ปัญหาอื่นๆ จะเกิดขึ้นอีก
แล้วประเทศไทยจะยืนอยู่ในสังคมโลกได้อย่างไร แต่พลเอกประยุทธ์ก็ทำการรัฐประหาร
เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557
(2)เกี่ยวกับการเลือกตั้ง
เห็นว่า คสช. และรัฐบาล
ไม่มีความจริงใจที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชนเพื่อจัดการเลือกตั้ง
เริ่มจากจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับนายบวรศักดิ์” และถูกคว่ำโดย สปช.
อันเป็นหนึ่งในแม่น้ำทั้ง 5 สาย /
กำหนดเงื่อนไขและจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลายกร่างยาวนาน
แสดงให้เห็นเจตนาของการยืดเวลาเพื่ออยู่ในอำนาจชัดเจน
ที่สำคัญ
หัวหน้า คสช. เอง ก็ได้ให้สัญญากับประชาชนและนานาชาติว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้ง
แต่ก็ได้ผิดคำพูดมาโดยตลอด
ล่าสุดให้สัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561
แต่กลับมีการยืดเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 90 วัน ซึ่งเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า
การเลือกตั้งจะเลื่อนไป และคงไม่เกิดขึ้นก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรืออาจจะไม่มีในปี
2562 ด้วยซ้ำ การที่มีการเลื่อนการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ
ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อหัวหน้า คสช. อย่างรุนแรง
(3)การจำนนต่อหลักฐานว่าตนเองเป็นนักการเมือง
นับตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา พลเอกประยุทธ์ได้ปฏิเสธมาอย่างต่อเนื่องถึง 9
ครั้งว่า ตนไม่ได้เป็นนักการเมือง ขณะเดียวกันก็โจมตีใส่ร้ายนักการเมืองต่างๆ นานา
แต่เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 กลับเพิ่งยอมรับว่าตนเองเป็นนักการเมือง
และปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เพื่อหวังกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง
จากข้อเท็จจริงและพฤติกรรมตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น
พรรคเพื่อไทย จึงเห็นว่า คสช. และรัฐบาล และแม่น้ำ 5 สาย เข้าข่ายสมคบคิดกัน
เพื่อใช้กลไกทางอำนาจและกลไกตามรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในการได้อยู่ในอำนาจต่อไป
มีการโกงกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้อง
ผิดคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อนานาชาติและประชาชน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ คสช.
และรัฐบาลหมดความชอบธรรม และสี่ปีของการยึดอำนาจการปกครอง
ได้พิสูจน์ให้คนไทยและสังคมโลกเห็นอีกครั้งแล้วว่า
การรัฐประหารโดยล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่อาจแก้ไขปัญหาของประเทศได้
ในทางตรงกันข้ามกลับจะสร้างปัญหา และผลกระทบต่อประเทศในวงกว้าง ดังนั้น
ทางออกที่ดีที่สุดของ คสช.ในขณะนี้ คือ การคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็ว
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
พรรคเพื่อไทย
1 กุมภาพันธ์
2561
เอกสารประกอบคำแถลงพรรคเพื่อไทย
เรื่อง คสช.และรัฐบาล หมดความชอบธรรมที่จะเป็นรัฐบาลต่อไป
“ประยุทธ์”
กลับคำ ยอมรับเป็น “นักการเมือง”
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวภายหลังประชุม
ครม. เมื่อ 3 มกราคม 2561 ว่า
“วันนี้ต้องเปลี่ยนแปลง เพราะผมไม่ใช่ทหาร
เข้าใจไหม เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร มันก็ติดนิสัยทหารอยู่บ้าง
แต่ท้ายที่สุดคือประชาชน และไม่ใช่ประชาชนของผม แต่เป็นประชาชนของประเทศไทย
และไม่ใช่ของพรรคไหน ทุกคนเป็นพลเมืองไทย…”
ก่อนหน้านั้น เคยปฏิเสธการเป็นนักการเมืองมา 9 ครั้ง
ทั้งที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็เป็นนักการเมืองในตัวอยู่แล้ว
แต่กลับปฏิเสธตลอด
1.
“สื่อมวลชนกับนักการเมืองเป็นศัตรูกันแต่ผมไม่ใช่นักการเมือง
เป็นนักการทหาร ถึงเป็นนายกฯ ก็เข้ามาทำเพื่อคนไทย” (3 ธ.ค. 2557)เมื่อครั้ง
นัดพบปะพูดคุยกับผู้บริหารสื่อหนังสือพิมพ์ 16 ฉบับ
ที่สโมสรราชพฤกษ์ นอร์ธปาร์ค
2.
“ผมไม่ได้มาจากการเมือง ไม่ใช่นักการเมือง
ผมมาในช่วงวิกฤติด้วยวิธีพิเศษบวกปกติ” (24 ก.พ.
2558)กล่าวหลังการประชุมร่วม ครม.และคสช.
ยืนยันเดินหน้าตามโรดแมป
3.
“มีคนบอกว่าผมเป็นนักการเมืองแล้ว
ยืนยันว่าไม่ใช่ ผมยังเป็นนักการทหาร เพียงแต่เข้ามาทำหน้าที่นักการเมืองบริหารงานของภาครัฐเท่านั้น” (3
ก.ย. 2558)กล่าวในระหว่างเป็นประธานการรับฟังการแถลงยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธศาสตร์ทหาร
พ.ศ. 2559-2563 ของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
รุ่นที่ 57
4.
“ผมไม่ใช่นักการเมืองที่ต้องอยู่ให้นานเพื่ออำนาจ
ผมเคยบอกหลายครั้งแล้วเรื่องนี้ ผมชินกับการใช้อำนาจมาเยอะแล้ว
เป็นผู้บังคับบัญชาทหาร…” (8 ก.ย. 2558)กล่าวภายหลังที่ สปช. มีมติ “คว่ำ”
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณกลางสภาเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2558
5.
“บ้านใครนะ ผมไม่ใช่นักการเมือง” (18
ม.ค. 2559)
กล่าวทันทีที่สื่อมวลชนยิงคำถามใส่ว่าจะเปิดบ้านให้อวยพรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่บ้างหรือไม่
6.
“ผมเป็นผู้ใหญ่และเป็นทหาร เลยขี้โมโหไปหน่อย ผมไม่ใช่นักการเมือง
อย่าหวังว่าผมจะพูดเพราะ พูดเพราะแล้วโกหก ผมไม่ทำ” (22 ส.ค. 2559) กล่าวในระหว่างทำหน้าที่ประธานในพิธีเปิดทางพิเศษสายศรีรัช
– วงแหวนรอบนอก
7.
“บางอย่าง ผมไม่ใช่นักการเมือง
เวลาพูดอะไรก็จะพูดไปตามความเชื่อในหลักการและข้อเท็จจริงตามกฎหมาย” (15
พ.ย. 2559) กล่าวภายหลังมีผู้นำเอา
ผู้นำรัฐบาลทหารไปเปรียบเทียบกับผู้นำสหรัฐ
8.
“ผมไม่ได้มองหรือดีลการเมืองกับใคร เพราะผมไม่ใช่นักการเมือง
ผมไม่ดีลกับใครทั้งสิ้น”
(28 พ.ย. 2560)
กล่าวหลังมีการนำคนจากพรรคการเมืองมาร่วม ครม. “ประยุทธ 5”
9.
“ผมเป็นนายกฯ ที่ไม่เอาใจคน ผมไม่ใช่นักการเมือง
ผมบริหารงานในแบบของผม ดูแลประชาชนโดยไม่เลือกว่าใครสนับสนุนผม” (28
พ.ย. 2560) กล่าวระหว่างพบกับประชาชนที่หอประชุมอเนกประสงค์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา
…………………………..
ประมวลคำสัญญาของผู้นำ เรื่อง การเลือกตั้ง
31 ม.ค. 61 – นายอนุสรณ์
เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ยืนยันไม่เคยสัญญาประกาศเลือกตั้งวันไหน ว่า
คนไทยฟังแล้วรู้สึกสลดใจ ไม่รู้ว่ากล้าพูดเช่นนั้นได้อย่างไร
· ถ้าย้อนกลับไปก่อนรัฐประหาร
2557 เคยบอกว่าจะไม่ยึดอำนาจแต่ก็ยึด
· หลังจากยึดอำนาจก็บอกว่าไม่ใช่นักการเมืองตลอด
3 ปี จนมีการบันทึกไว้ว่าท่านบอกว่าไม่ใช่นักการเมือง 9 ครั้ง แต่เมื่อเดือนมกราคม
2561 ยอมรับว่าเป็นนักการเมือง
· เรื่องการเลือกตั้งก็ไปบอกนายชินโสะ
อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จะเลือกตั้ง 2558
· บอกนายบันคีมูน
เลขาธิการยูเอ็น จะเลือกตั้ง 2560
· ไปเยือนสหรัฐอเมริกา
ยิ่งกว่าพูดเพราะบันทึกไว้ในแถลงการณ์ร่วมซึ่งไม่ใช่การพูดคุยเฉพาะโดนัลด์ ทรัมป์
ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากับพล.อ.ประยุทธ์
แต่เป็นแถลงการณ์ร่วมระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศไทย ในแถลงการณ์ข้อ 8
เขียนไว้ชัดเจนว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2561
· วันที่ 10
ตุลาคม 2560 ยังยืนยันว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 จนกระทั่งสหภาพยุโรป
ได้ยึดมั่นในคำพูดและยอมที่จะกลับมาติดต่อบนพื้นฐานคำมั่นสัญญาการเลือกตั้ง
นายอนุสรณ์
กล่าวว่าเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตั้งแต่ก่อนยึดอำนาจ ท่านพูดแล้วไม่ทำตามคำพูด
ความจริงตรงข้ามกับสิ่งที่พูดหรือไม่ กรุณาอยู่กับร่องกับรอย สัญญาต้องเป็นสัญญา
คนไทยเป็นคนชอบพูดตรงๆจะเอาอย่างไรก็บอกเขา อยากอยู่ในอำนาจก็บอกตรงๆ
คนไทยไม่ชอบศรีธนญชัย ไม่ชอบการโกหก ตระบัดสัตย์
ไม่มีใครชอบที่ตัวเองเป็นคนโง่และถูกหลอก ไม่จำเป็นต้องใช้มหัศจรรย์ทางกฎหมาย
ทั้งการไม่ปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม
แล้วอ้างว่าเมื่อพรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมายไม่ทันก็ออกประกาศ 53 / 60
และสนช.ก็ใช้ประกาศฉบับดังกล่าว เป็นข้ออ้างในการขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป
90 วัน หาเศษหาเลยเล็กๆน้อยๆทางการเมืองท่านก็เอาหรือไม่
ตอนนี้คนไทยเข้าใจแล้วว่าที่ยึดอำนาจ ตัดสินใจวางแผนมาตั้งแต่ต้นหรือไม่
ทั้งการมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีส.ว.สรรหา 250 คน
เป็นการคิดวางแผนทำกันอย่างเป็นกระบวนการหรือไม่ ความจริงนักการเมืองอดทนได้
แต่มันเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ดีหรือไม่ โกหกเป็นนิจ พูดแล้วไม่ทำหรือไม่
ในทางการแพทย์คนที่มีอาการขี้หลงขี้ลืมต้องไปตรวจว่าเป็นอัลไซเมอร์หรือไม่
ควรไปพบแพทย์โดยด่วนหรือไม่
……………..