สัมภาษณ์พิเศษ : อดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปัญหาของระบอบประชาธิปไตย คือ องค์กรอิสระ

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หลายคนในสังคมเชื่อว่าหนึ่งในปัญหาสำคัญ คือ การไม่เคารพในหลักการประชาธิปไตยของคนบางกลุ่ม จนนำพาประเทศมาสู่จุดวิกฤติ และยากที่จะแก้ไขได้ ซึ่งยิ่งตอกย้ำรอยร้าวของปัญหา เมื่อองค์กรของรัฐตามรัฐธรรมนูญ อย่างองค์กรอิสระ กลับเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ประชาชนส่วนมากมองว่าเป็นปัญหา วันนี้ ทางทีมงานเว็ปพรรคเพื่อไทย จะนำทุกท่านมาทำความเข้าใจกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น และปัญหาขององค์กรอิสระ กับ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และสมาชิกพรรคเพื่อไทย

@ มองการทำงานของกลุ่มองค์กรอิสระอย่างไรบ้าง

ผมเองไม่อยากตำหนิองค์กรอิสระ เพียงอยากจะบอกว่า ในวันนี้มีเสียงประชาชนจำนวนมาก ที่มีความคลางแคลงใจในการทำงานขององค์กรอิสระ เช่น การวินิจฉัยบางเรื่องของบางฝ่ายก็ทำช้าแต่อีกฝ่ายกลับทำเร็ว หรือในบางคดีตัดสินว่ากระทำได้ แต่ในคดีใกล้เคียงกันกลับตัดสินว่ากระทำไม่ได้ ผมก็อยากให้ท่านกลับไปทบทวนบทบาทหน้าที่ของท่าน ผมไม่ปฎิเสธว่าองค์กรอิสระจะต้องมีอยู่ แต่อยากขอวิงวอนให้ท่านได้ฟังเสียงประชาชนบ้างและฟังให้รอบด้านในการทำงาน ผมคิดว่าทุกคนก็อยากจะสนองความต้องการประชาชน ผมว่าถ้าฟังให้รอบด้าน ไม่มีอคติต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็คงจะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ด้วยฝีมือของท่านเอง

@ มองกรณี 7 องค์กรอิสระร่วมกันหาทางออกประเทศ อย่างไรบ้าง

หลายคนก็พูดนะว่าองค์กรอิสระหน้าที่ที่มีอยู่ไม่ค่อยทำ แต่กลับมาทำหน้าที่เป็นคนกลาง อันนี้ก็ไม่เป็นไรนะครับ คิดต่างกันได้ แต่ว่าการที่กลุ่มองค์กรอิสระจะเข้ามาเป็นคนกลาง โดยมีเจตนาดีก็อาจทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ถ้าคิดอย่างนั้นก็เป็นเรื่องที่ดีนะครับ แต่ขอให้ทำหน้าที่นี้โดยความเป็นกลางและเป็นธรรม เป็นที่พึ่งของประชาชนส่วนใหญ่ ยึดกรอบกฎหมายตามรัฐธรรมนูญที่เรามีอยู่เป็นหลักให้ได้ เพราะทุกวันนี้ ถ้าไม่ยึดกฎิกาบ้านเมือง เราไม่รู้จะยึดอะไร จะไปยึดความเห็นของคนส่วนหนึ่งหรือจะไปยึดความเห็นของคนที่บอกว่าตนเองเป็นคนดีนั้นไม่ได้ ต้องยึดหลักเกณฑ์กติกาบ้านเมือง ก็ขอให้อยู่ในกรอบนั้นด้วย ถ้าไม่ยึดแบบนั้น หรือว่าทำเพราะเห็นแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว ผมมองว่าไม่ต้องทำดีกว่าเพราะยิ่งทำยิ่งแตกแยกมากขึ้นด้วยซ้ำไป ไม่มีประโยชน์ แทนที่ว่าทำแล้วจะให้เรียบร้อย

@ มองกรณี กกต.เตรียมตรวจสอบปัญหาผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกรายการโทรทัศน์ช่อง 11 ว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง อย่างไรบ้าง

เรื่องนี้ผมคงไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ว่า กกต.ทำถูกหรือไม่ถูก เพราะผมก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการไปออกรายการทางช่อง 11 ด้วย แต่อยากจะเรียนว่าตามพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง การหาเสียงนั้นมีข้อจำกัด เช่น ห้ามไปหาเสียงผ่านสื่อของรัฐ แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นนั้น ก็คือว่า มีรายการในโทรทัศน์ช่องหนึ่ง เขาเชิญให้เราไปพูดในปัญหาและวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์บ้านเมือง เชิญไปให้ความเห็นส่วนตัวหรือ
ทางวิชาการก็ ผมก็จำได้ที่ผมไปออก แล้วเขาถามว่า ทางฝ่ายกระบวนการยุติธรรม
ที่ตัดสินคดีออกมา เห็นว่าเป็นอย่างไร ประมาณนี้ ก็ไม่ได้ไปหาเสียง
คือไปตามคำเชิญของสถานีโทรทัศน์ แล้วก็พูดในเรื่องอื่น ไม่ใช่ไปในการหาเสียง ไม่ใช่ไปในเรื่องที่ทำผิดกฎหมาย เรื่องที่ไปหาเสียงตามสื่อของรัฐ ผมก็จำได้ว่าไม่ได้พูดหาเสียงเลยนะ เพราะเรารู้อยู่ว่า หาเสียงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าคงจะได้รับความเป็นธรรมจากองค์กรอิสระนะ เพราะว่าเราก็ไม่ได้ไปทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย

@ หลายฝ่ายเสนอการปฏิรูปประเทศ ท่านมีแนวทางอย่างไรบ้าง

เรื่องการปฏิรูป ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่หลายคนพูดมาเยอะ ผมก็เห็นบางฝ่ายก็เริ่มไปดำเนินการ แต่ผมมองว่ามันไม่ใช่การปฏิรูป มันก็เหมือนกับทำเพื่อกลุ่มตนเองมากกว่า แต่ว่าในเรื่องแนวทางการปฎิรูป ผมคิดว่า พูดคนเดียวอาจจะดูแคบไปเพราะมีหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง มีส่วนให้ประชาชนมาเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน และการปฏิรูปก็ทำมาเกือบทุกๆยุคทุกสมัย แต่ว่าก็ไม่ได้รับความสนใจเท่ากับครั้งนี้ เพราะครั้งนี้มีบางกลุ่มไปจุดประเด็นว่าต้องปฎิรูปก่อนเลือกตั้ง และการปฏิรูปจะทำได้ หลายๆ เรื่องต้องแก้กฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายธรรมดา การแก้กฎหมายก็ต้องทำโดยสภานิติบัญญัติ แต่วันนี้ ผมอยากเรียกร้องให้มีสภาเสียก่อนได้ไหม ให้ กกต. ไปดำเนินการเลือกตั้งให้มีสภาเสียก่อน ให้เป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่สภาประชาชน หรือว่าสภาที่ไปรวมกลุ่มกันริมถนน แบบนั้นไม่ใช่การปฏิรูป และผมก็คิดว่าการปฎิรูป เป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ว่า การทำนั้นขอให้ทำตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายในประเทศนี้ หลังจากนั้นมันก็จะผ่านไปได้ หลังเลือกตั้งจะมีการปฏิรูป แล้วค่อยเลือกตั้งใหม่ก็ว่ากันไป เพราะวันนี้เรามีรัฐธรรมนูญ มันไม่มีทางหลีกเลี่ยงที่จะไปทำอย่างอื่น นอกจากทำตามกติกาของรัฐธรรมนูญเท่านั้น

17 มีนาคม 2557

Categories: Interview