สัมภาษณ์พิเศษ : ศาสตราจารย์ ชัยเกษม นิติสิริ ตอนที่ 2


@ แล้วเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเรื่องการเลือกตั้ง 2 กุมภาฯ?

กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องให้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ที่จริงแล้วรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าจะยื่นได้ก็ต่อเมื่อเป็นเรื่องของบทบัญญัติกฏหมายนั้นไม่ชอบ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็รับไว้ แล้วตัดสินมาว่าบทบัญญัติของกฏหมายนั้นไม่ชอบ ทั้งที่ความเป็นจริง แล้วเราก็เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องของกฏหมาย แต่เป็นเรื่องของการกระทำที่มีเป้าหมายเพื่อให้ กกต. ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งในวันเดียวกันได้

แต่โดยตัวของบทบัญญัติกฏหมายนั้น ไม่มีอะไรเลย ไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญเลย แล้วถ้าจะให้ออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ ก็ไม่มีอะไรต้องแก้เลย แค่แก้วันที่กับเดือนใหม่เท่านั้น จาก 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นวันอื่นๆ ในเดือนเมษายน หรือ พฤษภาคม

แล้วถ้าใช้บรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญ เราก็ต้องไปรอดูอีกว่าจะมีใครมาขวางการเลือกตั้งอีกหรือไม่ ถ้ามาขวางการเลือกตั้งนั้นก็ขัดรัฐธรรมนูญอีกเช่นนั้นหรือ? นี่จึงไม่ใช่เรื่องของกฏหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญเลยแต่อย่างใด ผมจึงเห็นว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความแบบนี้ มันขัดเกินไปกับตัวบทกฏหมายที่มีอยู่ ดูแล้วทำใจยอมรับได้ยากจริงๆ

@ มีการตั้งข้อสังเกตุจากหลายฝ่ายว่า  ที่ผ่านมาองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนั้น พยายามเร่งรัดตัดสินคดีจำนำข้าว รวมถึงพยายามยื่นตีความกรณีโยกย้ายคุณถวิล เปลี่ยนสี เพื่อที่จะถอดถอนนายกรัฐมนตรี หวังให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง?

ในเรื่องของคุณถวิลนั้น ตอนนี้มีความพยายามไปเสนอศาลรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวหาว่าท่านนายกฯ แต่งตั้งโยกย้ายเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้อง ซึ่งตรงนี้มีข้อเท็จจริงที่จะต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างชัดในเรื่องกฏหมายด้วย เพราะในกฏหมายจริงๆ นั้น การจะถอดถอนบุคคลที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายนั้น กฏหมายระบุว่าจะต้องเป็นเรื่องของการ “ก้าวก่ายหรือแทรกแซง”

ทีนี้เดิมทีมาตรานี้เอาไว้ใช้กับ ส.ส. และ ส.ว. ไม่ให้ไปใช้อำนาจก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการประจำ แต่เขาก็ดันเอากฏหมายข้อนี้มาใช้กับนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งถ้าจะอ่านกฏหมายให้ครบแล้วนั้น วรรคท้ายของมาตรา 268 บอกไว้ว่า “เว้นแต่จะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่บริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา หรือตามที่กฏหมายบัญญัติ”

ซึ่งอันนี้ชัดเจนเลยว่า นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี ก็ใช้อำนาจตามที่มีกฏหมายรองรับว่าให้กระทำได้อยู่แล้ว ซึ่งโดยส่วนตัวผมมองว่าเรื่องนี้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามาแทรกแซงก็อาจจะถูกมองได้ว่าเป็นการก้าวก่ายอำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่งต่อไปจะทำให้รัฐบาลชุดต่อๆ ไปทำงานได้ยาก

ส่วนในเรื่องของ ป.ป.ช. การเร่งรัดดำเนินคดีกับรัฐบาลนี้นั้น เราก็ไม่ได้คิดอะไร เพียงแต่ประชาชนที่เขาติดตามการเมืองก็อาจจะมีข้อสังเกตว่าทำไมคดีของรัฐบาลนี้มันถึงเดินเร็วนัก ในขณะที่คดีของอีกรัฐบาลถึงไม่ค่อยมีความคืบหน้าอะไร มันก็มีข้อน่าคิด แต่เราก็ไม่ได้ติดใจ เพราะเขาก็คงมีคำอธิบาย ส่วนจะฟังขึ้นหรือไม่นั้นก็อยู่ที่ประชาชน เพียงแต่หลายเรื่องนั้นมันช่างบังเอิญเข้าล็อก ประจวบเหมาะกันเกินไป

ซึ่งสมมติมันเกิดเรื่องกันอย่างที่มีคนคิดๆ กันไว้ว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะถูก ป.ป.ช. ชี้มูล แล้วส่งเรื่องไปถึงวุฒิสภานั้น แล้วถ้าวุฒิสภาถอดถอนท่านก็จะต้องพ้นหน้าที่ไป แต่ต้องเรียนอย่างนี้ว่า เรื่องทั้งสองอย่างนี้มันอยู่ในหมวดว่าด้วยการถอดถอนจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อย่าลืมว่าตอนนี้ท่านไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกแล้ว เพราะตั้งแต่ยุบสภา คณะรัฐมนตรีก็สิ้นสุดลงไปแล้วทั้งคณะ ที่มีอยู่นี่เป็นเพียงแค่คณะรัฐมนตรีรักษาการ ซึ้งรัฐธรรมนูญบัญญติไว้ว่าจะต้องอยู่ต่อ ซึ่งก็งงว่าที่จะไปถอดถอดกันนั้น จะไปถอดถอนจากอะไร ในเมื่อสิ่งนั้นมันไม่มีอยู่แล้ว อุปมาเหมือนตายแล้ว จะให้ตายอีก ตายซ้ำซ้อน มันจะเป็นไปได้หรือ?

@ สถานการณ์มาถึงขณะนี้ สามารถนำไปสู่การมีนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 ตามที่บางฝ่ายพยายามเรียกร้องได้แล้วหรือยัง?

ก็อย่างที่ทราบกันว่า บางคนก็ไปคิดกันถึงขั้นว่า ถ้าถอดถอนนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งแล้ว คณะรัฐมนตรีก็ต้องพ้นไปด้วยทั้งคณะ เพราะมีมาตราหนึ่งในรัฐธรรมนูญว่าไว้อย่างนั้น แต่นั่นเขาหมายถึงคณะรัฐมนตรีในสภาวะปกติ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับคณะรัฐมนตรีรักษาการ

ในเรื่องของนายกฯมาตรา 7 นี่ก็เช่นเดียวกัน ถ้าดูในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเราจะเห็นว่าเมื่อมีการยุบสภาแล้ว เขาก็ไม่ต้องการให้ประเทศว่างเว้นรัฐบาล เพราะโดยหลักการไม่ว่าที่ไหนในโลก ประเทศมันจะว่างรัฐบาลไม่ได้ เขาจึงกำหนดให้มีรัฐบาลรักษาการ โดยจำกัดอำนาจบางอย่างเอาไว้

แต่ก็มีความพยายามจากบางฝ่ายที่จะอธิบายว่าต้องทำให้เกิดสภาวะสุญญากาศ แล้วดันให้มีนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 ขึ้นมาให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญรองรับไว้เลย และในเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านก็เคยมีพระราชดำรัสเอาไว้ชัดเจนแล้วว่านายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 นั้น เป็นการตีความกฏหมายแบบ “มั่ว”

@ แต่ก็มีบางคนบอกว่าในช่วงที่ยังไม่มีสภาฯ วุฒิสภาที่มีอยู่ก็สามารถใช้อำนาจแทนรัฐสภา ในการถอดถอน และแต่งตั้งนายกคนกลางได้ ตรงนี้ท่านมองอย่างไร?

ตรงนี้เป็นเรื่องความไม่ชัดเจนของกฏหมาย เพราะที่จริงแล้วอำนาจหน้าที่ในการเปิดสภานั้นเป็นของประธานสภาผู้แทนราษฎร ถ้าบอกว่ายังไงก็จะเปิดสภาให้ได้ ก็มีข้อสังเกตุว่าถ้าเปิดกันจริง  ก็จะมีปัญหาทางกฏหมายตามมา เพราะถ้าจะเปิดกันให้ได้ ก็ยังคงต้องใช้วุฒิสภาชุดเดิมในการปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่อง จากวุฒิสภาชุดใหม่ยังไม่ถูกรับรองเสร็จสิ้น

ทีนี้การปฏิบัติหน้าที่ก็จะมีปัญหาตรงที่การเลือกตั้งวุฒิสภาชุดใหม่ได้มีการเลือกไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2557 แม้จะยังไม่ประกาศผลก็ตาม แต่ถ้าประกาศผลแล้ว การเริ่มต้นนับการดำรงตำแหน่งของวุฒิสมาชิก ก็จะเริ่มเอาวันที่ 30 มีนาคม 2557 เป็นวันแรก คำถามคือเมื่อเริ่มนับการทำงานของวุฒิสมาชิกชุดใหม่ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2557 แล้ว วุฒิสมาชิกชุดก่อนท่านดันไปทำหน้าที่ถอดถอนแต่งตั้งเอาไว้ ก็หมายความว่าในช่วงเวลานั้นมีวุฒิสภา 2 คณะหรืออย่างไร? ซึ่งมันคงเป็นไปไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นแล้วโดยมารยาทก็ไม่ใช่สิ่งที่สมควรทำ เพราะรู้ว่าจะมีชุดใหม่เข้ามาแล้ว จะรีบไปเร่งด่วนทำอะไรตามที่ตนเองต้องการ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม ซึ่งตรงนี้ประชาชนคงต้องช่วยกันดู

@ สรุปว่า อย่างไีรก็ตามรัฐบาลรักษาการชุดนี้ก็ยังต้องรักษาการต่อ?

ผมอยากให้ลองดูในมาตรา 180 ซึ่งระบุว่า รัฐมนตรีทั้งคณะจะพ้นจากตำแหน่งก็ต่อเมื่อ 1) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182  2) ยุบสภา  3) นายกรัฐมนตรีลาออก มันมีอยู่สามกรณีเท่านั้น และก็มีระบุว่าเมื่อสิ้นสุดลงแล้วก็ต้องหาคนใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่งโดยเร็ว

ทีนี้ในมาตรา 181 ก็ระบุไว้ว่าคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งหมายความว่ากฏหมายนั้นมุ่งหมายว่าไม่ว่าจะลาออก หรือคณะรัฐมนตรีจะสิ้นสุดเพราะความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ยังไงก็จะไม่เกิดสุญญากาศ หรือช่องว่าง เพราะรัฐธรรมนูญบังคับให้ต้องอยู่ในตำแหน่งไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่

เพราะฉะนั้นยังไงท่านนายกรัฐมนตรีก็ยังต้องอยู่ แล้วไม่ว่าถ้าเกิดจะต้องออกอีกทีเพราะความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182 อย่างที่เขาต้องการกัน มันก็ยังติดตรงมาตรา 181 ว่าท่านจะยังคงต้องอยู่ เพื่อรักษาการจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นี่คือข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญ

แต่สมมติว่าศาลรัฐธรรมนูญเกิดบอกว่าตัวท่านนายกรัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่ง ก็มีคนพยายามบอกต่อคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆจะต้องพ้นไปด้วย ซึ่งถ้าจะตีความแบบนั้นก็คงต้องบิดรัฐธรรมนูญทุกสเต็ป เพราะมาตรา 181 บังคับไว้แล้วว่ายังไงคณะรัฐมนตรีชุดเดิมก็ต้องอยู่รักษาการ ผมคิดว่าถ้าอ่านตัวบทกฏหมายแบบตรงไปตรงมา หรือทำตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว มันเกิดไม่ได้หรอกสุญญากาศ ประเทศจะให้ว่างเว้นรัฐบาล มันเป็นไปไม่ได้

3 เมษายน 2557

Categories: Interview