นโยบายกองทุนหมู่บ้านและเอสเอ็มแอล

วันที่ 3 ธันวาคม 2557


@ หลักคิด ปรัชญา: เสมอภาค มีส่วนร่วม เป็นชุมชนที่จัดการตนเอง

“เราต้องย้อนกลับไปดูปัญหาในสังคมไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่การกระจายความเจริญการกระจายรายได้รวมถึงระบบงบประมาณยังมีช่องว่างอยู่มากจนกระทั่งเมื่อพรรคไทยรักไทยในขณะนั้นได้มาเป็นรัฐบาลจึงมีแนวนโยบายว่าจะต้องสร้างรายได้ขยายโอกาสให้กับพี่น้องประชาชนก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้พี่น้องในชนบทได้เข้าถึงและเงินทุนและพัฒนาพื้นทีชุมชนของตนเองด้วยงบประมาณที่ตนเองเป็นคนคิดดังนั้นความคิดก็คือการทำให้เกิดความเสมอภาคและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการใช้งบประมาณ”

“กองทุนหมู่บ้านนั้นเน้นให้เกิดการมีกองทุนในชุมชนหมู่บ้านในพื้นที่ชนบทที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ไม่มากนักเช่นบางครอบครัวต้องการเงินก้อนเล็กไปจัดการกับปัญหาของเขาเองสามารถกู้ไปใช้แก้ปัญหาได้หรืออาจจะเอาไปลงทุนธุรกิจครอบครัวเล็กๆน้อยๆจึงเกิดเป็นนโยบายกองทุนหมู่บ้านหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทและให้เขามีระบบกรรมการจัดการกันเองภายในชุมชน”

“ส่วนนโยบาย SML ก็เพื่อที่จะให้ชุมชนได้ใช้งบประมาณได้คิดกระบวนการใช้งบกันเองเพราะเดิมทียุคก่อนนั้นใช้วิธีตั้งงบประมาณจากภาครัฐลงไปจากส่วนกลางลงไปยังส่วนภูมิภาคและกระจายต่อไปยังท้องถิ่นแต่ชุมชนหมู่บ้านนั้นๆ
กลับไม่มีสิทธิได้พิจารณางบประมาณของตัวเอง 
ทั้งที่บางเรื่องไม่ได้ใช้งบประมาณมากนักเช่นอยากจะสร้างสะพาน,
จะสร้างศาลาประชาคม, แก้ไขปัญหาขยะ, น้ำท่วมหรือแม้แต่กีฬาและศาสนาก็ไม่เคยมีโอกาส  การมี SML จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยอุดช่องว่างด้านงบประมาณตรงนี้โดยรัฐบาลจะส่งเงินไปให้ชุมชนหมู่บ้านๆ ละประมาณ
2-3 หรือ 4 แสนก็สามารถแก้ไขปัญหาของชุมชนนั้นๆ ได้มากทีเดียวถือเป็นที่น่าพอใจ”


@ กองทุนหมู่บ้านและ SML : ความเหมือนบนความต่าง

“เริ่มที่กองทุนหมู่บ้านคำว่า“กองทุน”ก็แปลว่าจะต้องเป็นเม็ดเงินที่อยู่ถาวรไม่ใช่ใช้แล้วหมดไปกองทุนนี้มีไว้สำหรับให้กู้ยืมเป็นรายบุคคลเพื่อใช้แก้ปัญหาในครัวเรือนส่วน SML เป็นงบประมาณกล่าวคือสามารถเบิกจ่ายเอาไปใช้เพื่อส่วนรวมโดยแต่ละหมู่บ้านต้องคิดโครงการขึ้นมาว่าจะเอางบประมาณ
SML ของหมู่บ้านตนเองนั้นไปใช้ทำอะไรจะเอาไปแก้ปัญหาชุมชนสิ่งแวดล้อมการศึกษาหรือส่งเสริมศาสนาตามความเห็นของชุมชนนั้นๆอย่างไรซึ่งถึงแม้สองโครงการนี้จะเป็นเม็ดเงินที่ลงไปสู่ชุมชนเหมือนกันแต่เห็นได้ชัดว่าเป็นคนละวัตถุประสงค์กองทุนหมู่บ้านนั้นเพื่อใช้สร้าง“กองทุน”ให้กู้ยืมกันในหมู่บ้านหมุนเวียนกันไปรัฐบาลไม่ได้เรียกคืนให้แล้วให้ไปเพื่อบริหารจัดการกันเองในชุมชน ส่วน SML ให้ลงไปปีต่อปีเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ
ของชุมชนนั้นๆ”


@ ตอบโจทย์ปัญหาชุมชน
ประชาชนได้ประโยชน์จริง

“สองนโยบายนี้เป็นนโยบายที่ประชาชนให้ความพึงพอใจลำดับต้นๆเหมือนนโยบายหลายๆ อย่างของพรรคไทยรักไทยในอดีตจนมาถึงพรรคเพื่อไทยเช่นเดียวกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเพราะประชาชนได้ประโยชน์จริงและเห็นเป็นรูปธรรมในอดีตมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนหรือมีปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบเสียดอกเบี้ยสูงๆก็สามารถมาใช้ประโยชน์จากนโยบาย กองทุนหมู่บ้านได้หรือปัญหาชุมชนที่ไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐถูกละเลยมาหลายสิบปีทั้งที่ใช้เงินจำนวนไม่มากนักก็ได้นโยบาย SML เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาทำให้สามารถตอบโจทย์ของพี่น้องประชาชนในชุมชนได้อย่างแท้จริง”


@ เสนอต่อยอดนโยบายให้ถูกทางเน้นทำอย่างต่อเนื่อง

“สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือ อยากเห็นคนที่เข้ามาเป็นรัฐบาลได้ดำเนินการต่อเนื่องเพราะเป็นนโยบายที่มีประโยชน์ไม่ต้องไปกังวลว่าจะเป็นผลงานของรัฐบาลในอดีตเพราะถ้าเป็นนโยบายที่ประชาชนได้ประโยชน์และพึงพอใจก็อยากให้ทำต่ออาจจะมีการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนบ้าง  แต่ต้องฟังเสียงประชาชนไม่อยากให้ยกเลิกเปลี่ยนนโยบายหรือไปบิดให้มันผิดเพี้ยนเพราะเราเคยประสบปัญหาครั้งหนึ่งช่วงมีการเปลี่ยนรัฐบาลจากพรรคพลังประชาชนมาเป็นอีกรัฐบาลหนึ่งก็มีการเปลี่ยนชื่อนโยบายและเปลี่ยนแนวทางไปมีการให้งบประมาณลงไปแต่เป็นการให้ในส่วนที่ไม่ได้เป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนเขาเดือดร้อนเรื่องหนึ่งแต่กลับไปให้ในอีกเรื่องหนึ่งให้ในสิ่งที่เขาไม่ได้ต้องการอย่างนี้เป็นการต่อยอดอย่างผิดวัตถุประสงค์​ฉะนั้นถ้าจะต่อยอดนโยบายอะไรก็ต้องกลับไปถามความพึงพอใจของประชาชนเป็นหลัก

กองทุนหมู่บ้านในขณะนี้มีความเข้มแข็งมากในเรื่องของการมีกระบวนการคิดมีกระบวนการสร้างความมีส่วนร่วมไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องของกระบวนการและความร่วมมือสามัคคีของคนในชุมชนด้วย” 

“ถ้ารัฐบาลไม่ว่าจะชุดไหนก็ตามสามารถสนับสนุนต่อยอดเพิ่มเติมลงไปได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีและไม่ใช่แค่เรื่องของภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียวแต่ในส่วนของสถาบันทางการเงินทั้งของรัฐและเอกชนเมื่อเห็นความเข้มแข็งของชุมชนนั้นๆกองทุนนั้นๆซึ่งจะเรียกว่า“ธนาคารหมู่บ้าน”เลยก็ได้เขามีระบบคณะกรรมการระบบของการให้กู้ยืมเงินสถาบันการเงินอาจจะเข้าไปให้ความร่วมมือกับกองทุนหมู่บ้านเพื่อต่อยอดก็ได้

“ส่วน SML วันนี้เงิน
2-3-4 แสนบาทต่อหมู่บ้านถ้ารวมกันทั้งประเทศอาจจะเป็นเงินก้อนใหญ่แต่จริงๆแล้วเมื่อลองมาเปรียบเทียบกับงบประมาณของทุกหน่วยงานในกระทรวงทบวงกรมแล้วจะพบว่ามีสัดส่วนไม่มากนักและถ้าให้ทุกหน่วยงานตัดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็นแล้วกระจายลงไปที่หมู่บ้านโดยตรงนั้น  น่าจะได้ประโยชน์มากกว่ารัฐบาลควรจะลองพิจารณาในจุดนี้อย่าไปคิดว่าเป็นนโยบายของใครของพรรคไหนถ้าประชาชนได้ประโยชน์เราก็ควรที่จะเดินหน้าต่อ”


@ เชื่อชุมชนแข็งแรง มีระบบติดตามการใช้เงิน
และหนี้เสีย

“เวลาพูดกันเรื่องนโยบายต้องยอมรับกันอย่างหนึ่งว่า  ทุกนโยบายไม่มีนโยบายไหนที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ
100%  กองทุนหมู่บ้านนั้นเป็นการกู้ยืมเงินซึ่งการกู้ยืมเงินในสถาบันทางการเงิน  ถึงแม้จะเป็นระบบที่ดีแค่ไหนก็ตามก็ยังมีปัญหาเรื่องหนี้เสียหรือที่เรียกกันว่า NPL โดยอัตราในการเกิดหนี้เสียนั้นจะอยู่ที่ประมาณ
10% ของวงเงินกู้ทั้งระบบแต่กองทุนหมู่บ้านที่ชาวบ้านให้กู้ยืมกันเองนั้นเขามีกระบวนการในเรื่องการติดตามกันเองและมีความคุ้นเคยรู้จักกันดี”

ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินแล้วพบว่ากองทุนหมู่บ้านมีหนี้เสียน้อยกว่ากันมากจากทั้งหมด 7-8 หมื่นกองทุนมีหนี้เสียไม่เกิน 5% ก็ถือว่ารับได้เพราะอาจเป็นเรื่องของความเดือดร้อนเหตุจำเป็นหรือแม้แต่ภัยธรรมชาติหรืออาจจะมีปัญหาในส่วนของกรรมการกองทุนบ้างบางหมู่บ้านที่เป็นข่าวแต่ไม่อยากให้เอาปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงที่เดียวมาขยายผล  จนลืมมองถึงอีกว่า 95% เขาประสบความสำเร็จ”

“ส่วนเรื่อง SML การคิดของพี่น้องประชาชนจะผิดหรือถูกอย่างไรนั้นแล้วแต่มุมมองแต่เชื่อว่าถ้าเม็ดเงินลงไปสู่ชุมชนแล้วย่อมเกิดผลเป็นรูปธรรมแน่นอนซึ่งถ้าเทียบกับระบบการทำงบประมาณจากภาครัฐลงไปความเสียหายจะมากกว่าเพราะการมีส่วนร่วมติดตามหรือดูแลการใช้งบประมาณจะไม่เท่ากับ SML ที่ประชาชนในชุมชนนั้นดูแลกันเอง”

“จากการติดตามเรื่องกองทุนหมู่บ้านหรือ
SML ซึ่งเป็นโครงการที่กระจายเม็ดเงินลงไปสู่หมู่บ้านกว่า
7-8 หมื่นแห่งพบว่าความเสียหายมีน้อยมากแค่หนึ่งหรือสิบแห่งแต่ถูกขยายผลตีข่าวว่าเป็นนโยบายที่เสียหายที่จริงแล้วมันเทียบกันไม่ได้กับความสำเร็จ”

Categories: Interview