สัมภาษณ์พิเศษ เรื่อง การพัฒนาการศึกษากับ ดร. ณหทัย ทิวไผ่งาม ประธานสถาบันเยาวชนพรรคเพื่อไทย

9 มกราคม 2558

@ เทรนด์ของการพัฒนาด้านการศึกษาของโลกตอนนี้เป็นไปในทิศทางใด
และประเทศไทยได้มีการวางแผนการพัฒนาด้านการศึกษาให้สอดคล้องกันในด้านใดบ้างแล้ว

    แนวทางการจัดการศึกษาของโลกในปัจจุบันเน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะ
7 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
และทักษะในการแก้ปัญหา  ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม  ทักษะด้านความเข้าใจความต่างทางวัฒนธรรม
ต่างกระบวนทัศน์  ทักษะด้านความร่วมมือ
การทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำ  ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศและรู้เท่าทันสื่อ
ทักษะด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  และสุดท้ายคือ ทักษะอาชีพและการเรียนรู้

ที่ผ่านมาระบบการศึกษาไทยก็พยายามที่จะเน้นให้เกิดกระบวนการทั้ง 7ด้าน
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จะเกิดผ่านกระบวนการในการเรียนการสอน มากกว่าที่ตัวเนื้อหาเอง  การเป็นผู้นำของครูในห้องเรียนจะเริ่มเปลี่ยนไป
โดยบทบาทของครูจะต้องเปลี่ยนเป็นผู้แนะนำชี้แนะมิใช่ออกคำสั่งเพื่อให้ปฏิบัติตาม
กระทรวงศึกษาฯ ก็จะเริ่มปลูกฝังให้มีการสอดแทรกความรู้และหน่วยการเรียนที่เน้นให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหา
เกิดความคิดสร้างสรรค์และทำงานเป็นทีม
รวมทั้งความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีและการสื่อสารก็ถูกบรรจุให้มีความเข้มข้นมากขึ้น  ICT Literacy มีบทบาทในกระบวนการเรียนมากขึ้น
เนื่องจากความแตกฉานในการใช้ ICTจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น

@ คิดว่าอุปสรรคและข้อจำกัดของการพัฒนาด้านการศึกษาในไทยคืออะไร
และเราจะสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้หรือไม่ ต้องเริ่มต้นจากสิ่งใดก่อน

  อุปสรรคหลักที่ต้องเริ่มแก้ไขคือ
กระบวนการในการสร้างและคัดสรรครูผู้สอน
รวมทั้งปลูกฝังกระบวนการที่จะสร้างให้ครูรักและอยู่ได้กับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 
เพราะการเรียนรู้คือการไม่หยุดแสวงหาความใหม่ในเนื้อหา กระบวนการและวิธีการ  ครูต้องหยุดทำตนเองให้น่าเบื่อ  ครูต้องขวนขวายและแสวงหา “ความตื่นเต้น”
ให้เกิดขึ้นกับตัวผู้เรียนและบรรยากาศในการเรียนตลอดเวลา  ครูยังต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจรักเพื่อนมนุษย์
อยากที่จะเห็นเขาเหล่านั้นพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นทุกวัน  ถ้าเปลี่ยน “ครู” ได้  กระบวนการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ในตัวผู้เรียนจะเกิดขึ้นเองโดยปริยาย

  เราอาจจะต้องใส่ใจใน
“การสร้างครู” ให้มากขึ้น 
ที่มาของคนที่จะเป็นครูได้ควรเกิดจากกระบวนการดังต่อไปนี้

1)  เกิดจากการวัดแววและวัดความฉลาดในเรื่องความเข้าใจตนเองและผู้อื่น
รวมถึงความสามารถในเรื่องการใช้ภาษาสื่อสาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ถูกกล่าวไว้ในการศึกษาความฉลาดของมนุษย์
(Multiple
Intelligences) โดย Howard Gardner จริงๆ ควรจะเริ่มตั้งแต่ในระดับมัธยมปลายเพื่อให้สามารถได้คนที่เหมาะสมเข้าสู่โรงเรียนของการสร้างครู
หรือครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ 5 ปี  โดยสถาบันที่สร้างครูควรจัดทุนการศึกษาให้กับผู้ที่มีพรสวรรค์
หรือความฉลาดข้างต้น    Mutiple Intelligences by Howard Gardner

  เมื่อค้นพบนักเรียนเหล่านี้
สถาบันในระดับอุดมศึกษาที่มีคณะดังกล่าวควรร่วมมือกับโรงเรียนเพื่อจัดชั่วโมงให้นักเรียนเหล่านี้ได้ร่วมฝึกและสังเกตการณ์ครูต้นแบบ
ครูตัวอย่างและเป็นผู้ช่วยครู 
เพราะการเป็นครูที่ดีนั้นประสบการณ์ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง

2) 
สรรหาบุคคลที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพอื่นและได้รับการวัดแววความฉลาดในเรื่องหลักๆจากข้อ
1  โดยเน้นผู้ที่จบปริญญาโท ตัวอย่างประเทศฟินแลนด์ที่รับบุคลากรที่จบปริญญาโทเท่านั้นมาเป็นครู
 เพราะผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานและจบโทจะมีคุณสมบัติที่ผ่านกระบวนการที่จำเป็นในหลายๆ
ข้ออย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น เช่น กระบวนการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา
การทำงานเป็นทีม

3)  การสร้างความเข้มข้นในการจัดประสบการณ์ในปีที่
5 ของครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์

โดยจะต้องเน้นให้เกิดกระบวนการทั้ง 7 ข้ออย่างที่กล่าว
โดยครูพี่เลี้ยงและผู้นิเทศน์จะต้องมีประสบการณ์และมีความเข้มแข็งในการชี้แนะแก่นิสิตนักศึกษาฝึกสอน

@ ปัจจุบันสถานที่
แหล่งเรียนรู้ต่างๆในประเทศไทยมีเพียงพอหรือยัง
มีแหล่งเรียนรู้จากประเทศอื่นๆที่น่าสนใจและคิดว่าประเทศไทยควรนำมาเป็นแบบอย่างได้ที่ใดบ้าง

  ที่จริงเรามีแหล่งเรียนรู้อยู่มากมาย  ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ในกระทรวงที่เกี่ยวข้องที่จะจัดกระบวนการเพิ่มเติมให้แหล่งประวัติศาสตร์
หรือแหล่งธรรมชาติเหล่านั้นกลับกลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีได้อย่างไร  ก็ต้องมีการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมเพื่อดูแลและพัฒนา  รวมทั้งสร้าง “ครูนอกโรงเรียน” ให้มากขึ้น ทั้งหมดที่กล่าวมาอีกนัยหนึ่งก็คือ สร้างตัวชี้วัดเพื่อจัดให้สถานที่ที่มีอยู่ในประเทศเรากลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้
แต่แนวทางต้องชัดเจนและบุคลากรที่เป็นผู้แนะนำต้องเป็นผู้รู้จริง

@ อยากเห็นการศึกษาไทยพัฒนาไปในทิศทางใดในอนาคต

  อยากให้ระบบและกระบวนการในการเรียนการสอนสามารถสร้างคนที่คิดเป็น
ครูที่คิดเป็น  คิดวิเคราะห์  คิดเปลี่ยนแปลง  การเป็นครูจะต้องไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาตนและพัฒนาคน
เมื่อครูทำได้  เด็กจะเปลี่ยนตามเองโดยธรรมชาติและจะทำให้การศึกษาไทยพัฒนาไปเองตามเทรนด์
หรือทิศทางของโลก 
แต่ตราบใดที่เรายังไม่สามารถ “ปรับหรือเปลี่ยน” ครูได้ เราก็คงไม่เห็นทางสว่างในการก้าวเดินของการศึกษาไทย

  การศึกษาไทยต้องเน้นกระบวนการสร้างคนที่รักความเป็นไทย  รักเพื่อนร่วมชาติและชื่นชมในความแตกต่างทั้งของคนไทยด้วยกันเองและคนจากประเทศอื่นๆ  การศึกษาไทยต้องสร้างประชาชนที่รู้จักคิดเป็นอย่างมีระบบ 
สร้างองค์ความรู้ที่เกิดจากการรวบรวมข้อเท็จจริงและความเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน 

สรุปก็คือ ช่วยกันชี้แนะแนวทางให้กับผู้เป็นครูปัจจุบัน
และช่วยกันพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังจะมาเป็นครูก่อนแล้วทุกอย่างที่ดีๆ อย่างที่เราไม่คาดว่าจะเกิดและเปลี่ยนก็จะค้นพบทางเพื่อนำประเทศไทยไปสู่สหัสวรรษใหม่ได้อย่างสวยและสง่างาม
สรุปด้วยสโลแกนสั้นๆ Smart Teens Smart Teachers Smart Thailand

Categories: Interview