กิตติรัตน์ หนุน รัฐบาล คสช. สานต่อนโยบายรับจำนำดูแลเศรษฐกิจประเทศ

12 มกราคม 2558


วันนี้ มองเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร?

กิตติรัตน์ : วันนี้เศรษฐกิจชะลอตัว หรือการจับจ่ายใช้สอยเริ่มฝืดเคือง
เกิดมาจากหลายปัจจัย อาจจะแบ่งได้คร่าวๆออกเป็นปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก
ปัจจัยภายในก็เช่น การระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายของภาคครัวเรือน
รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนที่เลื่อนออกไปเพราะความไม่แน่ใจเรื่องสภาวะเศรษฐกิจ
ส่วนปัจจัยภายนอกก็ได้แค่การที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว
การส่งออกที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น
รวมถึงการท่องเที่ยวที่เติบโตติดลบอันเนื่องมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจและคู่ค้าสำคัญและสภาวะทางการเมืองในประเทศ


การที่สิทธิพิเศษทางศุลกากร หรือ GSP กับสหภาพยุโรปได้หมดลง
ตรงนี้กระทบเราอย่างไรบ้าง และภาครัฐควรรับมืออย่างไร?

กิตติรัตน์ : เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา สิทธิพิเศษทางศุลกากร หรือ “จีเอสพี” ที่เราเคยได้รับนั้นได้หมดอายุลงไป
เพราะประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น 3 ปีติดต่อกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่รัฐบาลที่แล้ว
คือรัฐบาลของท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ได้เร่งเจรจาข้อตกลงเสรีทางการค้าหรือ FTA กับยุโรป เพื่อจะให้ออกมาทันกับจีเอสพีที่จะหมดอายุลงไป
และการเจรจาก็เดินหน้าไปด้วยดีด้วย
แต่เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสียก่อน ก็เลยทำให้การเจรจาสะดุดหยุดลง
เพราะอียูได้ประกาศระงับการเจรจาข้อตกลงเสรีทางการค้ากับไทยจนกว่าประเทศจะกลับสู่สภาวะที่เป็นประชาธิปไตย
ก็เลยทำให้มีสินค้าหลายรายการจากไทยจะส่งออกไปแข่งขันในตลาดยุโรปได้ยากขึ้น
เพราะกำแพงภาษีที่ได้รับการผ่อนผันได้หมดลง และไม่มีเอฟทีเอมารองรับได้ทัน
ตรงนี้ผู้ส่งออกก็คงไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากทำใจยอมรับปัญหา

ในส่วนนี้ผมคิดว่าสิ่งที่ภาครัฐน่าจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงเรื่องมาตราการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินบาท
ผมไม่ได้บอกให้ไปแทรกแซงจนบิดเบือนกลไกตลาด
แต่ให้ดูแลให้เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก อีกทั้งในสภาวะนี้ราคาพลังงานในตลาดโลกก็ปรับตัวลงมาก
ถ้าหากเราได้ดูแลค่าเงินให้อ่อนตัวลงสักนิด
นอกจากจะไม่กระทบกับราคาพลังงานเมื่อแปลงมาเป็นบาทมากนัก
ก็สามารถช่วยผู้ส่งออกให้ส่งออกได้มากขึ้นอีกด้วย
ในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมการในระดับคณะทำงานภายในประเทศของเราให้เตรียมความพร้อมที่สุด
เมื่อสภาวะการเมืองกลับสู่สังคมประชาธิปไตย ก็จะสามารถบรรลุข้อตกลง FTA กับทางยุโรปได้ในทันที


รัฐบาลควรจะทำอย่างไรเพื่อสร้างความมั่นใจ
และความชัดเจนในเรื่องของทิศทางเศรษฐกิจ
?

กิตติรัตน์ : ผมคิดว่าการบริหารสภาวะเศรษฐกิจ แบบ “แบบมีส่วนร่วม” มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
กล่าวคือการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชนนั้น โดยเฉพาะในส่วนของสภาหอการค้า
สภาอุตสาหกรรม และภาคส่วนอื่นๆ
เพราะการหารือร่วมกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้นจะส่งผลต่อการสร้างความมั่นใจ
กับภาคเอกชนและภาคผู้บริโภค เมื่อเห็นความชัดเจนของทิศทางของเศรษฐกิจประเทศว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

การบริหารเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมตรงนี้
ผมไม่ได้หมายถึงแค่องค์กรธุรกิจใหญ่ๆเท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกภาคส่วน
ตั้งแต่พี่น้องที่ทำงานหาเช้ากินค่ำผู้มีรายได้น้อย พี่น้องเกษตร
หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องชาวนาที่มีกว่า 4 ล้านครอบครัว
ซึ่งเป็นประชากรส่วนมากของประเทศเรา ถ้าเราไม่ดูแลราคาสินค้าเกษตรให้เหมาะสม
เขาจะเอาเงินที่ไหนมาจับจ่ายใช้สอย
ภาคเอกชนเองก็ต้องเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้คือฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่
เขาเป็นลูกค้าของภาคเอกชนอีกที ถ้าราคาสินค้าเกษตรไม่ดี ลงทุนเพาะปลูกไม่มีผลกำไร
เขาจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อของท่าน
ฉะนั้นการดูแลเรื่องสินค้าเกษตรจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ไม่ใช่แค่การช่วยเหลือชาวนาหรือเกษตร
แต่เป็นการดูแลเศรษฐกิจของประเทศให้มีความยั่งยืนเหมาะสม


มองเรื่องนโยบายจำนำยุ้งฉางอย่างไร?

กิตติรัตน์ : ในส่วนของนโยบายใดก็ตามที่เป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
ผมก็ไม่ติดใจอะไรถ้าหากจะมีการนำไปสานต่อ อย่างนโยบายจำนำข้าวเปลือก
หรือที่พยายามจะเรียกว่า “สินเชื่อชะลอการขาย” นั้น โดยหลักการและวัตถุประสงค์เหมือนกับนโยบายจำนำข้าว
กล่าวคือเป็นการช่วยเหลือพี่น้องชาวนา นอกจากจะไม่ขัดข้อง
ผมจะยังก็ขอให้กำลังใจรัฐบาลในการเดินหน้านโยบายนี้ต่อไป
และขอยืนยันว่าเป็นนโยบายที่ดี
เพราะมีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือพี่น้องชาวนาไม่ต่างกัน

Categories: Interview