คำแถลง ยิ่งลักษณ์ คัดค้านโต้แย้งปิดคดีจำนำข้าว ไม่เคยโกงปล่อยปละละเลยทำให้โครงการจำนำข้าวเสียหาย

นางสาวยิ่งลักษณ์
ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่
28
แถลงคัดค้าน โต้แย้งคำแถลงปิดสำนวนและรายงานการไต่สวนพร้อมความเห็นของคณะกรรมการ
ป.ป.ช. ต่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
วันที่ 22 มกราคม 2558

  เรียนท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติดิฉันนางสาวยิ่งลักษณ์
ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

  ดิฉันมาวันนี้ เพื่อมาแถลงปิดคดี  ในเรื่องที่ถูกกล่าวหา  เพื่อยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของดิฉัน
และเพื่อขอความเป็นธรรม ต่อสภาแห่งนี้ ดิฉันเข้าใจดี ถึงดุลยพินิจ
ที่เป็นเอกสิทธิ์ และเป็นอิสระของสมาชิกแต่ละท่านในการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้  ดิฉันเพียงหวังว่า  ทุกท่านจะได้ใช้ดุลยพินิจด้วยความถูกต้อง
เที่ยงธรรม เป็นประจักษ์ต่อสาธารณชน และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ 
โดยไม่จำยอมต่อการชี้นำของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

  ก่อนอื่น ดิฉัน
ขออนุญาตชี้แจงต่อสภาฯแห่งนี้ว่า 
ในวันที่ดิฉันมาแถลงเปิดคดีนั้น
ดิฉันได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว 
ในรายละเอียดครบถ้วน
ทั้งยังได้จัดเตรียม 
และแจกเอกสารข้อมูลสนับสนุน 
ที่ตอบทุกข้อสงสัย

  ดังนั้น
ในขั้นตอนของการตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการนั้น 
ดิฉัน เห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์ 
ต่อการพิจารณาของสภาฯ  หากผู้ที่ปฏิบัติงานในหน้าที่  คือ
อดีตรัฐมนตรีที่เคยรับผิดชอบโดยตรงต่อโครงการนี้ 
จะได้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม และตอบข้อซักถามของท่านสมาชิก

  ทั้งนี้ 
เป็นไปตามหลักบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลดิฉัน ที่ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรี 
จะเป็นผู้กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน 
ส่วนรัฐมนตรีจะเป็นผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนให้นโยบายนั้นเป็นจริง  ซึ่งในการดำเนินการตัดสินใจต่างๆ
ก็เป็นไปในรูปแบบของคณะกรรมการ  จึงทำให้
รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รับรู้และรับทราบ ข้อเท็จจริง 
และสามารถที่จะมาชี้แจง ต่อสภาฯแห่งนี้ 
ได้อย่างสมบูรณ์

  ในขณะเดียวกัน  ข้อบังคับของสภาฯ 
ก็ได้เปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงตอบคำถาม ของกรรมาธิการ  ดิฉัน จึงได้มอบหมายให้อดีตรัฐมนตรีหลายท่าน  มาตอบคำถามต่างๆ  ซึ่งการมอบหมายดังกล่าว  ดิฉันมีความจริงใจ 
ที่จะทำให้สมาชิกเข้าใจในรายละเอียดของโครงการ  ไม่ได้มีเจตนาเป็นอื่น

  ดิฉัน ขอเริ่มด้วยการโต้แย้งว่า  รายงานและสำนวนพร้อมความเห็น  ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
รวมทั้งการแถลงเปิดและปิดคดี 
และการตอบข้อซักถามของผู้แทนคณะกรรมการ ป.ป.ช.  มีข้อสังเกตอันเป็นข้อพิรุธ
ที่ไม่สมควร ให้ท่านสมาชิกนำรายงาน 
และสำนวนพร้อมความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
มาเป็นเหตุผลในการถอดถอนดิฉันในคดีนี้ได้ 
ดังนี้

  1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดแล้ว ไม่อาจถอดถอนได้
เหลือเพียง  “พ.ร.บ.  ป.ป.ช.  ซึ่งไม่มีรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจไว้

  สำหรับประเด็นเรื่องการ “ถอดถอน”
ดิฉัน ขอยืนยันในคำโต้แย้ง ที่ดิฉันได้แถลงคัดค้าน
คำแถลงเปิดสำนวนของ ป.ป.ช. ว่า  รัฐธรรมนูญ
พุทธศักราช 2550 ได้ยกเลิกไปแล้ว 
ดังปรากฏในรายงานที่ระบุในข้อกล่าวหาว่า มีพฤติการณ์ส่อว่า จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  หรือกฏหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช
2550 มาตรา 270 และมาตรา 178

  รวมถึงคำแถลงของ ป.ป.ช.
ที่ระบุไว้เช่นเดียวกัน

  ดิฉัน ขอเรียนต่อสภาฯแห่งนี้ว่า
การถอดถอน  ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ที่จะนำไปสู่การตัดสิทธิ  ในการดำรงตำแหน่งใดๆ ทางการเมืองของดิฉัน
เป็นเวลา 5 ปี ถือเป็นการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของดิฉัน
มีที่มาจากมาตรการตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักไทย ทั้งฉบับ
2540 และฉบับ
2550 โดยลำดับ

  จึงจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญ
บัญญัติ  ให้อำนาจไว้ จะอาศัยเพียง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย 
การป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2542 แต่ประการเดียว
โดยปราศจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่รองรับ  เป็นเรื่องที่จะกระทำไม่ได้
การดำเนินคดีเพื่อถอดถอนดิฉัน จึงไม่สามารถดำเนินการได้และหากดำเนินการต่อไป  ก็จะไม่เป็นธรรมต่อตัวดิฉัน
และไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม

2.ถอดถอนซ้ำซ้อน

  ดิฉันขอยืนยัน
ในสิ่งที่ดิฉันได้กล่าวไว้ ในวันแถลงเปิดคดี ว่า ดิฉันไม่เหลือตำแหน่งอะไร
ที่จะให้ถอดถอนอีกแล้ว การดำเนินการที่ทำอยู่ ถือเป็นการถอดถอนที่ซ้ำซ้อน ไม่ถูกต้องในข้อกฎหมาย
และไม่เป็นธรรม

  ทั้งนี้ เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ที่ 9/2557 ซึ่งได้วินิจฉัยให้สถานะความเป็น นายกรัฐมนตรี”
ของดิฉัน สิ้นสุดลง
ตามรัฐธรรมนูญ
พ.ศ. 2550 มาตรา 182 วรรค 1 วงเล็บ 7 ซึ่งรัฐธรรมนูญ ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
แม้ผู้แทนคดีของ ป.ป.ช. จะได้พยายามอธิบาย ต่อที่ประชุมสภาฯแห่งนี้
ในทางตรงกันข้ามก็ตาม  ป.ป.ช.
จึงไม่มีอำนาจส่งเรื่องมาให้แก่สภาฯแห่งนี้ เพื่อดำเนินการถอดถอนดิฉันอีก
เพราะจะถือเป็นการกระทำผิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เสียเอง

3. การกล่าวที่บิดเบือน ในเรื่องระยะเวลาการดำเนินคดี ของดิฉัน โดยอ้างว่า
ใช้เวลาไต่สวนคดีดิฉัน 1 ปี 10 เดือน
นั้น ไม่เป็นความจริง

  ในเรื่องนี้ ดิฉัน
จำเป็นที่ต้องแสดงให้สภาฯแห่งนี้เห็นว่า
การกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ดังนี้

  ประเด็นแรก
การแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้  ใช้เวลาเพียง
21 วัน

  ดิฉัน ขอแสดงหลักฐานที่สำคัญ คือ
คำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่
27/2557ลงวันที่ 28
มกราคม 2557 ที่ว่า

  คณะกรรมการ ป.ป.ช.
ได้มีการประชุมครั้งที่
539-7/2557 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557
มีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริง โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ
เป็นองค์คณะในการไต่สวน และมี นายวิชา มหาคุณ 
เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนการไต่สวนคดีถอดถอนของดิฉัน

  ซึ่งคำสั่งนี้ ไม่มีข้อความใดๆ
ที่ระบุถึงการดำเนินคดีถอดถอน  และคดีอาญา
กับตัวดิฉัน  ไปเกี่ยวข้องกับคดีระบายข้าว
ของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

  ต่อมาอีก  2 วัน คณะกรรมการ ป.ป.ช.
ได้มีหนังสือถึงดิฉัน ลงวันที่ 31 มกราคม 2557 ในเรื่องการไต่สวนดิฉัน และการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ เป็นองค์คณะ
ในการไต่สวน 
ซึ่งรวมทั้งคดีอาญาและคดีถอดถอนเข้าด้วยกัน

  ดังนั้น กระบวนการไต่สวนดิฉัน
จึงเริ่มนับตั้งแต่ วันที่
28 มกราคม 2557 ต่อมา
ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557
ดิฉันได้รับหนังสือ ลงนามโดย
นายวิชา มหาคุณ แจ้งให้ดิฉันไปรับทราบข้อกล่าวหา ภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 ทำให้เห็นได้ว่า นับตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม จนถึงวันที่
19 กุมภาพันธ์ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหนังสือถึงดิฉัน ให้ไปรับทราบ
ข้อกล่าวหา ใช้เวลาเพียง 21 วัน

  และหลังจากนั้นอีก 80 วัน
ป.ป.ช. ก็มีมติชี้มูลความผิดดิฉัน รวม 101 วัน หรือเพียง 3 เดือนเศษเท่านั้น  ซึ่งไม่ใช่ 1 ปี 10 เดือน ตามที่ ป.ป.ช.
กล่าวอ้าง

4.
คำกล่าวของ นายวิชา มหาคุณ ได้ชี้นำให้สภาฯ แห่งนี้ และผู้ที่รับฟังทั่วไปไขว้เขว
และเข้าใจว่า  ดิฉันกระทำความผิด
ทั้งๆที่เนื้อหาข้อเท็จจริงเหล่านั้น หลายประเด็นไม่ได้อยู่ในสำนวนนี้เลย

  ในโอกาสนี้ ดิฉันจะขอกล่าว
เฉพาะข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานตามที่ปรากฏ ดังนี้ เช่น

4.1
กรณี ข้าวหาย

  นายวิชา มหาคุณ ได้กล่าวหาดิฉัน  ในปาฐกถาพิเศษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2557
ซึ่งเนื้อหาเป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย และชี้นำต่อสังคมว่า
ข้าวในโครงการรับจำนำข้าว จำนวน 2 ล้านตัน ในปี 2555 ได้หายไปแล้ว

  การกล่าวหาเช่นนี้
เพราะต้องการทำให้สาธารณะชนเข้าใจผิด ว่า ดิฉัน และรัฐบาลปล่อยปละละเลย
ทำให้ข้าวหายไป และพยายามให้เกิดความเชื่อที่ว่า ดิฉันละเว้น
ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น จนต้องมีหนังสือ
ยุติหรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทั้งหมดนั้น
ไม่เป็นธรรมต่อตัวดิฉันอย่างยิ่ง และไม่พึงกระทำในฐานะที่ นายวิชา มหาคุณ เป็นกรรมการ
ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบในสำนวนคดีนี้ และเป็นผู้ที่ใช้กฎหมาย 
เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาทุกราย

  ดิฉันขอเรียนต่อสภาฯแห่งนี้  ถึงกรณีข้าวหาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีข้าวหายจำนวน
2 ล้านตัน ตามที่ผู้กล่าวหาอ้างถึงก็ดี หรือข้าวจำนวน 2.98 ล้านตัน
ที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ไม่ยอมบันทึกบัญชีก็ดีนั้น เมื่อครั้ง ป.ป.ช.
ไต่สวนในเรื่องนี้ หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ อตก. และ อคส.
ได้ยืนยันถึงความมีอยู่จริงของข้าว ทั้ง 2 กรณี

  ที่น่าเสียใจ คือ แม้ดิฉัน
จะได้นำพยานหลักฐานมาโต้แย้ง เพื่อหักล้างว่า ข้าวจำนวนดังกล่าว ไม่สูญหายไป  แต่ ป.ป.ช. กลับไม่รับฟัง

4.2 กรณี
การระบายข้าวแบบ จีทูจี

  ในข้อบังคับในคดีถอดถอน ข้อที่ 153
กำหนดให้ การพิจารณาของสภาฯ ให้ยึดสำนวนของ ป.ป.ช. ที่ส่งมาที่สภาฯ แต่ ป.ป.ช.
กลับนำ คดีระบายข้าว แบบจีทูจี 
ที่มีการกล่าวหาต่อผู้อื่น 
ซึ่งเป็นเรื่องนอกสำนวน 
มากล่าวผสมปนเป 
อยู่ในเนื้อหาคดีถอดถอนดิฉัน 
ทำให้บางท่านหลงเข้าใจไปว่า ข้อเท็จจริงกรณี ระบายข้าว แบบจีทูจี  เกี่ยวข้องกับคดีของดิฉัน

  ในประเด็นนี้ นายสรรเสริญ พลเจียก
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลง และยืนยันข้อเท็จจริง ต่อสาธารณะ โดยทั่วไป
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 ว่า
คดีระบายข้าวจีทูจีเป็นอีกสำนวนหนึ่ง
ซึ่งเรากำลังไต่สวนอยู่แต่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ 
ไม่ได้เป็นประเด็นโดยตรง 
ของผู้ถูกกล่าวหา  เพราะที่เรากล่าวหาคือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  แม้จะมีคำกล่าวหาในเรื่องนี้มาก็จริง  แต่เราไม่ได้ไต่สวน

  และเมื่อวานนี้ก็เช่นกัน
ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ก็ได้ยืนยันเช่นกันว่า
ประเด็นที่ชี้มูล นายบุญทรง เป็นคนละประเด็น
และไม่เกี่ยวกับคดีถอดถอนนี้แต่อย่างใด

  และจากเอกสารคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ก็ได้ยืนยันในสำนวน
ว่า
ในชั้นนี้ 
ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า 
ผู้ถูกกล่าวหา 
มีส่วนร่วมให้เกิดการทุจริต 
หรือสมยอมให้เกิดการทุจริต
 

4.3
กรณีรายงานอนุกรรมการปิดบัญชี ครั้งที่ 4 จำนวน 5.18 (ห้าแสนหนึ่งหมื่นแปดพัน)
ล้านบาท

  สำหรับเรื่องที่ นายวิชา
อ้างถึงการที่ปลัดกระทรวงการคลัง 
ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ได้แถลงผลขาดทุนทางบัญชี ครั้งที่
4 จำนวนประมาณ ห้าแสนล้านบาทเศษ นั้น
ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เป็นการขาดทุนตามตัวเลขดังกล่าว  เนื่องจาก ยังมีข้อโต้แย้งทางบัญชี  อีกทั้งยังมีข้าวในสต๊อคที่สามารถระบายได้อีกมาก  และสำหรับวัตถุประสงค์
การตั้งอนุกรรมการปิดบัญชี นอกจากจะแยกดูแลเรื่องข้าวโดยเฉพาะเป็นครั้งแรก  ยังมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ ธ.ก.ส.
สามารถบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควบคุมภาระหนี้สิน  ได้แก่ 
เงินต้น  ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายต่างๆ
ในการบริหารโครงการ  ไม่ใช่การปิดบัญชี
กำไร
–ขาดทุน ในเชิงธุรกิจ
และไม่ใช่เรื่องค่าเสียหายแต่ประการใด 

  และหากท่านสมาชิกจะได้ให้ความเป็นธรรม  ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีครั้งใด  ที่รายงานจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชี
มีความเห็นให้ยุติโครงการรับจำนำข้าวเลย

4.4
กรณี การแจ้งความของปลัดกระทรวงพาณิชย์ คนปัจจุบัน

  ในการที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์  ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กองปราบปราม  ที่นายวิชา นำมาแถลงต่อสภาฯ
ล้วนเป็นการดำเนินคดี ตามสัญญาที่มีอยู่เดิม
ซึ่งเป็นเงื่อนไขตามสัญญาที่รัฐบาลดิฉันได้กำหนดไว้ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อรัฐไว้แล้ว
โดยกำหนดตัวผู้รับผิดชอบ คือ เจ้าของโกดัง เซอร์เวเยอร์ และเจ้าของโรงสี  ซึ่งเป็นกรณีทำนองเดียวกันกับ 276 คดี
ที่มีการดำเนินคดีไปแล้ว ในขณะที่ดิฉันดำรงตำแหน่งอยู่  ซึ่งดิฉันขอเน้นย้ำว่า
ไม่สามารถนำมาชี้ถึงความเสียหายในคดีนี้ได้ 
เนื่องจากสัญญาเหล่านั้น ได้ระบุผู้รับผิดชอบไว้อย่างชัดเจนแล้ว
จึงไม่ใช่ความเสียหายต่อรัฐ แต่ประการใด

4.5
กรณี หนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ส่งมายังนายกรัฐมนตรี รวม 4 ครั้ง
ดิฉันขอเรียนว่า
หนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน 3 ฉบับแรก 
ไม่ปรากฏในรายงาน และความเห็นของ ป.ป.ช. แต่อย่างใด  และชัดเจนว่า  หนังสือทั้ง 3 ฉบับ  ก็ไม่มีครั้งใด ที่มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลดิฉัน  ต้องยุติ 
หรือ  ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว

  สำหรับหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
ฉบับที่ 4 ฉบับลงวันที่ 30 มกราคม 2557 เรื่อง การตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล  ที่มีถึงดิฉัน 
พร้อมข้อเสนอแนะว่า
ให้พิจารณาทบทวน
และยุติการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลต่อไป”
ก็เป็นเวลาภายหลังที่ดิฉัน
ได้ประกาศยุบสภาฯไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และอยู่ในฐานะรัฐบาลรักษาการ 
ซึ่งไม่สามารถดำเนินการใดๆที่มีผลผูกพันต่อรัฐบาลหน้า
รวมถึงโครงการรับจำนำข้าวด้วย

  อีกทั้งช่วงเวลาคดี ที่ ป.ป.ช.
กล่าวหาดิฉัน  อยู่ระหว่างวันที่
9 ตุลาคม
2555 ถึง
วันที่ 9 ธันวาคม 2556

  ดังนั้น หนังสือ สตง. ฉบับวันที่ 30 มกราคม
2557 จึงอยู่นอกสำนวน

5.
การตัดพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา

  การที่ ป.ป.ช. อ้างว่า  ได้ให้ความเป็นธรรม  โดยไม่ตัดพยานหลักฐานฝ่ายดิฉัน  ซึ่งไม่เป็นความจริง  เพราะในข้อเท็จจริง  ดิฉันเสนอพยานบุคคลเพียง 18 ราย
แต่ ป.ป.ช. ตัดพยานเหลือเพียง 6 รายที่ ป.ป.ช. รับฟังในชั้นไต่สวน  มิใช่เสนอเป็นพันราย  ดังที่ นายวิชา กล่าวอ้าง
สำหรับพยานที่ถูกตัดไปนั้น 
ก็ล้วนเกี่ยวข้องในประเด็นสำคัญทั้งสิ้น เช่น ดร.โอฬาร ไชยประวัติ
ที่จะนำสืบหักล้าง รายงาน
TDRI และเหตุผลการรับจำนำข้าว ในราคา
15,000 บาท และการรับจำนำทุกเม็ด

  นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์
นักวิชาการอิสระ ที่จะนำสืบหักล้าง รายงาน
TDRI
และข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ในเรื่อง โครงการรับจำนำข้าวว่า  ไม่ได้บิดเบือนกลไกตลาด

  นายสุเมธ เหล่าโมฬาพร
กรรมการผู้จัดการ  บริษัทค้าข้าวรายใหญ่ ที่จะนำสืบ  เพื่อหักล้างข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.  ในประเด็นความเหมาะสม
ของการกำหนดราคารับจำนำข้าว 15
,000 บาท ว่ามีความเหมาะสม  และไม่บิดเบือนกลไกตลาด
รวมทั้งโครงการรับจำนำข้าว ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ข้าวไทยเสียแชมป์

  นายพิชัย ชุณหวชิร นายกสภา  วิชาชีพบัญชี 
แห่งประเทศไทย ในขณะนั้น ที่จะนำสืบเพื่อหักล้าง ในประเด็นหลักเกณฑ์  การตีราคาสินค้าคงเหลือ และการคิดค่าเสื่อมของพืชผลการเกษตร

  นายสมชัย สัจจพงษ์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ในขณะนั้น
ที่จะนำสืบหักล้างในประเด็น 
ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ของโครงการรับจำนำข้าว  และประเด็น ตัวเลขขาดทุนทางบัญชีที่ไม่ถูกต้อง

  ดิฉันเห็นว่า  ข้ออ้างในการตัดพยานหลักฐานทั้งหมดที่ดิฉันกล่าวถึง  เป็นการปิดกั้นโอกาสของดิฉัน
ที่จะนำพยานหลักฐานเข้าสู่สำนวนการไต่สวน 
และเมื่อเป็นเช่นนี้  ท่านสมาชิกจะเชื่อถือ  และยึดสำนวน 
และความเห็นของ ป.ป.ช. ได้อย่างไร

6. ป.ป.ช. ใช้พยานที่เป็นปฏิปักษ์

  ดิฉันเห็นว่า โครงการรับจำนำข้าว  เป็นโครงการขนาดใหญ่
เกี่ยวข้องกับคณะทำงานหลายฝ่าย 
แต่เพราะความเร่งรีบ  รวบรัด
ในการไต่สวนคดีนี้  จึงพบว่าพยานของ ป.ป.ช.
มีเพียง 7 ปากเท่านั้น  และในจำนวนดังกล่าว
มีพยานบุคคลถึงจำนวน 4 ปาก ที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองโดยตรง  ต่อรัฐบาลดิฉัน ทั้งสิ้น

  อาทิเช่น  นายอภิสิทธิ์ 
เวชชาชีวะ และ นายวรงค์ เดชกิจวิกรม ซึ่งเป็นฝ่ายค้านทางการเมือง  สมควรหรือไม่ 
ที่บุคคลดังกล่าวจะเป็นพยานให้กับ ป.ป.ช. ในคดีนี้

  นายนิพนธ์ พัวพงศกร จาก TDRI ซึ่งเป็นผู้รับจ้างทำงานวิจัยให้กับ
ป.ป.ช. เอง และยังมีชื่อไปร่วมประชุมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อริเริ่ม
และดำเนินโครงการประกันรายได้อีกด้วย

  นายระวี รุ่งเรือง  ประธานเครือข่ายชาวนาไทย
ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เพื่อร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส.
ในการประท้วงและขับไล่รัฐบาลของดิฉัน 
และจากสำนวน ป.ป.ช. ระบุว่า  บุคคลดังกล่าว  เพิ่งเริ่มทำนา  เมื่อปี พ.ศ. 2549  และไม่มีนาเป็นของตนเอง  แต่เป็นนาเช่า เพียงจำนวน 50 ไร่
เท่านั้น

  ส่วนพยานที่เหลืออีกจำนวน 3 ปาก
ก็เป็นพยานในประเด็น ที่ข้อโต้แย้งยังไม่ยุติ ทั้งสิ้น

  เรียน ท่านประธานและท่านสมาชิกฯ
ลำดับจากนี้  ดิฉันขอเน้นประเด็นที่สำคัญ  โดยสรุป ดังนี้

  1. ประเด็นที่กล่าวหาว่า  โครงการรับจำนำข้าวเกิดผลเสียหาย
ทำให้ต้องมีการใช้ภาษีของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  มีความรั่วไหล มีผลเสียต่อภาระการคลังต่อประเทศ

  โครงการรับจำนำข้าวนั้น  ไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียหาย  แต่ในทางกลับกัน ก่อให้เกิด  ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในเรื่องของรายได้
ของผู้มีรายได้น้อย คือ ชาวนาผู้ผลิตข้าว และนำไปสู่การใช้จ่ายที่ต่อเนื่อง
เป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

  สำนักเศรษฐกิจมหภาค
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง คำนวณว่า โครงการรับจำนำข้าว ฤดูการผลิต
2554/55 และ 2555/56 สามารถทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น
เป็นจำนวน 308
,000 (สามแสนแปดพัน) ล้านบาท และ 315,000
(สามแสนหนึ่งหมื่นห้าพัน) ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็นกว่า 2.7% ของ
จีดีพี ของประเทศในแต่ละปี 

  ในการดูแลชาวนาตามโครงการรับจำนำข้าว
มีการใช้งบประมาณไม่เกิน 5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี  ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาะสมไม่เกินเลย  สามารถดูแลเกษตรกรจำนวนกว่า 23%
ของประชากรทั้งประเทศ 
ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น 
และยังสามารถส่งผลต่อการหมุนเวียนที่ดีของเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย

  หนี้สาธารณะของประเทศ  ยังอยู่ในระดับเพียง 45% ของ จีดีพี  ซึ่งต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้ที่ 60%
จึงสรุปได้ว่า วินัยการคลังของรัฐบาลช่วงที่ดิฉันเป็นนายกรัฐมนตรี มีความเข้มแข็ง และมั่นคง

  ดิฉัน ขอยืนยันอีกครั้งว่า  การดูแลโครงการ ที่ใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของประชาชนไม่ใช่เรื่องความเสียหาย

  และเมื่อถามว่า จะเอาเงินมาจากไหน
ก็สามารถตอบได้ว่า เมื่อเศรษฐกิจดี รายรับของรัฐบาลก็ดีด้วย
รายได้ภาษีก็เพิ่มขึ้น  ท่านจะเห็นได้ว่า
ในช่วงที่รัฐบาลดิฉันรับผิดชอบอยู่นั้น 
นอกจากจะไม่มีการเพิ่มประเภทภาษีแล้ว กลับลดอัตราภาษีที่สำคัญลงในหลายกรณี
เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล  โดยรายได้ของรัฐบาล  ยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย  อย่างต่อเนื่อง

2. ประเด็นที่ว่าโครงการรับจำนำข้าว “ขาดทุน” และเสียหายมากขึ้น แล้วทำไมยังทำโครงการต่อ

  การปิดบัญชีของคณะกรรมการปิดบัญชีฯนั้น
ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ ทั้งในเรื่อง ปริมาณสต็อก 
ที่ไม่รวมจำนวนที่ อตก. และ อคส. ยืนยันว่า มีอยู่จริง จำนวนถึง 2.98
ล้านตัน และราคา ที่ใช้ในการคำนวณมูลค่าสต็อก 
ซึ่งบางท่านอาจเห็นว่า 
ต่อให้แตกต่างกัน ก็ยังมีผลที่อาจเรียกว่า
การขาดทุนทางบัญชีสะสม” ที่สูงอยู่ 

  ดิฉันขอชี้แจงว่า 
การที่นำตัวเลขของแต่ละปีการผลิตมาบวกรวมกันหลายๆปี  แล้วเรียกว่า การขาดทุนทางบัญชีสะสม นั้น
เป็นสิ่งที่ไม่สมควร ถ้าหากนำตัวเลขการปิดบัญชี 3 ปีมาเทียบ ก็ต้องนำเอาประโยชน์ที่พี่น้องชาวนาได้รับ 

รายได้เพิ่มขึ้น 
และประโยชน์เศรษฐกิจ ในช่วง
3 ปี มาเทียบด้วย
ซึ่งจะพบว่า “ประโยชน์ที่ได้รับโดยรวม” มีมูลค่าสูงกว่ามาก

  ดิฉันขอเรียนยืนยัน  ตามที่ได้แถลงเปิดคดีไว้ว่า  โครงการรับจำนำข้าว
มีคุณประโยชน์คุ้มค่าต่อประเทศชาติ  มากกว่าเงินที่นำมาใช้ในโครงการ 
จึงไม่มีเหตุผลใดๆ 
ที่จะยุติโครงการ

3.
ประเด็นที่กล่าวว่า 
รัฐบาลไม่จริงใจกับการป้องกัน 
และการปราบปรามการทุจริต
  ขอยืนยันว่า  รัฐบาลดิฉัน 
มีความจริงใจต่อการปราบปรามทุจริต โดยจะเห็นได้ว่า ได้มีการกำหนดมาตรการ  เงื่อนไข 
ที่เป็นกลไกในการดำเนินการอย่างชัดเจน 
กล่าวคือ

  1. การตั้งคณะอนุกรรมการ  เพื่อควบคุม ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานทุกขั้นตอน
จำนวน 12 คณะ

  2. มีการกำหนดมาตรการ 13 มาตรการ
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ 
และปราบปรามการทุจริต

  3.
มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสต๊อกข้าวพร้อมกันทั่วประเทศ

  4.
มีการตั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีเฉพาะเรื่องข้าว 
เป็นครั้งแรก

  5.
มีแต่งตั้งคณะกรรมการาปราบปรามทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว  และสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ 276 คดี

  6. เพื่อไม่ให้มีการรั่วไหล  จึงให้มีการจ่ายเงินเข้าบัญชีชาวนาโดยตรง  ผ่านธนาคาร 
ธ.ก.ส.

  7.
และยังมีการรณรงค์เพื่อปราบปรามการทุจริตในภาพรวม ตามที่แถลงเป็นนโยบายไว้ต่อรัฐสภา
อีกด้วย

4.
ต่อข้อกล่าวหาที่ว่าการตั้งราคารับจำนำข้าวสูงกว่าตลาด  และจำนำทุกเม็ด  ทำให้ข้าวทั้งหมดอยู่ในมือรัฐบาล  เป็นการผูกขาด 
และเกิดการทุจริต

  โครงการรับจำนำข้าว
ไม่ได้บิดเบือนกลไกตลาดข้าวตามที่มีการกล่าวหา ด้วยเหตุผลดังนี้

  1. ชาวนานำข้าวมาจำนำในโครงการ  โดยเฉลี่ยประมาณครึ่งหนึ่ง  ของผลผลิตรวมในประเทศ  ฉะนั้น 
จึงยังมีข้าว  อยู่ในตลาดอีกกว่าครึ่ง
ซึ่งเอกชนสามารถค้าขายได้ตามปกติ

  2.
ข้าวในส่วนที่เข้ามาอยู่ในมือของรัฐบาล 
ประมาณครึ่งหนึ่งของผลผลิตนั้น 

ก็นำออกระบายตามระบบการประมูล 
และยุทธศาสตร์การระบายข้าว 
ของกระทรวงพาณิชย์ 
โดยมุ่งที่จะให้มีการแข่งขันในเรื่องราคา
และมีพ่อค้าเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก 
จึงไม่ใช่การผูกขาด

  3. โครงการรับจำนำข้าว  เป็นการทำให้ตลาดข้าวโลก  มีความเข้มแข็ง  และเป็นธรรมมากขึ้น ไม่ใช่การทำลายกลไกตลาด
และยังส่งผลให้ราคาข้าวไทยในตลาดสูงขึ้น

  จากการดำเนินการดังกล่าว จะเห็นได้ว่า
รัฐบาลไม่ได้ผูกขาด ตลาดการค้าข้าว

และไม่ได้ก่อให้เกิดการทุจริตแต่อย่างใด

5.
กรณีข้าวหาย ข้าวปลอมปน ข้าวเสื่อม ไม่ใช่ความเสียหายต่อรัฐ

  รัฐบาลดิฉัน โดย กขช. ได้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันความเสียหายไว้
โดยกำหนดตัวผู้รับผิดชอบไว้อย่างชัดเจน ตามลักษณะของสัญญา 

  ซึ่งสอดคล้องกับรายงานคณะอนุกรรมการปิดบัญชี  ของนางสาวสุภา ที่ระบุว่า หากมีการสูญหาย
หรือสินค้าเสื่อมคุณภาพ 
เพราะความบกพร่อง 
หน่วยงานดังกล่าว จะต้องชดใช้ให้แก่รัฐ จากหลักประกันที่วางไว้  ในอัตราร้อยละร้อย ของมูลค่าสินค้าในคลังสินค้า

  ท่านประธานสภา และสมาชิกสภานิติบัญญัติ ดิฉันขอใช้เวลาสรุปอีกครั้ง  เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า  ดิฉันได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง  เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ดังนี้

  1. การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวนั้น  เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  ไม่มีการละเลย 
ต่อนโยบายปราบปรามการทุจริต แต่ประการใด

  2. การดำเนินการโครงการ  เป็นไปในรูปแบบของ มติคณะรัฐมนตรี 
และมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) 
โดยไม่ได้ดำเนินการโดยลำพังในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี หรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ

  3. ดิฉันและคณะรัฐมนตรี 
ไม่เคยละเลยปัญหาการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  เพราะเป็นวาระแห่งชาติ  เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ  ดิฉันได้ให้นโยบาย  ที่จะป้องกัน 
ปัญหาการทุจริต ในโครงการรับจำนำข้าวว่า 
ให้เป็นไปโดยโปร่งใสและตรวจสอบได้

  4. คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ  ได้มีมติ 13 ข้อ  เพื่อเป็นมาตรการป้องกันการทุจริต
และมีการออกมาตรการเสริม และมาตรการเพิ่มเติม 
เพื่อป้องกันการทุจริต รวมทั้งตั้งคณะทำงาน เพื่อตรวจสอบปัญหาการทุจริต

  มีการตั้งคณะทำงาน  ในการตรวจนับสินค้าคงเหลือทั่วประเทศ
ภายหลังได้รับทราบรายงาน คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ รวมทั้งคำสั่งตั้งคณะทำงาน (ที่มีร้อยตำรวจเอก
เฉลิม อยู่บำรุง) เข้ามาตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีการดำเนินคดีไปแล้ว

  และมีคำสั่งคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555  แต่งตั้ง
พลตำรวจตรี ธวัช  บุญเฟื่อง  ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กระทรวงพาณิชย์  และ กระทรวงการคลัง ซึ่งมี นางสาวสุภา เป็น
ผู้แทนเข้าร่วมตรวจสอบด้วย

  5. ในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว  เมื่อมีปัญหาในการปฏิบัติ  ก็ได้มี
การปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าวเปลือก 
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น 
และเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย เช่น ปรับราคารับจำนำข้าวเปลือก จากราคาตันละ 15
,000
บาท เป็นราคาตันละ 12,000 บาท  หรือจากเดิม 
ที่ไม่จำกัดวงเงิน
ในการรับจำนำ เป็นการจำกัดวงเงิน ไม่เกินครัวเรือนละ 500
,000
บาท  รวมทั้ง ยังรักษา กรอบวงเงินรับจำนำข้าว
ณ วันที่
31 ธันวาคม 2556 ไว้ที่ 500,000 ล้านบาท  ตามที่ปรากฏใน
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556

  6.ภายหลังจากที่มีรายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี
ครั้งที่ 2  ก็ได้ตั้ง 

นายวราเทพ  รัตนากร 
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะ
ของส่วนราชการต่างๆ เพื่อการดำเนินโครงการ
รับจำนำข้าว ให้เกิดประสิทธิผล 
ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556  ต่อมา เมื่อวันที่
18 มิถุนายน 2556 คณะรัฐมนตรี ได้รับทราบรายงานว่า ในรายงานของอนุกรรมการปิดบัญชี
ยังมีข้อเท็จจริงที่แตกต่าง 
เกี่ยวกับผลขาดทุนในโครงการ 
เกี่ยวกับ ปริมาณข้าวในสต็อก ที่ อตก. อคส. ยืนยันความมีอยู่จริงของข้าว
จำนวน 2.98 ล้านตัน ซึ่งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ 
ไม่นำมาคิดคำนวณ  และวิธีคิดคำนวณ
มูลค่าสินค้าคงเหลือ  ใช้สมมติฐานในราคาที่ต่างกัน

  7.
นอกจากการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ดำเนินการในส่วนรัฐบาลแล้ว
ดิฉันและคณะรัฐมนตรี ก็มิได้ละเลย 
เพิกเฉย  ต่อข้อแนะนำ ข้อชี้แนะ
จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.
,  สตง. , คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ
, การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และกระทู้ถาม
ของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แต่อย่างใด ดังนี้

  ประการแรก  เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ได้มีหนังสือลงวันที่ 7 ตุลาคม 2554 (ฉบับที่ 1) โดยรัฐบาลได้รับหนังสือ  ดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2554 อันเป็นเวลาที่รัฐบาลได้ประกาศ
เริ่มดำเนินการโครงการไปแล้ว และ ป.ป.ช. ทราบดีว่า การมีหนังสือให้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว  และให้นำนโยบายประกันความเสี่ยงด้านราคามาใช้  ซึ่งเป็นเวลา 
หลังจากที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554
และได้เริ่มดำเนินโครงการไปแล้ว

ต่อมา
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือฉบับที่ 2 ลงวันที่ 30 เมษายน 2555 ถึงรัฐบาล ว่า
หากรัฐบาลยังคงต้องดำเนินการต่อไป 
เนื่องจากเป็นนโยบายหลักที่สำคัญที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน  และแถลงต่อรัฐสภา 

ดังนั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่า  ป.ป.ช. ก็ทราบดีว่า โครงการรับจำนำข้าว  เป็นสัญญาประชาคม  และมีผลผูกพันตามรัฐธรรมนูญ  ที่ให้รัฐบาลต้องปฏิบัติ

สำหรับข้อเสนอแนะต่างๆ  ของ ป.ป.ช. นั้น รัฐบาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับที่รัฐบาลดำเนินการอยู่แล้ว  จึงได้มีการกำชับให้ปฏิบัติ  และมีหนังสือแจ้ง ป.ป.ช. ลงวันที่ 22 มิถุนายน
2555 ว่าคณะรัฐมนตรี  มีมาตรการ
และกลไกในการควบคุมดูแล  และมีระบบตรวจสอบ
เพื่อป้องกันการทุจริต  และมีการแต่งตั้ง
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง 
รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น  เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ  ป้องกัน 
และปราบปรามการทุจริต  ในโครงการรับจำนำข้าว
อีกด้วย

8. เมื่อคณะอนุกรรมการปิดบัญชี  รายงานมาทุกครั้ง  ได้มีการนำรายงานเสนอ  ต่อ กขช.
เพื่อพิจารณาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 
ให้ดำเนินการ และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบทุกครั้ง
โดยคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติกำชับ 
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 
ปฏิบัติตามแนวทาง  ที่เสนอโดย กขช.

9.
เกี่ยวกับข้อมูล การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยฝ่ายค้าน เมื่อวันที่
25-27 พฤศจิกายน 2555 การตั้งกระทู้ถามเมื่อวันที่  18 เมษายน 2556
และการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อตัวดิฉัน เมื่อ 26 และ
27 พฤศจิกายน 2556

รัฐบาล  ไม่ได้นิ่งนอนใจ  ต่อข้ออภิปรายของฝ่ายค้าน  เพราะได้มีคำร้องถอดถอนดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีด้วย

ดิฉันจึงได้มีคำสั่งให้  ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่อง
การระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ และตั้งคณะกรรมการ
โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์
(นางวัชรี วิมุกตายน) เป็นประธานฯ และ
พยายามลดราคาจำนำข้าว จาก ตันละ 15,000 บาท เหลือ 12,000 บาท แต่ได้รับการต่อต้าน 
จากหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน มีจำกัดวงเงิน รับจำนำข้าวแต่ละราย จากจำนำทุกเม็ด
เป็นจำกัดวงเงิน รายละไม่เกิน
500,000 บาท และต่อมาก็ได้ปรับลดเป็น
รายละ 350,000 บาทและสุดท้าย  ก็ได้ปรับเปลี่ยน รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการรับจำนำ  และระบายข้าว
เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบในที่สุด

หากจะให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลดิฉันแล้ว  จะเห็นได้ว่า นับแต่มีการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว  จนวาระที่รัฐบาลสิ้นสุดลง
ดิฉันในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ
ไม่เคยละเลยเพิกเฉย ในการตรวจสอบฝ่ายปฏิบัติ ให้ดำเนินโครงการ
โดยไม่ให้เกิดการทุจริตและเสียหาย

อย่างไรก็ตาม
ดิฉันยังมีข้อสงสัยในสาระสำคัญ 
เกี่ยวกับการกล่าวหาดิฉันว่า เพราะเหตุใดโครงการรับจำนำข้าว
ที่มีการดำเนินโครงการในรูปคณะบุคคล โดยเป็นมติคณะรัฐมนตรี
และมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยที่ดิฉัน
ไม่ได้ดำเนินการโดยลำพัง ในฐานะนายกรัฐมนตรี หรือในฐานะประธาน กขช. 

แต่เหตุใด
ดิฉัน จึงถูกดำเนินคดีโดยลำพัง ทั้งที่รัฐธรรมนูญและกฎหมาย มิได้บัญญัติความรับผิดชอบ  เช่นนั้น การดำเนินคดีดิฉันโดยลำพังนั้น
สามารถกล่าวได้ว่า เป็นวาระซ่อนเร้น อยู่ภายใต้การดำเนินคดี  ที่ไม่เป็นธรรมต่อดิฉัน  เป็นวาระทางการเมือง ที่เห็นชัดว่า เมื่อมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ให้พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 แล้ว ในวันรุ่งขึ้น วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 จะเป็นการบังเอิญหรือไม่ ที่
ป.ป.ช. ชี้มูลต่อทันที

และวันนี้
ฝ่ายกรรมการ ป.ป.ช. ก็มาอ้างความบังเอิญอีกเช่นกัน  ที่มาชี้มูลคดีระบายข้าวจีทูจี
เพื่อชี้นำสังคมและกดดันสภา เพื่อให้เห็นว่า ดิฉัน มีพฤติกรรม ส่อ
ไปในทางทุจริต

  ท่านประธานและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
จะเห็นได้ว่า ดิฉันได้ปฏิบัติหน้าที่
นายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติอย่างครบถ้วน
เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ  ทุกประการ

  และดิฉัน  ขอปฏิเสธข้อกล่าวหา  ทุกข้อกล่าวหา จากคณะกรรามการ
ป.ป.ช. และขอคัดค้าน โต้แย้ง  คำแถลงเปิดและปิดสำนวน ตลอดจนรายงาน  ความคิดเห็นของคณะกรรมการ ปปช.

  ดิฉันไม่เคยคิดโกง ไม่ปล่อยปะละเลย  หรือมีพฤติกรรมใดๆ  ที่กระทำส่อไปในทางทุจริตเลย แม้แต่น้อย  อย่างที่ ป.ป.ช.กล่าวหา และที่ดิฉัน
ต้องมาขอความเป็นธรรมในที่นี้ไม่เพียงเพื่อตัวดิฉัน แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ
ดิฉันอยากที่จะขอโอกาส ให้คนจนได้มีชีวิตที่ดีขึ้นเหมือนคนอื่นๆ  ให้ชาวไร่ชาวนา  ได้ลืมตาอ้าปากให้ผู้ที่เป็นผู้ผลิตอาหาร  ได้รับรายได้ที่เป็นธรรม คุ้มค่าเหนื่อย
และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

  ปัญหาต่างๆในปัจจุบัน
เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อประโยชน์ในระยะยาวเราช่วยเกษตรกรชาวนา
ผู้ด้อยโอกาสอย่างเร่งด่วน ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ
เราจะให้ประเทศชาติของเราชาวนาของเรา หลังหักไม่ได้เราจึงไม่ควรที่จะปล่อยให้เขาเหล่านั้น  ใช้ชีวิตตามยถากรรม  เพราะหนี้สิน และไม่พอจะกินเลย

  โครงการรับจำนำข้าวเป็นระยะแรกเริ่มที่จะทำให้ชาวนามีรายได้เพียงพอ  อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้ใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำ
ของผู้ใช้แรงงานทั่วไป  และในระยะต่อไปก็ต้องเร่งดำเนินการ
ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาพันธุ์ข้าว เกษตรโซนนิ่ง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ  อย่างเป็นระบบ ให้เกษตรกรปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพของดิน
ชลประทาน และ ภูมิอากาศ การใช้เทคโนโลยี
GPS และ ดาวเทียม เพื่อสำรวจพื้นที่เพาะปลูก
และการเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือการแก้ปัญหาราคาสินค้า ในระยะยาว และยั่งยืน

  และเชื่อว่า เมื่อมาตรการต่างๆ
สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามที่ตั้งใจแล้ว ราคาสินค้าเกษตรของไทยทั้งระบบ
ก็จะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น
อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น

  หากเราไปตัดโอกาสชาวนา เพราะมองทุกอย่าง
เป็นเรื่องของกำไรขาดทุน และปัญหาที่เกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าว แม้จะมีบ้างก็อยู่ในระดับปฏิบัติ
ขั้นตอนใด พื้นที่ใด ก็ต้องแก้ปัญหาเป็นจุดๆ ไป รวมถึงการบังคับใช้กฏหมาย  และเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเอากับผู้ที่รับผิดชอบ
เพื่อไม่ให้รัฐเสียหาย 
แต่กลับเหมารวมว่าผิดทั้งโครงการและต้องยกเลิกทั้งโครงการ  และเป็นทุจริตเชิงนโยบายจนทำให้ชาวนาส่วนใหญ่
มีผลกระทบ แล้วเราจะชดเชยอย่างไร ให้กับโอกาสของชาวนา ที่สูญเสียไป

  ดิฉันจึงขอเรียนย้ำอีกครั้งว่า เราอย่ามองเหรียญ  เพียงด้านใดด้านหนึ่ง โดยไม่มองให้ครบทุกมิติ
ทั้งด้านรายได้  และโอกาสที่หายไปของชาวนา
ตลอดจนประโยชน์ของเศรษฐกิจประเทศโดยรวม 
และการลดช่องว่าง ระหว่างคนรวย คนจน 
ความเหลื่อมล้ำ  ในสังคม

  หากเทียบโครงการรับจำนำข้าว กับการแจกเงินโดยตรง
ที่นอกจากจะไม่ส่งเสริมอาชีพปลูกข้าวแล้ว กลับเป็นการให้คนรอรับความช่วยเหลือ  เพราะเพียงเพื่อบอกว่า ไม่ยอมที่จะขาดทุนกับคนจน

  ดังนั้น  การคิด เช่นนี้  เมื่อไหร่ พี่น้องชาวนาจะยืนบนขาตัวเองได้

  ดิฉัน 
เป็นเด็กที่เติบโตในต่างจังหวัด ได้รับโอกาสที่จะพัฒนาตนเอง  ได้รับการศึกษา จนมีอาชีพ  และประสบความสำเร็จ  จนขันอาสาเข้ามาทำงาน เพื่อรับใช้ประเทศชาติ และดิฉันก็ได้รับโอกาส  จากพี่น้องประชาชน เลือกให้ดิฉันเข้ามาทำงาน ดิฉันตั้งใจที่จะทำงานให้กับบ้านเมือง
อย่างสุดความสามารถและด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

  ที่สำคัญ ดิฉันไม่ต้องการเห็นประเทศชาติ
มีความขัดแย้งทางการเมือง 
จนต้องใช้วิธีการทำลายล้างที่ไร้หลักการ และขาดความเป็นธรรม อย่างที่ดิฉันประสบอยู่

  ดิฉันพร้อมเสมอ ที่จะพิสูจน์ตนเองในการทำงาน
แต่ดิฉันก็ต้องขอความเป็นธรรม เพื่อที่ทุกคนจะได้เห็นว่า บ้านเมืองมีกฎหมาย  และการบังคับใช้ที่เป็นธรรม อันเป็นพื้นฐานสำคัญ  ของความเป็นนิติธรรม และเพื่อให้การปฏิรูป
และความปรองดองที่แท้จริง  เกิดขึ้น  อันจะนำมาซึ่งความสุข สันติ มาสู่พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ขอบคุณค่ะ

Categories: Interview