สัมภาษณ์พิเศษ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 28 เรื่อง บทบาทของสตรีไทยในทศวรรษหน้า

ในฐานะที่อดีตนายกรัฐมตรี
และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย มีมุมมองต่อบทบาทสตรีไทยในวันนี้
อย่างไรบ้าง?

ยิ่งลักษณ์ : จะเห็นว่าที่ผ่านมา
บทบาทของสตรีในประเทศไทยแม้จะดีขึ้นเป็นลำดับ
แต่สัดส่วนของผู้หญิงที่เข้าไปทำงานในภาค การเมือง ภาคการบริหารราชการแผ่นดิน
ภาคธุรกิจ และ ภาคแรงงาน ยังถือว่าน้อยอยู่มาก

อย่างไรก็ตามการพัฒนาบทบาทสตรีในช่วงก่อนดิฉันเข้ามาเป็นรัฐบาล
มีกลุ่มสตรี และ องค์กรหลากหลายกลุ่ม ยังต้องการกลไกในการเชื่อมโยงและส่งเสริมการพัฒนาสตรีที่มีประสิทธิภาพ ดิฉันจึงได้เสนอนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
เพื่อเป็นกลไกสำคัญเพื่อขับเคลื่อนไปสู่รูปธรรมที่ชัดเจน โดยดำเนินการครอบคลุมด้วย 4 วัตถุประสงค์ คือ 1) เป็นแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ สำหรับสร้างอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดี 2)
เฝ้าระวัง แก้ไขปัญหา พิทักษ์สิทธิ์ และช่วยเหลือสตรีด้อยโอกาส 3)
ส่งเสริม บทบาทสตรี สร้างภาวะผู้นำ และ 4) สนับสนุน
โครงการ ที่เป็นการ แก้ปัญหา และพัฒนาสตรี ดังนั้นการสานต่อให้กลไกเดินไปอย่างต่อเนื่อง
จึงนับเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง


มีคนมองว่าปัจจุบันเราก็เห็นผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กร
ทั้งภาครัฐและเอกชน แม้แต่นักการเมือง
หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีผู้หญิงเราก็เคยมีมาแล้ว
ตรงนี้แปลว่าปัญหาเรื่องความเท่าเทียม-ความเหลื่อมล้ำ ระหว่างชายและหญิง
หมดไปแล้วหรือเปล่า?

ยิ่งลักษณ์ : เชื่อว่าในปัจจุบันนี้
ยังคงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในสตรีอยู่มาก ในภาพรวม
ส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพ ปัญหาการศึกษา ปัญหาขาดโอกาส ไม่มีอาชีพ รายได้ไม่เพียงพอ
ส่งผลให้ไม่มีเวลาพัฒนาศักยภาพตัวเอง เพราะมุ่งแก้ปัญหาตนเองและครอบครัว
จึงต้องการความช่วยเหลือจากสังคมในทุกๆมิติเพื่อสร้างโอกาสให้สตรีนั้นสามารถยืนบนลำแข้งตัวเองได้เสียก่อน
แล้วค่อยพัฒนาศักยภาพด้านอื่นๆควบคู่กันไป

นอกจากนี้ยังมีปัญหาอีกด้านหนึ่งคือทัศนคติที่มองคนไม่เท่ากัน
การมองสตรีเพศเป็นเพียงวัตถุทางเพศนั้น ส่งผลให้เกิดความรุนแรง สตรีถูกกดขี่ข่มเหงเพิ่มขึ้น
เป็นปัญหาของสังคมที่น่าเป็นห่วง ซึ่งต้องช่วยกันปรับทัศนคติและค่านิยมที่ถูกต้องต่อไป
เพื่อให้สังคมของเราเป็นสังคมน่าอยู่ มีความเมตตาช่วยเหลือเพศที่อ่อนแอกว่า นั่นไม่ได้หมายถึงแค่สตรีอย่างเดียวแต่หมายรวมถึงเด็ก
ผู้พิการและผู้สูงอายุอีกด้วย 

ที่ผ่านมา รัฐบาลดิฉันได้เน้นนโยบาย
OSCC
(One Stop Crisis Center) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม
ซึ่งเป็นศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อเป็นการช่วยเหลือปัญหาสังคม ใน 4 เรื่องหลัก คือ 1) การตั้งครรภ์ไม่พร้อม(คุณแม่วัยใส) 2) การค้ามนุษย์ 3) การใช้แรงงานเด็ก 4) การใช้ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาขบวนการการค้ามนุษย์ในปัจจุบันที่ประเทศไทยควรแก้ไขโดยเร่งด่วน” 


มองว่าสังคมไทยยังต้องมีการพัฒนาปรับปรุง หรือต้องกระบวนการ
กลไกใด ที่จะช่วยเสริมสร้างบทบาทของสตรีให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้มากกว่าที่เป็นอยู่บ้าง?

ยิ่งลักษณ์ : ดิฉันเห็นว่าเราต้องช่วยกันสร้างกลไกที่ทำให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของสตรี
ถือเป็นเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างแรกที่ต้องทำให้เกิดขึ้น เพื่อส่งผลให้สตรีได้รับโอกาสมากขึ้น
มีการเปิดพื้นที่ที่จะทำให้สตรีได้แสดงออกซึ่งความสามารถ 
เพื่อไม่ให้ความแตกต่างในเรื่องเพศมาทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม
เพราะสตรีเราก็มีความสามารถ และที่สำคัญคือมีความละเอียดอ่อน
และความมุ่งมั่นตั้งใจ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นเช่นกัน


สุดท้ายท่านอยากฝากอะไรถึงพี่น้องสตรีไทยเนื่องในโอกาสวันสตรีสากลบ้าง?

ยิ่งลักษณ์ : อยากบอกสตรีไทยทุกคนว่า
ให้มองอนาคตข้างหน้าคือโอกาสของเรา
ไม่ควรให้เรื่องความแตกต่างทางเพศมาเป็นปัญหาและอุปสรรค
เพื่อเราจะได้ใช้ศักยภาพและพลังที่มีอยู่ในตัวเราทุกคนในการต่อสู่ฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลาย
เพื่อเราจะได้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ ดิฉันเชื่อว่าทุกท่านทำได้คะ
ดิฉันพร้อมเป็นกำลังใจและขออยู่เคียงข้างสตรีไทยทุกคนค่ะ

Categories: Interview