บทบรรณาธิการ : ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง – ชะลอหรือยกเลิก ประชาชนคือผู้ให้คำตอบ
ไม่แน่ใจว่า
การที่รัฐบาลยอมถอยหลังการออกภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
จะเป็นแนวคิดที่ออกมาเพื่อ “โยนหินถามทาง”
หยั่งกระแสประชาชนหรือไม่ เพราะหากยังจำกันได้
วันแรกๆ ที่นโยบายถูกนำเสนอออกมา
ทั้งรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงต่างยืนกรานเป็นเสียงเสียงแข็งว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำจริงๆ
โดยอ้างหลักการ อ้างเหตุผลความจำเป็นต่างๆ นานา แต่เมื่อกระแสสังคมเริ่มออกมาตั้งคำถามมากเข้า
จนกลายเป็นกระแสคัดค้านไม่เห็นด้วย รัฐบาลก็ดูจะไม่มีทางเลือก ต้องยอมชะลอการออกมาตรการนี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
นับว่าเป็นครั้งแรกในรัฐบาลนี้ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศสามารถลุกขึ้นแสดงความเห็นของตัวเอง
ได้อย่างอิสระ
ถึงแม้ช่องทางการแสดงออกจะจำกัดอยู่มาก แต่การแสดงจุดยืนและเหตุผลของตัวเองในพื้นที่สาธารณะง่ายๆ
โดยเฉพาะในโลก social
media ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การรับฟังเสียงประชาชน
หรือประชาพิจารณ์
จึงยังคงศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอไม่ว่าการปกครองของประเทศจะเปลี่ยนรูปแบบไปแบบไหนก็ตาม
แต่อย่างไรก็ตาม
เมื่อดูจากภาพรวมแล้ว ถือว่าเรื่องนี้ยังไม่น่าจบลงง่ายๆ เพราะรัฐบาลแต่ให้ “ชะลอการพิจารณาในเรื่องนี้ออกไปก่อน” โดยอ้างผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน
หากจัดเก็บภาษีนี้ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยในปัจจุบัน โดยนายกรัฐมนตรีเองก็ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้ง
รวมทั้งเปรียบเทียบการจัดเก็บกับต่างประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมเอาไว้สำหรับการใช้ในอนาคต
และที่ชัดเจนมากที่สุด
ก็คือการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสมหมาย ภาษี ที่ออกมายืนยันชัดเจนว่า
“…ยังดีที่เป็นการชะลอร่างกฎหมายภาษีฉบับนี้ ไม่ใช่การยกเลิก
ทำให้มีโอกาสที่จะเสนอกฎหมายนี้ได้ใหม่ เมื่อทุกอย่างนิ่งแล้ว
ในฐานะผู้ผลักดันกฎหมายนี้มองว่าจะพยายามเสนอภายในรัฐบาลชุดนี้
เพราะที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติดังนั้นสามารถทำอะไรในสิ่งที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งทำไม่ได้…” และได้กล่าวย้ำอย่างชัดเจนว่า “..ผมยืนยันว่าจะผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไป
เพราะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปภาษีของประเทศ…”
ดังนั้นประเด็นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
คงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นนโยบายที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนทุกระดับชั้นในสังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อเสนอของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนรัฐบาลเองจะยังไม่สะเด็ดน้ำทางความคิดเสียทีว่า
ตกลงภาษีนี้ จะจัดเก็บเพื่อวัตถุประสงค์อะไรกันแน่ จะเอาเงินภาษีที่ได้ไปทำอะไร
ทำไมต้องมาจัดภาษีซ้ำซ้อนเพิ่มเติมจากภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดิน
และสุดท้ายจะจัดเก็บในอัตราเท่าไหร่กันแน่
พรรคเพื่อไทยมองว่า
ก่อนที่รัฐบาลจะคิดเรื่องเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
รัฐบาลจะต้องอธิบายเหตุผลกับประชาชนในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ให้ชัดเจนเสียก่อน
ประการแรก อะไรคือหลักการและเหตุผลของการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง?
เรื่องนี้
หากย้อนกลับไปดูเหตุผลของรัฐบาล ก็จะพบสับสนของแนวคิดเชิงนโยบาย
เพราะทางกระทรวงการคลังเองก็ดูเหมือนจะอ้างว่า เนื่องจากมีปัญหาในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่
และภาษีโรงเรือนและที่ดินื จึงต้องออกมาเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม
กระทรวงการคลังอ้างว่า
การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ได้คำนวณจากราคาปานกลางที่ดินในปี 2521-2524
ทำให้มูลค่าฐานภาษีต่ำเกินไป จึงต้องเรียกเก็บภาษีที่ดินเพิ่มเติม และเห็นเมื่อฐานภาษีต่ำเกินไปจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการสะสมที่ดินเพื่อทำกำไร
ส่วนภาษีโรงเรือนและที่ดิน ก็มีปัญหาจากอัตราภาษีที่สูงเกินไปคือ 12.5% จึงทำให้เกิดการหลบเลี่ยงภาษี
และมีระเบียบการลดหย่อนยกเว้นภาษีให้กับโรงเรือนเจ้าของที่อยู่อาศัยเองและโรงเรือนปิดว่าง
ทำให้รายได้จากฐานภาษีแคบ มีผู้เข้าระบบภาษีได้เพียง 50%
ประเด็นนี้มีทางแก้ไม่ยาก
ไม่ต้องคิดเก็บภาษีที่ดินใหม่ให้มันวุ่นวาย ในส่วนภาษีบำรุงท้องที่ก็แค่ “ปรับราคาประเมินเสียใหม่” โดยใช้ฐานราคาที่ดินปีล่าสุดเท่าที่จะทำได้เป็นฐานคำนวณ
ส่วนภาษีโรงเรือนและที่ดินที่คิดว่าจัดเก็บในอัตราที่สูงไป
ก็แค่ “ปรับลดลงในอัตราที่คิดว่าเหมาะสม”
ส่วนที่บอกว่าข้อยกเว้นมันเยอะ ทำให้เก็บภาษีได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็แค่ปรับปรุงหรือยกเลิกข้อยกเว้นต่างๆ
เสียให้ทันสมัย ก็จะสามารถจัดเก็บภาษีในอัตราที่สอดคล้องกับราคาในปัจจุบัน
มีความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งแค่นี้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมาคิดเก็บภาษีที่ดินเพิ่มเติมให้มันซ้ำซ้อนวุ่นวาย
ประการที่สอง
อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างควรเป็นเท่าไหร่กันแน่
ในเรื่องนี้
ต้องย้อนกลับไปฟัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ออกมาแถลงว่า “…กฎหมายนี้จะยังไม่มีผลบังคับใช้ทันที แต่จะมีระยะเวลาเว้นการใช้กฎหมายประมาณอีกอย่างน้อย
2 ปี เพื่อจัดทำแผนที่สำหรับการประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วประเทศทุกแปลง โดยใช้ดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศเข้ามาช่วย
เพื่อให้มีแม่แบบในการตีราคาที่ดินที่ชัดเจนเป็นมาตรฐาน โดยใช้การประเมินราคาของกรมธนารักษ์เป็นเกณฑ์…”
หากวันนี้ยังไม่สามารถจัดเก็บภาษีที่ดินได้ในเวลานี้
เพราะต้องรออีกอย่างน้อย 2 ปี เพื่อจัดทำระบบแผนที่ภูมิสารสนเทศของบ้านและสิ่งปลูกสร้างเสร็จเรียบร้อยก่อน จึงจะสามารถปรับราคาที่ดินและระบบการประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างใหม่ทั้งประเทศได้
ถามว่า หากฐานข้อมูลยังไม่พร้อม ท่านจะเอาฐานข้อมูลภาษีจากไหนมาคิด?
ดังนั้น
อัตราภาษีที่วันนี้ท่านกำลังคิดจะเก็บจากบ้านที่ไม่เกินราคา 1 ล้าน หรือ 5 ล้านในอัตราเท่านั้นเท่านี้
วันนี้จะเร่งสรุปอัตราภาษีได้อย่างไร? และจะทำไปทำไม? ในเมื่อฐานข้อมูลภาษีที่จะใช้คำนวณเพื่อกำหนดอัตราภาษีที่ดิน
ยังต้องรออีก 2 ปีข้างหน้ากว่าจะเสร็จเรียบร้อย เรื่องนี้คงไม่สาย
ที่จะรอจนกว่าแผนที่ฐานของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในทั้งประเทศจะจัดทำเสร็จเรียบร้อยเสียก่อน
จึงจะนำข้อมูลที่ได้มาศึกษาว่า มีบ้านทั้งหมดที่ต้องพึงประเมินกี่หลัง
มีมูลค่าที่ดินเท่าไหร่ สิ่งปลูกสร้างเท่าไหร่
คนที่พักอาศัยในบ้านมีรายได้พึงประเมินเท่าไหร่
จากนั้นถึงสามารถหาราคาเฉลี่ย และตัวแปรจากรายได้ของเจ้าของที่ดินทั้งประเทศมาคำนวณให้ถูกหลักการของฐานภาษี
ว่าควรจะคิดในอัตราใดกันแน่ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็มาตั้งอัตราขึ้นเองตามใจชอบ
และก็เปลี่ยนแปลงอัตราภาษีไปได้ตลอดเวลาที่มีคนท้วงติง
ประการที่สาม การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เก็บ “แบบเดียว” กับประเทศที่พัฒนาแล้วจริงหรือไม่
ก่อนหน้านี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “…ประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีถึงราว 40 ประเทศที่เก็บภาษีที่ดิน
โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งคนไทยไม่เคยเสีย จึงมีการมองว่า
ทำไมต้องเสียค่าเช่าบ้านตัวเอง ซึ่งไม่อยากให้มองเช่นนั้น และหากอยากให้ไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
ก็ควรจะต้องเสียภาษี ไม่เช่นนั้นก็เป็นไม่ได้…”
จริงอยู่ที่มีหลายๆ
ประเทศทั่วโลกเก็บภาษีที่ดินกัน โดยการจัดเก็บภาษีที่ดิน
หรือ property
tax ในต่างประเทศ ใช้แนวคิดการเก็บภาษีตามมูลค่า หรือ ad
valorem tax ซึ่งตรงนี้ถือว่าคิดในแบบเดียวกัน
แต่ที่ประเทศอื่นๆ
เค้าคิดต่างจากรัฐบาลไทยก็คือ ไม่มีประเทศไหน
อยู่ๆ จะลุกขึ้นมาเรียกเก็บภาษีที่ดินจากบ้านคนธรรมดาที่อยู่อาศัยมานานแล้ว โดยอ้างเรื่องการจัดเก็บภาษีในอัตราที่ไม่เป็นธรรม
และอ้างว่าเพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน เพราะปกติการเก็บภาษีที่ดินในต่างประเทศ
มักจะจัดเก็บก็ต่อเมื่อเกิด “การสร้างมูลค่าเพิ่ม”
ของที่ดินนั้นๆ เช่นการขายเปลี่ยนมือ
หรือการนำที่ดินออกมาให้เช่า ถึงตอนนั้น
ใครมีที่ดินราคาแพง ก็จ่ายภาษีแพงกว่าคนอื่น อันนี้เข้าใจได้และยุติธรรมดี เรื่องนี้หากรัฐบาลอยากจะเก็บภาษีแบบเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
ก็ควรทำตามหลักการที่เค้าทำ ไม่ใช่เอามาอ้างว่าทำแบบสากล
แต่มาดัดแปลงเพื่อคิดตุกติกเอาแบบศรีธนญชัย
ประการที่สี่ การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่
รัฐบาลได้ประกาศชัดเจนถึงนโยบายปฏิรูปโครงสร้างภาษี
โดยอ้างว่า จะจัดเก็บภาษีที่ดิน
ซึ่งเป็นการเก็บภาษีจากคนรวยที่มีทรัพย์สินอยู่ในครอบครองเยอะๆ
เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
คำถามสำคัญก็คือ
หากต้องการจะลดความเหลื่อมล้ำ ทำไมไม่ทำให้มันตรงจุด? ทำไมมาเก็บภาษีจากบ้านคนธรรมดา และทำไมไม่จัดเก็บภาษีที่ดินว่างเปล่าในอัตราที่แพงกว่าภาษีบ้านคนธรรมดา?
หากต้องการลดความเหลื่อมล้ำจริง
รัฐบาลควรมุ่งเป้าไปเรียกเก็บภาษีที่ดินจาก “เฉพาะ” บ้านหลังที่สอง (และบ้านหลังต่อๆ ไป) หรือที่ดินมรดก หรือที่ดินที่ซื้อไว้เพื่อเก็งกำไร (ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง)
แต่ไม่ใช่คิดจะมาเรียกเก็บภาษีจากบ้านที่อยู่อาศัยของคนธรรมดาทั้งประเทศ
และที่ดินที่ใช้เพื่อทำการเกษตรและที่ดินเพื่อการพาณิชย์
ที่ดินว่างเปล่า
ไม่มีการใช้ประโยชน์ รัฐบาลชุดนี้เตรียมจะจัดเก็บภาษีในอัตรา 0.05% ของราคาประเมิน
และถ้าหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่า
ที่ดินว่างเปล่านั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็นเวลาติดต่อกัน
ก็ให้เพิ่มภาษีอีกหนึ่งเท่าในทุกๆ 3 ปี (แต่จำนวนภาษีที่เสียต้องไม่เกิน 2%
ของราคาประเมิน)
ถามว่าอัตรา
0.05% มันน้อยไปหรือเปล่า?
มันขาดความจริงใจไปเยอะ หากพูดว่า
ต้องการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการเก็บภาษีคนรวยให้มากกว่าคนจน เพราะที่ดินแบบนี้
ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของเจ้าของที่ดินรายใหญ่ทั้งนั้น
ทำไมไม่ตั้งอัตราภาษีที่ดินว่างเปล่าให้สูงกว่านี้ ยิ่งมากำหนดเพดานให้ไม่เกิน 2%
แบบนี้ คนทั่วไปก็ดูออก ว่ามาตรการภาษีที่ดินนี้ ออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อใคร
และเป็นการลงโทษใคร คนกลุ่มไหนกันแน่
แนวคิดในการเรียกเก็บภาษีที่ดินจากพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในอัตราที่ต่ำเท่ากับอัตราที่เก็บจากที่อยู่อาศัย
ที่ทำการเกษตร หรือเพื่อการพาณิชย์ เป็นแนวคิดที่สวนทางกับแนวคิดการบริหารเศรษฐกิจสมัยใหม่ เพราะรัฐควรมีบทบาทกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดจากที่ดินทุกตารางเมตร
เพราะหากใครมีที่ดินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
บุคคลนั้นจะต้องเสียภาษีแพงกว่าคนอื่น ซึ่งจะเป็นการบังคับกลายๆ
ให้นำที่ดินออกไปหาประโยชน์หารายได้ในทางอื่นๆ แทน
ซึ่งรัฐจะได้เงินจากส่วนนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และโดยรวมเมื่อเศรษฐกิจรากฐานเริ่มหมุนได้ ก็จะเกิดการสร้างงาน
สร้างรายได้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น ระบบเศรษฐกิจของประเทศโตขึ้น
ประชาชนมีกำลังจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สินค้าขายได้มากขึ้น แบบนี้ถือว่า win-win
กันทุกฝ่าย (เพราะยิ่งเศรษฐกิจยิ่งขยายตัว
รัฐยิ่งเก็บ VAT ได้มากขึ้นเรื่อยๆ) แบบนี้รัฐกับประชาชนจะอยู่ร่วมกันง่ายกว่าไหม?
ประการที่ห้า
หากจะลดความเหลื่อมล้ำ เหตุใดการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงเก็บภาษีจากคนรวยและคนจนในอัตราเท่ากัน
อันนี้คือความชัดเจนว่า
รัฐบาลตีโจทย์ไม่ออก ไม่เข้าใจหรือแกล้งไม่เข้าใจแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศ
เพราะกลายเป็นการออกนโยบายมา คนรวยถูกจัดเก็บภาษีในอัตราเท่ากับคนจน
อย่าลืมว่า
อัตราภาษีที่เป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
ควรสะท้อนจากระดับเงินได้ของแต่ละบุคคลด้วย
เพราะหากพิจารณาแค่มูลค่าที่อยู่อาศัยอย่างเดียวคงไม่เป็นธรรมนัก ยกตัวอย่าง ถนนซอยทองหล่อ
ถนนสาทร ซึ่งฟังเผินๆ ดูเหมือนมีแต่บ้านคนรวย คนมีฐานะ แต่อย่าลืมว่า ตามแนวริมถนนซอยทองหล่อ
มีอาคารพาณิชย์อยู่ตลอดแนวเส้นถนน และในซอยเล็กๆ ทั้งในซอยทองหล่อ และซอยของถนนสาทรก็มีบ้านเก่าๆ ซึ่งมองดูก็รู้ว่า บ้านแบบนี้ส่วนใหญ่ก็มาอยู่กันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายกว่า
30-40 ปีที่แล้ว ก่อนที่ดินแถวนั้นมันจะแพงขึ้น
สมมติว่า
ข้าราชการบำนาญซี 7 มีรายได้จากบำนาญ 30,000 บาทต่อเดือน มีที่ดินที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายบนพื้นที่
200 ตรว. ในเขตซอยทองหล่อ ราคาประเมินที่ดินล่าสุดในถนนทองหล่อปี
2555-2558 อยู่ที่ราคา 350,000 บาทต่อตารางวา
ดังนั้นเฉพาะราคาที่ดินจะมีมูลค่าสุทธิ 70,000,000 บาท หากคำนวณภาษีจากแค่ราคาประเมินที่ดินไม่รวมสิ่งก่อสร้างในอัตรา
0.1% (ตามที่เคยคิดว่าที่ดินราคาเกิน 10 ล้านบาท คิด 0.1%) ดังนั้นเขาจะต้องเสียภาษี
70,000 บาท ซึ่งหากคิดเป็นอัตราเมื่อเทียบกับรายได้ต่อปี จะเสียภาษีสูงถึง
19.44% ของรายได้ต่อปี
แต่บ้านที่อยู่ข้างๆ
กัน เนื้อที่เท่ากัน 200 ตรว. แต่คนนี้มีฐานะดีกว่า ทำงานบริษัทฝรั่ง มีรายได้
เดือนละ 200,000 บาท รวมทั้งปีมีรายได้ 2,400,000 บาท เสียภาษีที่ดินในอัตราเดียวกันคือ
70,000 บาท แต่หากคิดเป็นอัตราเมื่อเทียบกับรายได้ต่อปี
จะเสียภาษีแค่ 2.91% ของรายได้เท่านั้น
ถามว่าการคิดภาษีแบบนี้มันจะช่วยความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร เงิน
70,000
บาทเสียเท่ากัน แต่คนนึงจ่ายไปแล้วมีเงินเหลือในกระเป๋าเยอะกว่าอีกคนหนึ่งหลายเท่า
แบบนี้มันจะเรียกได้ว่า เป็นการเก็บภาษีที่เป็นธรรมได้อย่างไร
ประการที่หก
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
กระทบต่อธุรกิจรายย่อยและภาคการเกษตรได้อย่างไร
เรื่องนี้
แทบจะไม่มีใครในรัฐบาลหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญกันเลย ไม่ต้องยกตัวอย่างที่ไหนไกล เอาตัวอย่างเดิมแถวๆ
ซอยทองหล่อ ที่มีอาคารพาณิชย์ตลอดทั้งซอย พวกผู้ประกอบการรายย่อย พวกกลุ่ม SME พวกนี้ ได้ยอมกัดฟันจ่ายเงินจำนวนมาก เพื่อเซ้งห้องแถวในซอยทองหล่อ
เพียงเพราะมองเห็นว่า มันเป็นทำเลดี คิดแค่จะมาขายของ ขายอาหาร ขายก๋วยเตี๋ยวเล็กๆ
น้อยๆ พอยังชีพ จู่ๆ กลายเป็นว่า พวกเขากำลังจะถูกลงโทษจากมาตรการภาษีของรัฐบาล
เพียงแค่พวกเขามีทำเลการทำมาหากินที่มีราคาประเมินแพงกว่าชาวบ้าน หากพวกที่เซ้งอาคารมาแล้ว
20-30 ปีอยู่ๆ ก็ถูกประเมินให้เสียภาษีที่ดินเพิ่มเติม
หรือพวกที่เช่าห้องแถวมาค้าขาย
ก็คงหนีไม่พ้นที่จะถูกเรียกเก็บค่าเช่าห้องเพิ่มอย่างแน่นอน ถามว่า
แล้วมันจะช่วยให้เกิดความยุติธรรมตรงไหน ถามใครก็ดูเหมือนว่าถูกลงโทษเสียมากกว่า
แค่เรื่องเล็กๆ
ของคนในเมืองหลวง ก็ยังจะสร้างความไม่เป็นธรรมได้ขนาดนี้
ลองคิดดูหากคิดภาษีที่ดินที่ใช้ในการเกษตรของคน “ทั้งประเทศ” อะไรจะเกิดขึ้น
ชาวนาที่เป็นเจ้าของที่เอง
ทั้งๆ ที่รายได้ก็น้อยชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่แล้ว ก็ต้องมาเสียภาษีที่ดินเพิ่มเติม ชาวนาที่เช่าที่นาปลูกข้าว
ก็หนีไม่พ้นที่โดนนายทุนเจ้าของที่โขกค่าเช่าเพิ่ม ตกลงนโยบายนี้มันจะช่วยให้ลดความเหลื่อมล้ำลงได้อย่างไร
และแทนที่มันจะช่วย
“จูงใจ” ให้คนมาเสียภาษี มันกลับกลายเป็น “การลงโทษ”
ประชาชนทั่วไปทั้งประเทศ
ไม่ว่ายากดีมีจน ที่อยู่ดีไม่ว่าดีกลับถูกรัฐบาลลงโทษ โทษฐานที่มีที่ดินในทำเลที่แพงกว่าชาวบ้าน? ถูกลงโทษสำหรับการได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยสุจริต และทั้งๆ ที่ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาเป็นเวลานาน
แบบนี้ถือว่ายุติธรรมหรือไม่ ที่จะถูกลงโทษให้ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม? และถ้ากฎหมายนี้บังคับใช้แล้ว แค่อยู่อาศัยในที่ดินเดิมของตัวเอง แต่มีมูลค่าสูงขึ้นทุกปี
ก็ต้องถูกลงโทษด้วยการจ่ายอัตราภาษีแพงขึ้นทุกปีใช่หรือไม่?
ประการที่เจ็ด
เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ควรนำเงินไปพัฒนาประเทศใช่หรือไม่
การที่พลเอก
ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “…รัฐบาลจำเป็นจะต้องเดินหน้าเก็บภาษีเพื่อเป็นรายได้รัฐ
เพราะที่ผ่านมาไม่มีการเตรียมการเรื่องการดูแลภาพรวมทางเศรษฐกิจ
ทั้งด้านการส่งออกและสินค้าเกษตร ทำให้ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐในขณะนี้…”
ประเด็นการเสียภาษีที่ดินเพื่อนำเงินไปพัฒนาประเทศ
เรื่องนี้ก็ได้พยายามหาตัวอย่างจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง
สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย หรือฮ่องกง
ว่าภาษีส่วนนี้เค้าจัดเก็บกันเพื่อเอาไปพัฒนาประเทศจริงหรือไม่
คำตอบคือไม่
เพราะภาษีที่ดิน หรือ property
tax นี้ รัฐบาลท้องถิ่น หรือเทศบาล (local government or
municipal) เป็นผู้คำนวณอัตราภาษี
ประเมินและจัดเก็บในอัตราที่เหมาะสมด้วยเอง
รายได้จากภาษีที่ดิน “ไม่ได้นำไปพัฒนาประเทศ”
แต่อย่างไร แต่จะนำไปใช้เพื่อ “พัฒนาท้องถิ่น”
เช่น การทำสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ปลูกดอกไม้ตามถนน ติดไฟถนนเพิ่ม
ฯลฯ ภาษีที่นำไปพัฒนาประเทศ
ส่วนใหญ่ก็จะมาจากภาษีทางตรงและทางอ้อมตามปกติอยู่แล้ว เช่น ภาษีรายได้ส่วนบุคคล
และนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นรายได้ของรัฐบาลกลาง (federal) ที่นำไปใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินตามปกติทุกปีอยู่แล้ว
ประการที่แปด การออกนโยบายเศรษฐกิจ เหตุใดประชาชนจึงควรมีส่วนร่วม
ยิ่งมองลงไปในรายละเอียด
ยิ่งมองเห็นความสับสนในวางแผนนโยบายภาครัฐ ซึ่งสาเหตุที่สำคัญได้มาจาก การที่นโยบายที่ออกมาแต่ละเรื่อง
แต่ละความคิด ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน
เพราะเป็นการคิดนโยบายแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่คำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นหลัก
ขาดกระบวนการรับฟังความเห็นสาธารณะ (public hearing) ทั้งที่นายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นสัญญาว่า
ไทยจะกลับมาเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน แต่กระบวนการออกนโนบายที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนได้ในทุกระดับ
กลับขาดกลไกในการรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน จึงทำให้นโยบายที่เขียนออกมา
ไม่ตรงกับสภาพกาลและความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง ซึ่งเรื่องนี้ดูมุมไหน ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่า
เป็นการบริหารประเทศให้กลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว
ประการที่เก้า รัฐบาลมั่นใจแค่ไหน
ว่าเงินภาษีจำนวนมากที่เก็บได้ จะไม่นำไปอย่างผิดประเภท
หรือนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่น
สมมติหากต่อไปในอนาคต
ประชาชนส่วนใหญ่พร้อมใจที่จะเสียภาษีที่ดินให้กับรัฐบาล เพื่อนำไปพัฒนาประเทศตามที่กล่าวอ้าง
แต่กลับกลายเป็นว่า แนวคิดในการเก็บภาษีที่ดิน เกิดขึ้นเพื่อหาเงินก้อนใหม่ไปอุดเงินคงคลังที่ขาดหายไป
ที่เป็นผลจากการเก็บภาษีที่ไม่เข้าเป้า หรือนำเงินรายได้จากภาษีที่ดินไปใช้จ่ายแบบ
“ไม่รู้จักคิด” หรือเป็นงบประมาณเพิ่มให้กับบางหน่วยงาน ที่ไม่ได้มีภารกิจใดๆ
ในการพัฒนาประเทศ หรือไปจ่ายเป็นเงินเดือน สนช. หลายสิบราย ที่ตั้ง “เครือญาติ” เข้ามาเป็นผู้ช่วยทำงาน
และที่ร้ายที่สุด
คือ ถ้าเงินเหล่านี้ต้องถูกจ่ายไปกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งทุกวันนี้ ถึงแม้จะไม่มีนักการเมืองอยู่ในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติแล้วก็ตาม
ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นก็ยังดูจะไม่หมดไปง่ายๆ
แถมจะยิ่งหนักข้อเข้าไปใหญ่ เนื่องจากไม่มีกลไกและระบบการตรวจสอบตามปกติ
ถึงแม้วันนี้รัฐบาลจะชะลอการพิจารณาออกไปอย่างไม่มีกำหนด
แต่เชื่อว่าเป็นการรอให้กระแสการต่อต้าน คัดค้าน ท้วงติงทั้งหลายให้ซาไปเสียก่อน
ถึงจะมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันอย่างเงียบๆ อีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งเก้าประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาตั้งเป็นคำถามนี้
เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรออกมาตอบคำถามทั้งหมดให้สังคมคลายข้อสงสัยเสียก่อน
ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนของประเทศได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น
โดยเฉพาะนโยบายของภาครัฐที่จะออกมาบังคับใช้
และมีผลกระทบต่อประชาชนทุกคนโดยถ้วนหน้า
ดังเช่นแนวคิดการออกมาตรการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่ๆ
ก็นำเสนอขึ้นมาโดยไม่ได้รับฟังเสียงของประชาชนเสียก่อน
รัฐบาลควรเรียนรู้อารมณ์ของมวลชนจากความขัดแย้งในห้วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา
และควรเรียนรู้จากกระแสการตอบรับและปฏิเสธนโยบายของรัฐบาล “อย่างไม่เข้าข้างตัวเอง” และ “ไม่บิดเบือนข้อมูล”
ต่อสาธารณะ การไม่ยอมรับความเห็นต่าง การไม่ยอมรับข้อเสนอหรือข้อโต้แย้งทางวิชาการ
เพราะใช้อารมณ์ ใช้ความคิดของตนหรือของพวกพ้องเป็นหลักโดยไม่คิดฟังความเห็นคนอื่น ได้นำไปสู่การมองคนเห็นต่างว่าเป็นศัตรูฝ่ายตรงข้าม
ซึ่งลุกลามไปจนเกิดสภาพการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ
การปราบปรามผู้เห็นต่างการทางการเมืองอย่างไม่เท่าเทียม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดแรงต้านจากสังคมและผู้เกี่ยวข้องขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ
วันนี้
ถือว่ายังไม่สายที่รัฐบาลจะปรับกระบวนความคิด ปรับมุมมองให้เปิดกว้างมากขึ้น รัฐบาลควรเร่งทบทวนยกเลิกนโยบายและมาตรการต่างๆ
ที่เป็นการ “ลงโทษประชาชน” ด้วยการเปิดใจรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง
ไม่ใช่ฟังแต่นักวิชาการที่มีชื่ออยู่บนหอคอยงาช้าง ที่วันๆ ไม่เคยสัมผัสชีวิตความยากลำบากของชาวบ้านทั้งประเทศอย่างแท้จริง ท้ายที่สุดประชาชนก็ควรจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐ
ไม่ใช่กลายเป็นผู้ถูกลงโทษจากนโยบายภาครัฐ บทเรียนในวันนี้ได้ชี้ให้เราเห็นได้ว่า
“เสียงของประชาชน” ยังเป็นพลังที่สำคัญ
ที่จะออกมาชี้ให้เห็นว่าทิศทางการปกครองของบ้านเมืองที่ทุกคนอยากได้อย่างแท้จริงคืออะไร
ไม่ใช่แนวคิดที่กลั่นออกมาจากคนไม่กี่คน ซึ่งไม่ยึดโยงกับหลักการของประชาธิปไตยที่เน้นให้
“ประชาชนเป็นศูนย์กลาง”
***********************************
ทีมวิชาการพรรคเพื่อไทย