ชยิกา อดีตคณะทำงานจัดทำนโยบายพรรคเพื่อไทย แนะ ฟื้นเศรษฐกิจไทย คืนประชาธิปไตย ให้ประชาชน

ฟื้นเศรษฐกิจไทย คืนประชาธิปไตย ให้ประชาชน

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนทุกภาคส่วนให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ที่นับวันจะยิ่งทรุดหนักเป็นวงกว้าง และพบเห็นการวิพากษ์วิจารณ์ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันอย่างหนักหน่วง จนกลายเป็นแรงสั่นสะเทือนถึง รัฐบาล และ คสช. อย่างเห็นได้ชัด

ที่หนักไปกว่านั้น คือ กรณีที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียหรือ ADB (Asian Development Bank) รายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ที่ผ่านมาว่า ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย ล้วนเติบโตในอัตราที่สูงกว่าเราหลายเท่าตัว เช่น สิงคโปร์ เติบโต ร้อยละ 2.9 อินโดนีเซีย ร้อยละ 5 เวียดนาม ร้อยละ 6 มาเลเซีย ร้อยละ 6 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 6.1 ขณะที่กัมพูชาเศรษฐกิจขยายตัวถึง ร้อยละ 7 ลาว ร้อยละ 7.3 และ เมียนมาร์ ร้อยละ 7.8 จึงเป็นคำถามถึงขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่รั้งท้ายเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาค?

ซึ่งทำให้หลายคนที่เคยเห็นดีเห็นงามกับการรัฐประหาร อาจต้องคิดทบทวนครั้งใหญ่ว่าแท้จริงการยึดอำนาจจะสามารถ “คืนความสุข” ให้ประชาชนได้จริงหรือไม่ ?

เพราะความสุขที่สำคัญที่สุดด้านหนึ่งของประชาชน คือพื้นฐานความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลโดยตรงถึงปากท้อง !

การส่งออก ซึ่งเป็นเฟืองหลักทางเศรษฐกิจ เพราะประมาณร้อยละ 70 ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ถูกกำหนดโดยการส่งออก แต่เฟืองหลักที่สำคัญตัวนี้กลับกำลังไม่ทำงานด้วยข้ออ้างว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยไม่สังเกตเลยว่าหากเป็นเช่นนั้นจริงเพราะอะไรประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดของเราจึงไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเดียวกันไปด้วย และเหตุใดตัวเลขเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงไม่มีอัตราที่ตกต่ำไปพร้อมกัน

ดังนั้นปัญหาเฉพาะตัวของเราที่แท้จริงคือนานาประเทศ “ขาดความไว้วางใจและความเชื่อมั่น”

อาทิ กรณีสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่แสดงท่าทีอย่างชัดเจนที่จะไม่รับซื้อสินค้าประมงจากเรา เนื่องจากไม่มีแนวทางในการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ในแรงงานประมง แต่ไม่เฉพาะกรณีนี้เท่านั้น เนื่องจากความไม่เชื่อมั่นและไม่มั่นใจกลับแฝงตัวอยู่ในสินค้าส่งออกต่างๆ แทบทุกรายการ เพราะสิ่งที่รัฐบาลผู้ซื้อในต่างประเทศมองเข้ามาที่เราคือการเห็น “รัฐบาลชั่วคราว” ที่ไม่มีวาระที่แน่นอน จนไม่สามารถกำหนดท่าทีในการเจรจาทางการค้าต่อกัน เช่นกรณี การเจรจา FTA กับยุโรปที่ต้องหยุดชะงักลง

และยังไม่รวมไปถึงความคิดทางเศรษฐกิจ การค้าแปลกๆ ที่ออกมาไม่เว้นแต่ละวันของรัฐบาล ที่ “เขย่าความเชื่อมั่น” ทั้งคนไทยและนักลงทุนต่างประเทศ เช่นแนวคิดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ยังไม่พร้อมจะอธิบายถึงความเหมาะสมและความเป็นธรรมให้เป็นที่เชื่อมั่นได้

หรือแนวคิด “ผลิตสินค้าราคาถูก” ด้วยการ “ลดปัจจัยบรรจุภัณฑ์” ซึ่งขัดหลักการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและขัดต่อพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกที่มีกำลังซื้อ ซึ่งนิยมบริโภคสินค้าที่ผ่านการสร้างมูลค่าทางอารมณ์ด้วย โดยลืมคิดไปว่าสถานะทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันเป็นรองหลายประเทศในการแข่งขันด้านราคาเพราะต้นทุนการผลิต วัตถุดิบและแรงงานที่ถูกกว่ามาก ไทยจึงจำเป็นต้องสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าในด้านคุณภาพและคุณค่าทางความรู้สึก ซึ่งย่อมรวมถึงยุทธศาสตร์ระยะยาวของสินค้าเกษตรที่เรายังคงขายแบบเทกอง-ยกเข่ง จนส่งผลกระทบเป็นปัญหาราคาตกต่ำในขณะนี้

ฟันเฟืองตัวที่สองด้านการท่องเที่ยว ที่แม้จะเป็นฟันเฟืองที่เล็กกว่าการส่งออก แต่เป็นรายได้ที่กระจายและเข้าถึงผู้ประกอบการทุกระดับได้เป็นอย่างดี แต่คงไม่สามารถฟื้นตัวจนเติบโตได้มากนักถ้ารัฐบาลยังคงกฎอัยการศึกต่อไป

เฟืองหลักที่สามด้านการบริโภคในประเทศ ที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการช่วยเพิ่มรายได้และกำลังซื้อให้กับประชากรในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมซึ่งนับเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ อีกทั้งยังมีท่าทีปฏิเสธการอุดหนุนด้านราคาแก่สินค้าเกษตร โดยเฉพาะการห้ามชาวนาไม่ให้เพาะปลูกข้าวในช่วงหน้าแล้งโดยภาครัฐไม่ได้มีคำตอบให้กับชาวนาว่าระหว่างนี้เขาจะกินจะอยู่กันอย่างไร การบริโภคภายในประเทศจากภาคการเกษตรจึงหดตัวอย่างรุนแรง

มาถึงวันนี้คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า นโยบายจำนำข้าว เป็นนโยบายเพื่อสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ ที่มุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้ภาวะเศรษฐกิจโดยส่วนรวม ไม่ใช่นโยบายประชานิยมเพื่อหวังผลทางการเมือง อย่างที่บางฝ่ายพยายามกล่าวหาเพื่อหวังผลทำลายล้างทางการเมืองเท่านั้น

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมกลับปรากฏการเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการไม่จ้างใหม่ ไม่จ้างเพิ่มก็ทำให้ปัญหาการว่างงานในสังคมเมืองปรากฏชัดเจนที่สุดในรอบทศวรรษ

ส่วนฟันเฟืองด้านการลงทุนทางตรงของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเอกชนไทยหรือต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยหลักในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนก็คือ การสร้าง “ความไว้วางใจ และความเชื่อมั่น” เนื่องจากในสายตาของนักธุรกิจเหล่านั้นกำลังเชื่อมากขึ้นๆ ว่า “การยึดอำนาจ” เป็นภารกิจในทางการเมืองเป็นหลัก และ “รัฐบาลปัจจุบัน” ก็เป็น “รัฐบาลชั่วคราว” ที่ขาดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการลงทุนใดใดในประเทศไทยขณะนี้จึงมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากนักธุรกิจต่างประเทศมองว่าการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐกับประชาชนคนในประเทศมีลักษณะเป็นสองมาตรฐาน มุ่งทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างไม่หยุดหย่อน

ชวนให้รู้สึกว่า “ขนาดคนไทยด้วยกันเองยังไม่สามารถมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมในประเทศได้ ประสาอะไรกับพวกเขาที่เป็นชาวต่างชาติจะกล้าเหยียบย่างเข้ามาลงทุนแล้วจะได้รับโอกาสและได้รับความยุติธรรมจากประเทศเราได้”

ซ้ำร้ายการเร่งการลงทุนภาครัฐ ใน 2ส่วน ส่วนแรกคือการเบิกจ่ายงบประมาณ ก็ยังติดขัดอยู่ในหลายประการเนื่องจากการไม่ประสานกันในระดับนโยบายกับระดับปฏิบัติดังที่ปรากฏเป็นข่าว และส่วนที่สองคือการลงทุนโดยภาครัฐ ซึ่งก็ยังไม่มีนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าทิศทางจะมุ่งสร้างประสิทธิภาพด้านการคมนาคมขนส่งและลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติให้กับประเทศด้วยแผนระยะยาวอะไร?

แม้แต่การจัดซื้อจัดจ้าง ด้วยการใช้วิธี “ทาบทาม” กลุ่มธุรกิจในและต่างประเทศ เพื่อการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ โดยไม่ต้องมีการประมูลที่ชัดเจน โปร่งใสและให้ประโยชน์สูงสุดกับประเทศ

บทเรียนรัฐประหารครั้งนี้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่าในยุคที่โลกมีเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม “การรัฐประหาร” จึงไม่ใช่คำตอบ

เพราะวันนี้รัฐบาลไม่สามารถหารายได้ให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ จนต้องพยายามหันเพิ่มประเภทภาษีและอัตราภาษี กระทั่งต้องเผชิญกับแรงต้านมากๆ ถึงคอยปลอบใจและแก้เกี้ยวไปว่ายังไม่ดำเนินการ แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความมั่นใจกลับมาเหมือนได้อีก

ซึ่งในโลกปัจจุบันทุกประเทศมีความเชื่อมโยงถึงกัน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงวางอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ และความเชื่อมั่น (Trust & Confidence) ระบบประชาธิปไตยจึงเป็นคำตอบ แม้ไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุดจนไม่มีข้อติ แต่ก็เป็นระบบที่เลวน้อยที่สุดและสามารถพัฒนาไปได้ เพียงเราตั้งมั่นว่า ประชาชนคือเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง

และมาจนถึงขณะนี้ วิธีที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดีที่สุด ก็คือการคืนอำนาจให้ประชาชน ด้วยการจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว .. เฟืองทุกตัวก็จะค่อยๆ ขยับกลับมาทำงาน “คืนความสุข” ให้กับประชาชนอีกครั้ง !

ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ 
อดีตคณะทำงานจัดทำนโยบายพรรคเพื่อไทย

ที่มา https://www.facebook.com/Sand.Chayika/photos/a.444830018896468.98584.419870098059127/867954066584059/?type=1&theater

Categories: Interview