ดร. ปลอดประสพ ชี้แก้ไขแรงงานประมงต้องใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
วันที่ 26 เมษายน 2558 ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี แสดงความคิดเห็นกรณีแรงงานประมงผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า “ผมถูกขอร้องจากสื่อมวลชนหลายสำนักให้แสดงความคิดเห็นกรณีประเทศไทยถูกใบเหลือง ซึ่งเป็นการเตือนครั้งสุดท้ายจากสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งไทยส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไป อียู มูลค่าประมาณปีละ 40,000 ล้านบาท เรื่องดังกล่าวนี้อยู่ในบริบทของ IUU หรือเรียกเต็มๆว่า “Illegal Unreported and Unregulated fishing” (การทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดรายงาน และไร้การควบคุม)
ในฐานะที่ประเทศไทยอยู่ในแนวหน้าของการประมงโลก การส่งออกสินค้าประมงมีมูลค่ามากมายถึง 200,000 ล้านบาท/ปี จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องถูกจับตา ถูกตรวจสอบ และแม้แต่ถูกกลั่นแกล้งจากผู้นำเข้าและคู่แข่งขัน
ย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาเลเซียประกาศว่า สินค้าประมงจากไทยจะต้องบรรจุในลังพลาสติกของมาเลเซียเท่านั้น โดยอ้างมูลเหตุทางสุขลักษณะ เราไม่ต่อสู้เรื่องลัง แต่เราขอว่าให้เขาออกมาตรฐานลังเพราะเราสามารถผลิตลังได้เอง สิบปีต่อมามาเลเซียบังคับให้ไทยขออนุญาตเดินเรือผ่านเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเขา การขู่รุนแรงมากถึงขั้นมีการยิงกันตาย แต่ในที่สุดเราก็เจรจาว่า ขอเป็นแจ้งเพื่อทราบทางวิทยุ (Notification) แทนการขออนุญาตก็แล้วกัน
25 ปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกาไม่ยอมซื้อกุ้งทะเลจากไทย โดยกล่าวหาว่า การจับกุ้งทำให้เต่าทะเลตาย ในการนี้ได้บังคับให้ไทย ใช้เครื่องมือ TED (Turtle Excluder Device)ผลิตโดยสหรัฐอเมริกา เราต่อสู้โดยการขอผลิตเครื่องมือ TED เองในมาตรฐานของสหรัฐฯพร้อมกับพิสูจน์ว่า เต่าที่สหรัฐหวงแหนเป็นหนักหนานั้น ไม่เคยว่ายน้ำมาถึงประเทศไทย
หมดเรื่องเต่าทะเล ก็มาเจอกับ NGO ที่กล่าวว่าประเทศไทยทำลายป่าชายเลนที่ใช้เลี้ยงกุ้งส่งออก คราวนี้ไปร้อง UN จนเกิดเป็นเวที Tribunal คือการไต่สวนสามฝ่าย คือ ผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง (ไทย) และคนกลางคือผู้เชี่ยวชาญจาก UN ผมก็ไปเถียงกับเขา ที่สุดเรารับปากจะดูแลควบคุมการเลี้ยงกุ้งให้ไม่ไปทำลายธรรมชาติ เริ่มมีการเลี้ยงกุ้งในบ่อแทนในป่าชายเลน พร้อมๆกับประกาศโครงการฟื้นฟูป่าชายเลนเป็นวาระแห่งชาติ
การอ้างการอนุรักษ์นั้น หากมองผิวเผินก็จะรู้สึกว่าดี แต่แท้ที่จริงแล้วจะแฝงมาด้วยการกีดกันทางการค้าเสมอ หรือที่เรียกว่า Non Trariff Barriers : NTB เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทยขณะนี้ก็เช่นกัน EU อิงกระแสอนุรักษ์และกระแสธรรมาภิบาล แต่ลึกๆแล้วผมคิดว่า เป็นการค้าแน่นอน ดังนั้นการที่กระทรวงการต่างประเทศไปโวยวายเรียกทูตเขามาต่อว่าต่อขาน หาว่าเลือกปฏิบัติ จะยิ่งทำให้เรื่องไปกันใหญ่ เพราะเท่ากับไปเปิดประเด็นการเมือง ซึ่งจริงๆแล้วการเมืองไทยขณะนี้คือรัฐบาลทหารซึ่งโลกเขาไม่ยอมรับ
ผมฟังท่านนายกพูดว่า เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นมานานมากแล้ว และไม่แน่ใจว่าจะแก้ไขทันภายใน6เดือนหรือไม่ ซึ่งผมก็คล้อยตาม แต่พล.อ.ประวิตร ออกมาโผงผางว่า ทำแล้วทุกอย่างต้องแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน จะส่งทหารไปคุมทุกท่าเรือ ต้องประชุม ต้องรายงาน และให้มีชุดเฉพาะกิจ เอาเลยครับผมเชียร์ แต่ผมว่า เรื่องนี้ มันไม่ใช่จับทหารเข้าแถว ขวาหันซ้ายหันนะครับ มันเป็นเรื่องทางวิชาการและกลยุทธ์
ท่านต้องส่งรัฐมนตรีไปต่อรองขอเวลาเพิ่มเติม เพราะ 6 เดือนน่ะมันไม่พอหรอก (เรื่องแรงงานท่านอดีตรัฐมนตรีสุรพงษ์ไปขอร้องรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐให้คงระดับ Tier2 อยู่ถึง2ปี) ท่านต้องมอบอำนาจให้กรมประมงเป็นเจ้าของเรื่อง ไม่ใช่กระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม หรือแม้แต่กระทรวงการต่างประเทศ ขอเรียนว่า ในอดีตท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย รวมถึงท่านบรรหาร ศิลปอาชา ล้วนมอบหมายกรมประมงทั้งสิ้น (คือผมนี่ละครับ) กระทรวงและกรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันสนับสนุนและทุกอย่างก็ผ่านมาด้วยดีดังที่เห็นอยู่ และที่สำคัญที่สุด ชาวประมงทุกภาคส่วนจะต้องเอาด้วย ชาวประมงจะต้องยอมกินยาขมเพื่อความอยู่รอดในอนาคต ในขณะเดียวกันกลุ่มอุตสาหกรรมประมง (เศรษฐี) ต้องให้การสนับสนุนให้เต็มที่ ไม่ใช่ถือโอกาสบีบอีกทอดหนึ่ง
เชื่อผมเถอะครับเรื่องนี้แก้ไขได้ แต่อย่าแก้แบบทหาร อย่าเอาอำนาจไปแก้ อย่าเอากฎหมายที่ชาติบ้านเมืองอื่นเขาไม่มี ไม่ยอมรับ ไปแก้ มีอยู่ปัญหาเดียวที่ผมวิตกหนักหนา ก็คือ ยังไงๆก็ต้องมีการหารือและรับปากรับคำในระดับรัฐมนตรี แต่เราเป็นรัฐบาลที่ EU เขาไม่ยอมคุยด้วยนี่สิครับ คนไทย ชาวประมงไทยก็ซวยสิครับ EU เค้าจะคุยกับรัฐบาลประชาธิปไตยที่เลือกโดยประชาชนเท่านั้น “ท่านเข้าใจไหมครับ” “