ใครได้ประโยชน์? ปล่อยข่าวข้าวคุณภาพต่ำ โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
9 กรกฎาคม 2558
ฉบับที่แล้วผมบ่นเรื่องการสมคบคิดกันเพื่อทำลายโครงการรับจำนำข้าว บ่นไปบ่นมาตัวเองก็เลยอยากรู้ว่าสถานการณ์ข้าวในบ้านเราตอนนี้เป็นยังไงกันบ้าง เลยไปค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่ามีเรื่องน่าสนใจที่น่าจะนำมาถ่ายทอดต่ออยู่หลายเรื่อง จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง ผิดถูกอย่างไรก็ตรวจทานกันได้ แต่น่าจะใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงในขณะนี้มากที่สุด เพราะเป็นข้อมูลจากปากของผู้เกี่ยวข้องที่คลุกคลีอยู่ในวงการข้าวปัจจุบัน
หลังจากปฏิวัติมาครบ 1 ปี ขณะนี้พบว่าราคาข้าวตกต่ำอย่างรุนแรง ย้อนไปเมื่อต้นปี 2557 ราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ยังอยู่ที่ตันละ 9,500-11,000 บาท แต่ตอนนี้ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่โรงสีที่ความชื้น 15% อยู่ที่ตันละ 7,700-7,800 บาทเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นราคาที่ชาวนาขายได้จริงๆจึงอยู่ที่ตันละ 6,500-7,500 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำมากๆเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิต
ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ เมื่อต้นปี 2557 ราคายังอยู่ที่ตันละ 15,000-16,500 บาท แต่ขณะนี้ราคาหล่นมาอยู่ที่ 12,550-13,200 บาทเท่านั้น สอดคล้องกับราคาส่งออกข้าวที่ลดลงอย่างมากเช่นกัน โดยเมื่อต้นปี 2557 ราคาข้าวสารเจ้า 5% ผู้ขายจัดส่งแค่ท่าเรือหรือ FOB ราคาตันละ 400-450 เหรียญสหรัฐ แต่ปัจจุบันราคาลดลงเหลือเพียงตันละ 360-370 เหรียญสหรัฐเท่านั้น
ข้อเท็จจริงของราคาข้าวที่ตกต่ำบอกอะไรพวกเราหลายอย่าง ผู้ซื้อที่ซื้อข้าวไปในราคาถูกย่อมไม่ขาดทุน เพราะนำไปแปรรูปหรือบรรจุถุงเพื่อขายต่อให้กับผู้บริโภคปลายน้ำในราคาที่แพงขึ้น ส่วนกลางน้ำได้แก่โรงสีและผู้ส่งออกซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางย่อมซื้อข้าวมาถูกและขายต่อไปในราคาที่ได้กำไร เพราะไม่กำไรก็ไม่ต้องขาย ตรงกันข้ามกับชาวนาต้นน้ำที่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาปลูกข้าว ไม่ว่าพ่อค้ากลางน้ำให้ราคาเท่าไรก็จำเป็นต้องขาย เพราะต้องนำเงินไปใช้หนี้
ดังนั้น ในห่วงโซ่ข้าว คนที่ขาดทุนอย่างหนักก็คือชาวนาต้นน้ำที่ขายข้าวได้ในราคาที่ติดดินนั่นเอง เท่านั้นยังไม่พอ ชาวนายังต้องประสบสภาวะฝนแล้งที่ทำให้ผลผลิตลดลงไปอีก จึงกลายเป็นสองเด้งว่าทำไมชาวนาจึงมีหนี้สินมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายหลังจากการยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว
คราวนี้มาดูกันต่อว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวบอกผมว่า สาเหตุสำคัญข้อแรกน่าจะเกิดจากการไม่เร่งรัดระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลปัจจุบันที่รับมาจากรัฐบาลที่แล้วประมาณ 18 ล้านตันเศษ
ใน 1 ปีที่ผ่านมาเราพบว่ารัฐบาล คสช. เพิ่งระบายข้าวได้เพียงประมาณ 2 ล้านตันเท่านั้นเอง ตัวเลขนี้ต่างจากรัฐบาลเลือกตั้งที่ระบายข้าวได้เดือนละเกือบ 1 ล้านตัน แม้แต่การขายข้าวแบบจีทูจีกับประเทศจีนที่ผู้รับผิดชอบของรัฐบาลอ้างว่าจะขายได้ 2 ล้านตัน ถึงขณะนี้ก็ไม่แน่ใจว่าได้ทำสัญญาซื้อขายกันไปแล้วหรือยัง การที่รัฐบาลมีสต็อกข้าวอยู่ในมือมากถึง 16 ล้านตัน ถือเป็นผลเสีย เพราะพ่อค้าย่อมใช้เป็นข้ออ้างในการทุบราคาข้าวให้ถูกลง โดยอ้างเหตุผลเรื่องลดความเสี่ยงหากมีการทุ่มตลาดเกิดขึ้น
สาเหตุสำคัญต่อมาที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวบอกผมก็คือ การให้ข่าวของผู้บริหารในรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐที่กล่าวหาว่าข้าวในสต็อกของตัวเองมีคุณภาพต่ำ การออกมาประกาศแบบนี้ถือว่ามีผลทางจิตวิทยาอย่างมากในการทำให้ราคาข้าวตกต่ำทั้งตลาดในประเทศและในตลาดโลก และที่สำคัญการให้ข่าวดังกล่าวบิดเบือนจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญตัวจริง นั่นก็คือเจ้าของโกดังหรือโรงสี ซึ่งออกมายืนยันสวนกับรัฐบาลมาโดยตลอดว่า ข้าวในสต็อกส่วนใหญ่ของรัฐบาลมีคุณภาพที่เป็นไปตามมาตรฐาน และไม่ควรขายให้พ่อค้าในราคาที่ต่ำจนเกินไป
ผมไม่บังอาจไปก้าวล่วงว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้เกิดจากการบริหารจัดการข้าวที่ผิดพลาดของรัฐบาลในปัจจุบัน แต่ผมเชื่อว่าสาเหตุที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวได้สรุปให้ผมฟังเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวตกต่ำลงมาได้สุดๆในตอนนี้ และถ้าไม่รีบแก้ไข ปัญหาต่างๆจะหมักหมมและแก้ยากขึ้นไปเรื่อยๆ
ดังนั้น ถึงเวลาหรือยังที่ควรเสนอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ข้าว เช่น ชาวนา โรงสี และผู้ส่งออกข้าว ออกมาเร่งรัดให้รัฐบาลวางแผนการระบายข้าวให้มากที่สุดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ทั่วโลกประสบสภาวะภัยแล้งและยังไม่มีผลผลิตออกมาสู่ตลาด ทั้งนี้ เพื่อลดสต็อกข้าวที่ย่อมเสื่อมสภาพไปตามเวลา และยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาอีกด้วย แต่ที่สำคัญที่สุดหากรัฐบาลกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการเร่งรัดการระบายข้าวและไม่ถล่มสินค้าของตัวเองว่าคุณภาพห่วย เพียงเท่านี้ผู้เชี่ยวชาญทุกคนก็เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถป้องกันไม่ให้ราคาข้าวตกต่ำได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี จากสภาพปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขมาก่อนหน้านี้ที่ทำให้ชาวนาขายข้าวได้ในราคาถูก จึงทำให้ชาวนาซึ่งเป็นต้นน้ำของห่วงโซ่ข้าวได้รับผลกระทบอย่างหนัก เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกฤดูการผลิต ชาวนาส่วนใหญ่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาเป็นทุนในการทำนา ถ้าผลผลิตออกมามากและขายได้ในราคาดี ชาวนาก็ลืมตาอ้าปากได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่ผลผลิตน้อยและขายข้าวได้ในราคาต่ำเหมือนกับในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ปัญหาไม่สามารถใช้คืนหนี้และการกู้หนี้ยืมสินก็มากขึ้นสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
ประกอบกับปีนี้ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาฝนทิ้งช่วงและสภาวะภัยแล้งทั่วประเทศ ทำให้ชาวนาจำนวนมากได้รับผลกระทบและไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามฤดูกาล ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องที่ซ้ำเติมเข้ามายิ่งกว่าสึนามิ และจะทำให้โอกาสในการฟื้นตัวของชาวนาเกิดได้ยากขึ้นยกกำลังสอง ดังนั้น รัฐบาลควรจะต้องรีบหามาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาชาวนาในช่วงนี้โดยเร็วที่สุดต่อไป เพราะหากยังใจเย็นและปล่อยปัญหาต่างๆให้พอกพูนขึ้นโดยไม่ทำอะไรเลย สุดท้ายปัญหาเหล่านี้จะบานปลายและไปกระทบกับห่วงโซ่อื่นๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จนกลายเป็นปัญหาของทุกคนในที่สุด
สุดท้ายนี้ผมขอทิ้งท้ายเรื่องที่ตุ๊กแกในกระทรวงแห่งหนึ่งคุยกัน เรื่องนี้ฟังเพลินๆนะครับ อย่าจริงจัง เพราะเกิดในประเทศสารขัณฑ์ เขาคุยกันว่าการที่ออกมาบอกว่าข้าวคุณภาพต่ำได้ประโยชน์อยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกทำให้ขายข้าวให้เพื่อนได้ในราคาถูก เวลาเพื่อนเอาไปขายต่อก็จะได้กำไรไม่ยาก ส่วนต่างที่ได้ไม่ต้องถามว่าไปเข้ากระเป๋าใครบ้าง เพราะเรื่องนี้ตุ๊กแกไม่ทราบ
ส่วนประโยชน์ข้อที่สอง ตุ๊กแกบอกว่าถ้าไปบอกความจริงว่าข้าวคุณภาพดีได้มาตรฐานแล้วจะจับคนติดคุกได้ยังไง…
ตั๊บแกๆๆๆ พบกันฉบับหน้าครับ