รัฐธรรมนูญศรีธนญชัย?

สัปดาห์นี้ทุกท่านคงทราบข่าวการจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวตุรกี ซึ่งอาจจะเกี่ยวโยงกับเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ หากเป็นผู้ก่อการร้ายตัวจริงผมก็ขอแสดงความชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายด้วย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยกเว้นอยู่กรณีเดียวที่ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาแฉว่าข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิดที่ใช้เป็นหลักฐานในคดีนี้ไม่ใช่กล้องของทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) เลย แต่เป็นกล้องของห้างสรรพสินค้าอัมรินทร์พลาซ่าและโรงแรมไฮแอท เอราวัณ ทั้งหมด

เรื่องนี้ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะต้องชี้แจงกันต่อไปว่า ทำไมกล้องถึงใช้ได้บ้างไม่ได้บ้างทั้งๆที่ใช้เม็ดเงินลงทุนไปกับโครงการนี้หลายพันล้านบาท ล่าสุดก็มีเรื่องอื้อฉาวเมาท์กันว่อนเน็ตว่า กทม. เพิ่งมีการจัดซื้ออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลภายนอก หรือ HDD ความจุขนาด 4TB ในราคา 800,000 บาท!! ซึ่งชาวบ้านทั่วไปสามารถหาซื้อได้ในราคา 6,000-7,000 บาท

ผมคนหนึ่งแหละที่ไม่เชื่อว่า กทม. จะจัดหาไม้จิ้มฟันได้ในราคาเครื่องบิน เพราะ HDD ไม่ใช่เทคโนโลยีจากนอกโลก หรือต้องเสียตังค์นั่งไทม์แมชีนไปซื้อมาจากโลกอนาคต สุดท้ายเรื่องนี้ก็คงต้องรอฟังคำชี้แจงจากผู้รับผิดชอบกันต่อไป

และนี่คือเสน่ห์ของระบอบประชาธิปไตย แม้ผมและคนกรุงเทพฯส่วนหนึ่งจะไม่ได้เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม. และไม่ได้ศรัทธาสโลแกน “ทั้งชีวิต..เราดูแล” ที่ภายหลังเริ่มเพี้ยนกลายเป็น “เราดูแลกันเอง” ก็ตาม แต่เราก็ยอมรับกติกาและยอมอยู่ภายใต้การดูแลของท่านผู้ว่าฯ เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเรายินดีที่จะปฏิบัติตามเสียงส่วนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันเราก็สามารถตรวจสอบและร้องขอให้ฝ่ายบริหารดำเนินการในเรื่องต่างๆตามหลักการได้เช่นกัน ซึ่งช่างแตกต่างกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้แบบฟ้ากับเหว

บอกไว้เลยครับว่าถ้าผ่านโหวตสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาได้ อย่าไปเสียเวลาถามพี่น้องฝ่ายประชาธิปไตยเลยว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะคำตอบมันเหลืออยู่แค่คำตอบเดียวคือ “รับไม่ได้” ขอรับเจ้านาย

ออกตัวก่อนว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องมาชี้นำให้ VOTE NO หรือ NO VOTE แต่อย่างใด แต่เกี่ยวกับเรื่อง “รับไม่ได้” เฉยๆ รับไม่ได้แบบไหนอย่างไรท่านผู้นำสูงสุดและผู้เกี่ยวข้องอย่าเพิ่งโกรธกัน แต่ลองเปิดใจรับฟังความคิดเห็นกันสักนิด

ผมมีโอกาสได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญต่างๆมาแล้วพอสมควร ต้องยืนยันว่าร่างฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นหลักให้แป๊ะมากกว่าที่จะเป็นหลักให้กับประเทศ รัฐธรรมนูญที่ดีต้องเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการยอมรับกติกาต่างๆร่วมกัน แต่ปัญหาที่เห็นในเวลานี้คือ กระบวนการออกแบบรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นไปตามนั้น ขนาดแค่การรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญก็ยังมีข้อจำกัด แม้แต่การลงประชามติที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมก็ยังมองไม่ออกว่าจะประชามติกันในบรรยากาศแบบไหน สุดท้ายถึงเวลาเข้าคูหากันจริงๆก็ไม่รู้ว่าจะเจอของแข็งอะไรเพิ่มขึ้นมาอีก

สำหรับประเด็นสำคัญที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ “รับไม่ได้” ก็เพราะการมีเนื้อหาที่ลดบทบาทและอำนาจของประชาชนให้เหลือน้อยมาก ฝ่ายบริหารที่มาจากประชาชนโดยตรงทำงานลำบากและขาดเสถียรภาพ เพราะรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้องค์กรอิสระและองค์กรฝ่ายตุลาการเข้ามาควบคุมฝ่ายการเมืองได้โดยง่าย

นอกจากนั้นอำนาจของประชาชนที่ใช้ผ่านตัวแทนในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารยังถูกควบคุมจากคณะกรรมการชุดต่างๆที่มาจากการสรรหาของคนไม่กี่คน แต่กลับมีอำนาจมากกว่าตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของคนทั้งประเทศ การออกแบบรัฐธรรมนูญสอดไส้แบบมีวาะซ่อนเร้นแบบนี้จะพาประเทศชาติออกจากสภาวะวิกฤตได้อย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป. นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จำนวนมากได้แสดงความเห็นไว้ตรงไปตรงมาว่า มันเป็นระบบที่ยืมมาจากประเทศคอมมิวนิสต์ แต่ท่านก็ยังเขียนให้อำนาจแก่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้าสืบทอดอำนาจจากการรัฐประหารเอาไว้แบบนี้ก็อย่าดัดจริตเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นประชาธิปไตยเลยดีกว่า

ส่วนการระบุว่าสมาชิกวุฒิสภาไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งนั้นก็เป็นการย้อนยุคกลับไปสู่การเมืองยุค พ.ศ. 2520 ที่ประชาธิปไตยจริงๆมีอยู่แค่นิดเดียว นอกจากนั้นยังพ่วงเรื่องนายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งเข้าไปอีก ผมเข้าใจได้ครับว่ารัฐธรรมนูญในประเทศอื่นๆเขาไม่ระบุว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะประเทศเหล่านั้นมีจารีตและธรรมเนียมปฏิบัติว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ถึงแม้จะไม่เขียนเอาไว้ก็ไม่มีใครไปคิดถึงการเลือกนายกฯคนนอก

แต่สำหรับประเทศเจ้าของนิยายเรื่องศรีธนญชัย หากไม่เขียนอย่างชัดเจนไว้ในรัฐธรรมนูญ โอกาสที่คนนอกจะนั่งกระดิกเท้ารอให้คนมาเชิญไปเป็นนายกรัฐมนตรีมีอยู่สูงครับ และผมเชื่อว่าถึงเวลานั้นอำนาจของประชาชนคงถูกปล้นไปอย่างแน่นอน

ท่านที่ยังงงๆอยู่ก็ขอให้ลองพลิกอ่านมาตรา 165 ซึ่งเป็นรายละเอียดวิธีการเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎร กำหนดว่าถ้าเป็น ส.ส. ต้องได้เสียงเกินครึ่ง ถ้าเป็นคนนอกต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 และต้องเลือกให้เสร็จภายใน 30 วัน ซึ่งแนวทางนี้เราใช้กันมาตลอดอยู่แล้ว แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่วรรคสองที่กำหนดไว้ว่า ถ้า 30 วันหากยังไม่ได้ตัวนายกรัฐมนตรี ให้สภาผู้แทนราษฎรจัดประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้งด้วยวิธีเดิมภายใน 15 วัน ถ้ายังเลือกไม่ได้อีกให้สภาผู้แทนราษฎรนั้นสิ้นอายุลง และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน

หมายความว่าอย่างไร? หมายความว่า ไม่ว่าคุณ (ส.ส.) จะอยู่พรรคไหนก็ตาม หากคุณไม่ได้เป็นเสียงข้างมาก สถานการณ์ก็เหมือนแกมบังคับให้ต้องเลือกคนนอกที่ถูกเสนอให้ได้คะแนน 2 ใน 3 ไม่งั้นสภาจะสิ้นอายุ จาก 4 ปีเหลือ 45 วัน ต้องลงไปหาเสียงกันใหม่ วุ่นวายเสียเวลา ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับไหนๆก็ไม่เคยกำหนดเอาไว้อย่างนี้

ผมเชื่อเหลือเกินว่าฝ่ายที่กำลังร่างกติกาประเทศอยู่ตอนนี้จะพยายามทุกวิถีทางให้มันออกรูนี้ให้ได้!

ก็ไม่ทราบว่าการกระทำแบบนี้มีเจตนาจะแก้ปัญหาประเทศชาติจริงหรือไม่ หรือต้องการเขียนให้อำนาจเผด็จการมีกฎหมายรองรับ สัปดาห์หน้าค่อยมาบ่นเรื่องนี้ต่อครับ

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

http://www.lokwannee.com/web2013/?p=174155

Categories: Interview