ตอบจากข้อเท็จจริง รัฐไม่เสียหายและรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น

…เศรษฐกิจประเทศไทยที่มีปัญหาหนักในยามนี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ ได้สื่อต่อสังคมว่า ปัญหาเหล่านั้นล้วนเกิดจากรัฐบาลที่ผ่านมา โดยมีการอ้างถึงโครงการฯต่างๆที่ท่านคิดว่าเป็นปัญหาและแน่นอน “รถคันแรก” และ “จำนำข้าว” (ประเด็น ธกส.ไม่มีเงินจ่ายชาวนา) คือจำเลยเสมอ…

ผมจึงขออธิบายในสองเรื่องนี้ เพราะร่วมรับผิดชอบอยู่ด้วย ส่วนเรื่องใหญ่ภาพรวมท่านกิตติรัตน์ ณ ระนอง ท่านได้ชี้แจงไปแล้ว ซึ่งท่านผู้ติดตามคงจะได้อ่านแล้วนะครับ…!!!

ในเรื่องรถคันแรก ผมมี 2 ประเด็นที่ต้องพูดถึง คือเรื่องดีมานด์ปลอม เรื่องทำให้รัฐสูญเสียรายได้เมื่อเปรียบเทียบผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคที่มีหน่วยงานของรัฐวิเคราะห์ไว้ มาเล่าสู่กันฟัง

รัฐบาลได้ดำเนินโครงการรถคันแรกมาตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนที่ไม่เคยมีรถยนต์เป็นของตนเองได้มีโอกาสซื้อรถยนต์ใหม่คันแรก อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายขึ้น ขณะเดียวกัน เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ให้มีการขยายตัวได้ดี ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็จะส่งผลให้ฐานะการคลังของประเทศมีความมั่นคงยิ่งขึ้นด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง โครงการรถคันแรกเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นซึ่งช่วงเวลาในการดำเนินโครงการได้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังจะซบเซาและนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นหลังวิกฤติน้ำท่วมในปลายปี 2554 ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นและความเชื่อมั่นกลับคืนมา อย่างรวดเร็ว

ดีมานด์ปลอม……ข้อกล่าวหานี้มักมากับการกล่าวถึงเรื่องของการทิ้งใบจองและการทิ้งรถไม่ผ่อนต่อ รวมทั้งมีฝั่งผู้ประกอบการออกมาสนับสนุนในแง่ที่ว่าผลิตรถเกินความต้องการทำให้รถค้างสต๊อก ผมข้อเสนอตัวเลขจริงหลังปิดโครงการเมื่อ 31 ธันวาคม 2555 ดังนี้ โครงการฯมีผู้ขอใช้สิทธิ์จำนวน 1,259,003 ราย โดยมีผู้ยกเลิกการใช้สิทธิ์ 5,419 ราย(ร้อยละ 0.43) และไม่ได้รับสิทธิ์เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไข 921 ราย ทำให้มีผู้อยู่ในสถานะรับสิทธิ์ 1,252,663 ราย ในจำนวนนี้มีจำนวนรถที่ขาดส่งหรือส่งไม่ไหวเพียงร้อยละ 0.36 หรือสี่พันกว่าคันเท่านั้น จึงกล่าวได้ว่า ประชาชนที่ยกเลิกการใช้สิทธิและผ่อนรถไม่ไหวรวมกันแล้วมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 1

ส่วนประเด็นที่ว่ามีรถเกินสต๊อคอยู่มากมายนั้น ตัวเลขการผลิตรถยนต์ตั้งแต่มกราคม – พฤษภาคม 2556 มีการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศ 677,848 คัน จำหน่ายจริง 634,777 คัน หรือผลิตมากกว่าจำหน่ายจริงเพียง 43,071 คัน (ร้อยละ 6.35) หรือคิดเป็นสต๊อก 1/3 ของยอดขายรายเดือนในประเทศซึ่งไม่ได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์เพราะอัตรากำลังการผลิตในช่วงเวลานั้นยังเกินร้อยเปอร์เซนต์

ผมจำเป็นต้องยกตัวเลขจริงมาให้เห็นว่า ดีมานด์ปลอม ที่กล่าวถึงกันบ่อยๆ นั้นไม่ได้มีรากฐานจากผลการดำเนินการจริงของโครงการแต่อย่างใด

เรื่องที่สอง คือรัฐต้องสูญเสียรายได้…..คำอธิบายคือการต้องใช้งบประมาณของรัฐหรือเงินคงคลังมาจ่ายภาษีส่วนนี้ ในความเป็นจริงโครงการรถคันแรกซึ่งมีผู้อยู่ในสถานะรับสิทธิ์ 1,252,663 รายคิดเป็นเงินที่ต้องคืน 91,732.9 ล้านบาท ในจำนวนนี้อาจมีต้องจ่ายเงินคืนในปีงบประมาณ 2558 อยู่บ้างเนื่องจากว่าได้รับรถในช่วงปีปลายปี 55 และช่วงปี 56 ซึ่งทำให้การครอบครองรถครบหนึ่งปีมาอยู่ในปีงบประมาณ 2558

ผลกระทบของนโยบายรถยนต์คันแรกต่อเศรษฐกิจมหภาค จากแบบจำลองของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง พบว่า มาตรการรถคันแรกจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจขยายตัวตลอดทั้งโครงการ ถึงร้อยละ 1.00 ต่อปี จากกรณีฐาน คิดเป็นเม็ดเงินที่กว่า 126,696 ล้านบาท ขณะที่รัฐจ่ายเงินคืนรถคันแรกเพียงแค่ 91,732 ล้านบาท โครงการนี้จะทำให้เกิดการบริโภคสินค้า การจ้างงาน รายได้จากการจ้างงาน ผลต่ออุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ รายได้ต่างๆ จะส่งผลหลายรอบในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดผลบวกหลายรอบหรือที่เรียกว่า multiplier effect หรืออีกนัยหนึ่ง ทุกๆ 1 บาทที่รัฐจ่ายลงไปจะทำให้เกิดผลบวกต่อระบบเศรษฐกิจกว่า 1.5 บาท ซึ่งมากกว่าที่รัฐจ่ายลงไป เป็นประโยชน์อย่างมากต่อระบบและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ยังไม่รวมถึงรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคล ภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์และอะหลั่ย และภาษีจดทะเบียนรถยนต์ ซึ่งไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ยังขยายตัวได้ดีเช่นกัน เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมแร่โลหะและอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ซึ่งนับว่าเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งการผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น ธุรกิจฟิล์มกรองแสง ธุรกิจประกันภัยและธุรกิจสินเชื่อและบริการเกี่ยวกับรถยนต์ที่จะขยายตัวได้ดีขึ้น โดยคาดว่าในปี 2556 ยอดขายของธุรกิจปลายน้ำจะสูงถึง 5,000 ล้านบาท

โดยสรุปปริมาณภาษีที่รัฐจัดเก็บได้ทั้งที่เป็นภาษีสรรพสามิต และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดแล้ว รายได้ที่รัฐจัดเก็บได้มากกว่าที่ต้องจ่ายคืนในโครงการมากกว่า 20,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับรายได้ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจหลายรอบแล้ว จึงไม่ได้ทำให้รัฐเสียรายได้อีกต่อไป การจ่ายเงินคืนในช่วงเวลานี้จึงเป็นเพียงการคืนเงินส่วนที่เก็บไว้ล่วงหน้าแล้วเท่านั้น

จึงอยากถามกลับว่า ถ้าไม่มีโครงการรถคันแรก ภาษี 9 หมื่นกว่าล้านนั้นจะมาจากไหน… โครงการรถคันแรกทำให้รัฐบาลสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไปพร้อมๆกับก่อให้เกิดการจ้างงาน และติดตามมาด้วยรายได้โดยรวมที่มากกว่าเงินที่จ่ายคืนไป เท่ากับว่ารัฐบาลได้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ซบเซาหลังน้ำท่วมโดยไม่ปล่อยตามยถากรรม… อย่างนี้ผิดหรือครับ

เรื่องที่สอง คือ ธ.ก.ส. ไม่มีเงินจ่ายค่าจำนำข้าว ผมในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้มาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้นคงต้องขอยืนยันว่า ปัญหาการจ่ายเงินจำนำข้าวที่สร้างความทุกข์ให้ชาวนานั้น ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลไม่มีเงินจ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ใช่ปัญหา ธ.ก.ส. ไม่มีเงินจ่าย

การสนับสนุนข้อยืนยันนี้ ผมขอเสนอด้วยหลักฐานเพียง 2 ชิ้น โดยอันแรกคือ ภาพข่าวและสถานการณ์ทางการเมืองที่มีกลุ่มคนจำนวนมาก เดินทางปิดสถาบันการเงิน ไปถอนเงิน หรือกระทำการอื่นๆ เพื่อต่อต้านการที่สถาบันการเงินเหล่านั้นจะให้เงินกู้กับรัฐบาลไปดำเนินการจ่ายเงินจำนำข้าว หลักฐานชิ้นนี้ผมคงไม่ต้องยกมาเสนอในที่นี้เพราะเป็นที่ประจักษ์ในสื่อจำนวนมาก

หลักฐานชิ้นที่สอง คือ สถานะการเงินของ ธ.ก.ส. ผมต้องขอยืนยันว่า ธ.ก.ส.ตลอดช่วงการบริหารงานของผมมีสถานะการเงินที่มั่นคง และทำกำไรอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญมีเงินสำรองมากพอที่จะจ่ายให้กับโครงการฯ หากได้รับการสนับสนุนการกู้เงินอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งก็วนไปอยู่กับหลักฐานชิ้นแรกที่ว่า ถูกต่อต้านไม่ให้รัฐบาลกู้เงิน)

ธ.ก.ส.มีกำไรในปี 2554-2556(ปีบัญชีของ ธ.ก.ส.จะสรุปในเดือนมีนาคมของทุกปี ดังนั้นปีบัญชี 2556 จะสรุปเมื่อ มีนาคม 2557 ) จำนวน 8,776, 9,066 และ 9,755 ล้านบาทตามลำดับ มีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นจาก 1,055,549 ล้านบาทในปีบัญชี 2554 เป็น 1,338,525 ล้านบาท ในปีบัญชี 2556 มีอัตรากองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ณ สิ้นปีบัญชี 2556 เป็นร้อยละ 12.36 (เกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดคือ ร้อยละ 8.5) และอัตราส่วนของสินทรัพย์สภาพคล่องร้อยละ 22.11(เกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดคือ ร้อยละ 6) และที่สำคัญ ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องคงเหลือ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 และ มีนาคม 2557 เป็น 128,096 และ 281,054 ล้านบาทตามลำดับ(ที่มา :เอกสารรายงานกิจการประจำปี ธ.ก.ส.และเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.)

ตัวเลขดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงและปริมาณเงินสำรองที่ ธ.ก.ส.ถือไว้ในมือในก่อนมีการรัฐประหาร จำนวนดังกล่าวจึงทำให้รัฐบาล คสช. สามารถสั่ง ธ.ก.ส. จ่ายเงินให้ชาวนาได้ทันทีหลังเข้ารับตำแหน่ง

ผมจึงอยากเรียนต่อท่าน และต่อสังคมให้เห็นชัดๆว่า ปัญหาการจ่ายเงินโครงการจำนำข้าว จึงไม่ใช่รัฐบาลหรือ ธ.ก.ส. ไม่มีเงิน แต่เป็นปัญหาทางการเมือง ที่บุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ใช้สารพัดวิธีการเข้ามาขัดขวางการจัดการโครงการฯ เพื่อเหตุผลเดียวคือ ล้มรัฐบาล โดยไม่สนใจความทุกข์ยากของชาวนาในวันนั้น

โดย คุณทนุศักดิ์ เล็กอุทัย
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ที่มา www.facebook.com/kittirattnofficial (15 กันยยายน 2558)

Categories: Interview