นิวัฒน์ธำรง แจงจำนำข้าวชาวนาได้ประโยชน์ปีละ 1.4ล้าน ทุจริตเป็นเรื่องรายบุคคล
นิวัฒน์ธำรงให้ปากคำคดีข้าว
ที่กระทรวงพาณิชย์ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เข้าให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดในโครงการรับจำนำข้าว โดยมีนายจิรชัย มูลทองโร่ย หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
จากนั้นนายนิวัฒน์ธำรง เปิดเผยว่า ตนได้ให้ข้อมูล 12 ประเด็นที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว เพราะการดำเนินการโครงการนี้อยู่ภายใต้หลักพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ที่จะต้องประเมินความคุ้มค่าของโครงการต่อชาวนา ระบบเศรษฐกิจ การเก็บภาษี และสังคม มากกว่าเรื่องกำไรขาดทุน ซึ่งมีหน่วยงานประเมินความคุ้มค่าตามกฎหมาย 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนัก งบประมาณ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้ประเมินโครงการ ให้ข้อมูลและให้ความเห็นชอบโครงการรับจำนำข้าวมาตลอด
ยัน”ปู”ไม่ได้ละเลยให้มีทุจริต
นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า ตนมาให้ข้อมูลครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ครั้งแรกใช้เวลา 2 ชั่วโมงรวม 5 ชั่วโมง หลักๆ สอบถามถึงความเสียหายจากการละเมิด ซึ่งได้ชี้แจงว่าทำตามข้อกฎหมายแล้ว ซึ่งโครงการรับจำนำอยู่ภายใต้ข้อกฎหมายมากกว่า 10 ฉบับและพ.ร.ฎ.นี้เป็นฉบับหนึ่งที่รัฐบาลขณะนั้นถือปฏิบัติ รวมถึงบอกว่าโครงการรับจำนำข้าวให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจในทางตรงและทางอ้อมหลายประการ ไทยใช้เงินในโครงการรับจำนำเพียง 6 แสนล้านบาทสำหรับโครงการ 3 ปี ซึ่งน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั้งสหรัฐที่ใช้มากกว่า 2.6-2.7 ล้านล้านบาท ต่อปี ญี่ปุ่นใช้ 2 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งคณะกรรมการได้ขอให้ส่งเอกสารข้อมูลเพิ่มเติม
นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า หากพิจารณาประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อชาวนาและประเทศ พบว่าทำให้ชาวนามีเงินเพิ่มต่อปี ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มการหมุนเวียนเงินในระบบ 2-7% รวมถึงทำให้มีเงินเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ 3.5 ถึง 7 แสนล้านบาท ส่งผลให้ จีดีพีของประเทศดีขึ้น และทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้น ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคลอีกด้วย ส่วนมาตรการป้องกันการทุจริต ยืนยันว่าอดีตนายกฯไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต โดยได้วาง 4 มาตรการคือ การป้องกัน ตรวจสอบ ลดความเสี่ยง และปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง หากพบว่ามีการทุจริตในระดับอื่นก็ต้องว่าเป็นบุคคลไป และจะต้องให้ความเป็นธรรม ถ้าทุจริตจริงต้องดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป
ชี้ข้าวเสียโกดังต้องรับผิดชอบ
อดีตรมว.พาณิชย์กล่าวว่า ส่วนการระบายข้าวได้ชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ใช้วิธีระบายแบบยกคลัง โดยให้เอกชนไปดูสภาพข้าวก่อนเสนอราคา ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมเนื่องจากข้าวมีจำนวนมากถึง 18 ล้านตัน อยู่ในคลังสินค้ามากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ หากรัฐบาลจะตรวจสอบสต๊อกก่อนพิจารณาระบายจะเสียเวลา และส่งผลต่อสภาพข้าวที่จะเสื่อมสภาพลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสภาพข้าวในคลังรัฐบาลสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากเจ้าของโกดัง หรือเซอร์เวเยอร์ได้ตามสัญญาที่ทำไว้กับเอกชนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องตรวจสภาพอีก ทำให้การระบายข้าวขณะนั้นดำเนินการได้เฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านตัน ส่วนราคาขายก็เป็นไปตามวิธีคำนวณที่เชื่อว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันก็ใช้วิธีเดียวกันนี้อยู่แล้ว คือคำนวณจากราคาตลาดและกำหนดไว้เป็นราคาขั้นต่ำ หากเอกชนเสนอมาสูงกว่าก็เจรจาต่อรองจนได้ราคาที่เหมาะสมจึงจะอนุมัติขายนั่นเอง
ที่มา : ข่าวสด