จาตุรนต์ ค้านโอนอำนาจ ส.ว.ถอดถอนนักการเมืองให้ศาล รธน.
“จาตุรนต์” ค้านโอนอำนาจ ส.ว.ถอดถอนนักการเมืองให้ศาล รธน. ชี้กระทบการถ่วงดุลอธิปไตย อัดแนวคิดล้ม ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ทำการเมืองถอยหลัง ชี้เขียนรธน.ล้าหลัง ทำประเทศอ่อนแอ
เมื่อวันที่ 22 พ.ย.58 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความเห็นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะลดอำนาจ ส.ว.ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแทนว่า ข้อเสนอนี้มีขึ้นเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการกำหนดให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง เมื่อได้ข้อสรุปแล้วว่า ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง ก็พบว่า ส.ว.ที่จะมีขึ้นนี้ยังมีหน้าที่อีกมากมาย ทั้งการตรวจสอบรัฐบาล แต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ และอำนาจอื่นๆ อีกมาก กลายเป็น ส.ว.ที่มีอำนาจมหาศาลเบ็ดเสร็จอยู่ดี ขณะเดียวกันการยกอำนาจถอดถอนไปให้องค์กรอื่นทำไม่ได้ เพราะจะกระทบการถ่วงดุลอธิปไตย ทำให้มีแนวโน้มฝ่ายตุลาการจะมีอำนาจเหนือกว่าอำนาจอื่นๆ ส่วนรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งจะเหลืออำนาจน้อยลง
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอที่ให้ยกเลิก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น ความจริง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ถือเป็นการพัฒนาการเมืองไทย ที่ทำให้ประชาชนให้ความสนใจที่จะเลือกพรรคการเมือง และพรรคการเมืองต้องทำนโยบายให้ดีสอดคล้องความต้องการประชาชน รวมถึงยังเปิดทางให้ผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ แต่ไม่ถนัดการเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต พัฒนาไปเป็นผู้บริหารได้ด้วย ตรงกันข้ามข้อเสนอนี้กลับทำให้การเมืองถอยหลัง รวมถึงที่เสนอให้จังหวัดที่มีจำนวนประชากรมากๆ มี ส.ส.ในเขตได้หลายคน แต่ให้ประชาชนเลือกผู้สมัครได้คนเดียว เป็นการบิดเบือนเสียงประชาชน ทำลายระบบพรรค เพราะในเขตนั้นควรจะเลือกได้ 3 คน แต่เลือกได้คนเดียว ทำลายระบบพรรค เพราะคนจะเลือกได้แต่ตัวบุคคล
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการทุจริตที่ กรธ.เสนอกำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถ้าชี้มูลความผิดแล้วให้พ้นหน้าที่ทันที มันจะขัดหลักยุติธรรม เพราะการชี้มูลของ ป.ป.ช.มันยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากธรรมดาเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลแล้ว ต้องส่งไปรัฐสภา ไปอัยการและศาล พิจารณาถอดถอน ซึ่งหมายความว่าไปส้ินสุดที่รัฐสภา หรือที่ศาล และบางกรณีเรื่องเมื่อไปถึงศาลยกฟ้องก็มีหรือส.ว.ไม่มีการถอดถอนก็มี ดังนั้นการให้ ป.ป.ช.ชี้มูลใครแล้วให้พ้นหน้าที่เลย อาจเป็นช่องทางทำให้ ป.ป.ช.มีอำนาจในการล้มหรือเปลี่ยนรัฐบาล ทั้งๆ ที่คนเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ไม่ได้กระทำผิดจริงด้วย
“ดูโดยรวมๆ แล้วทั้งจากกรธ.และสปท.ที่เสนอความเห็นกันอยู่ มีแนวโน้มว่าเขียนรัฐธรรมนูญ นำประเทศไปสู่ความล้าหลัง เสียหายการถ่วงดุลอำนาจ ทำลายระบบการเมือง ทำลายระบบการตรวจสอบ จนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลและเสถียรภาพการเมืองของประเทศ ไม่เหมาะสม อาจทำให้ไทยไม่สามารถรับมือปัญหาในโลกที่ซับซ้อนขึ้น มีทั้งการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นและต้องการความร่วมมือกับประเทศต่างๆ การจะอยู่ในโลกที่มีสภาพอย่างนี้ได้ ประเทศต้องมีความเข้มแข็ง แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้กำลังทำให้ประเทศอ่อนแอ ล้าหลัง ไม่สามารถรับมือกับความเป็นไปของสังคมโลกได้” นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว ขณะนี้ถือได้ว่ามันเลยขั้นที่จะขจัดพรรคใดพรรคหนึ่งไปแล้ว หรือทำให้เห็นว่ามีจุดยืนร่วมกันกับบางพรรคบางฝ่าย เพราะตอนนี้จุดมุ่งหมายเลยไปกว่านั้นอีก ทำให้ประเทศอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมองค์กรที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงว่าจะใช้ระบบล้าหลังหรือไม่มีประสิทธิภาพไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ขณะที่ข้อเสนอแนะ 10 ข้อของคสช.นั้น จริงๆ แล้วได้กำหนดแนวทางร่างรัฐธรรมนูญไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ไว้แล้ว เมื่อคสช.มีข้อเสนอแนะออกมาอีก ทำให้เห็นแนวทางชัดเจนว่า มีจุดมุ่งหมายการสร้างระบบการปกครองที่ประชาชนจะไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไร เป็นการรับรองอย่างเป็นทางการอยู่ในรัฐธรรมนูญ ที่บ้านเมืองจะอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร ดูสอดคล้องกันไปหมดกับบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้เหลืออยู่เพียงแต่ว่าประชาชนที่ต้องการให้บ้านเมืองเป็นอย่างไรต่อไป คิดอ่านอย่างไร
ที่มา : www.thairath.co.th/content/541130