ปิดประตูปรองดอง กระบวนการออกกฎหมายค้ำยันอำนาจ

“ต้องทำให้ชัดเจน ถ้าปล่อยไว้จะลามออกไป”

นายชัยเกษม นิติสิริ แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีต รมว.ยุติธรรม สะท้อนมุมมองถึงโครงการสร้างอุทยานราชภักดิ์ ระหว่างให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง โดยพยายามบอกไปถึงรัฐบาลและ คสช.ว่า ในเมื่อคนในรัฐบาลยังออกมายอมรับว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ก็จะต้องตรวจสอบเรื่องนี้ให้สะเด็ดน้ำ ไม่เช่นนั้นประเด็นนี้จะลุกลามออกไปได้

รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมา ในยามปกติมี ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน จะคิดและพิจารณาว่าจะมีกฎหมายอย่างไรถึงเหมาะสม ต้องผ่านวุฒิสภา กฤษฎีกาถึงจะออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้

ขณะที่ในยุคปัจจุบันกฎหมายเกิดขึ้นโดยคณะปฏิวัติ มันตั้งธงได้ อยากได้อะไรก็บอกไป แม้มีคนที่คัดค้านบ้าง แต่ในที่สุดกฎหมายออกมาตามธง เช่น รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ จะให้ออกมาเหมือนสมัยมีสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้

ผู้นำประเทศอาจจะคิดดีต่อบ้านเมือง อยากจะได้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ในเมื่อผู้นำมาจากการปฏิวัติ มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้คนรอบข้างอาจจะไม่กล้าเถียงและแนะนำ

ทำให้กฎหมายบางฉบับที่ออกมาอาจจะไม่รอบคอบ เมื่อคลอดกฎหมายออกมานำไปใช้ก็ต้องมีกติกาที่ถูกต้อง คนใช้และปฏิบัติต้องรู้กฎหมายอย่างลึกซึ้ง ถ้าไม่รู้ควรปรึกษาผู้ที่รู้

ดูแล้วปัญหาการบังคับใช้กฎหมายอาจจะเกิดจากผู้นำมีอำนาจพิเศษ มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นายชัยเกษม บอกว่า ถูกต้อง เพราะคนที่มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์จะทำอะไร ออกกฎหมายอะไรก็ได้

เฉกเช่นเรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลของรัฐ ยังใช้มาตรา 44 เพื่อคุ้มครองผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการระบายข้าว

ความจริงใช้กฎหมายปกติก็ได้ เพราะการทำสุจริตไม่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่อาจจะไปกระตุ้นผู้ปฏิบัติหน้าที่ว่าไม่ต้องรับผิด หากทำอย่างนี้บ่อยๆจะไม่เป็นไปตามหลักยุติธรรมที่ควรจะเป็น

ถามว่าใช้คำสั่งตามมาตรานี้ได้หรือไม่ ก็ทำได้ แต่ถ้าวันหนึ่งศาลพิพากษาว่าไม่ได้เป็นรัฏฐาธิปัตย์เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอาร์เจนตินา เท่ากับนิรโทษกรรมตัวเองไม่ได้ ในที่สุดก็โดนดำเนินคดีกันเป็นทิวแถว มันก็เกิดขึ้นได้

เพราะวัฒนธรรมของประเทศ การดำเนินการต่างๆ แนวคิดในกระบวนการยุติธรรมมันผูกกันอยู่ตลอดเวลา แต่ก็สามารถเปลี่ยนได้

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า บ้านเมืองยังอยู่ในความขัดแย้ง การใช้กฎหมายแม้เป็นไปตามเจตนารมณ์หรือองค์ประกอบแล้ว แต่ถูกมองว่ายังไม่ยุติธรรม เช่น เปรียบเทียบการดำเนินคดีระหว่างโครงการรับจำนำข้าวกับโครงการสร้างอุทยานราชภักดิ์ สุดท้ายควรมีข้อยุติอย่างไร นายชัยเกษม บอกว่า การใช้กฎหมายต้องถูกต้องและเป็นธรรมไม่เอื้อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สิ่งที่ทำไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ผลที่ออกมาถูกมองว่าสองมาตรฐาน แบบนี้แก้ยากมาก เพราะคนไทยแบ่งเป็นฝักฝ่ายและตั้งแต่ปฏิวัติมายังไม่เห็นว่าจะทำให้เกิดความปรองดองขึ้นได้อย่างไร จุดนี้สำคัญ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พูดย้ำตลอดว่า ได้ทำเพื่อให้เกิดความปรองดอง สามัคคี แต่สิ่งที่ปรากฏต่อสาธารณะปรากฏว่า ประชาชนไม่รู้สึกอย่างนั้น แม้ท่านจะตั้งใจจริงจังหรือไม่ สุดท้ายผลมันไม่ออกมา

ขณะที่โครงการรับจำนำข้าว คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าเป็นการทำตามรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้สินค้าเกษตรมีราคา เป็นโครงการสาธารณะ ซึ่งจะต้องไม่ดูว่ามีกำไรหรือขาดทุน เพราะต้องการช่วยชาวนาให้มีฐานะอยู่ในสังคมได้และกระตุ้นเศรษฐกิจ

ล่าสุดนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ออกมาบอกว่า นโยบายนี้ไม่ผิด แต่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ เตือนแล้วไม่ฟัง ก็ต้องไปดูว่าใครเตือน

ทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ไม่ได้มีหน้าที่บอกให้รัฐบาลทำนั่นทำนี่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาเตือน ไปดูว่า ป.ป.ช.มีหน้าที่เตือนรัฐบาลได้หรือไม่

เมื่อเปิดกฎหมายดูแค่สามารถแนะนำได้ รัฐบาลก็ไปดูว่าจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร ถ้าไปทำตามองค์กรเหล่านี้ หรือทำตามฝ่ายค้านเตือน แบบนี้รัฐบาลก็บริหารประเทศไม่ได้

โดยเฉพาะรัฐบาลต่อไปจะมีปัญหาหากบอกว่าเตือนแล้วไม่ฟัง ถ้าต่อไปมีคนเข้าชื่อกัน 2 หมื่นชื่อ เพื่อเตือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่ให้ทำโครงการนั้นๆ ถ้าเกิดความเสียหาย

ขึ้นมาท่านต้องรับผิดชอบ มันทำได้หรือ ก็ทำไม่ได้

ขอให้ทุกคนคิดในภาพใหญ่ เมื่อออกนโยบายไปแล้วมีการทุจริตในระดับล่างก็ต้องแยกไปเป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติ

แต่ถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถูกลงโทษ ต่อไปใครเป็นรัฐบาลจะทำอะไรต้องคิดแล้วคิดอีก ซึ่งมันไม่ดี ยิ่งขณะนี้มีความพยายามเร่งรัดการสอบทางแพ่ง การเร่งรัดไม่ผิดเพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องของอายุความ

แต่ที่น่าคิดเมื่อรัฐบาลตัดสินใจและไม่เปลี่ยนใจที่จะใช้ความรับผิดทางละเมิด ขอตั้งข้อสังเกตให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว ควรทำด้วยความรอบคอบ เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

หากโครงการนี้เสียหายจริงจะต้องพิจารณาแบ่งสัดส่วนว่าใครรับผิดชอบจำนวนเท่าไหร่แล้วไปชำระค่าเสียหายตามนั้น ซึ่งมีทั้งใน ครม. ข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกนับร้อย แต่กลับเน้นสอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์คนเดียว

ขอแนะนำว่าไม่ควรรวบรัดทำแบบลวกๆ ระวังผู้นำจะไม่สุจริตต่อหน้าที่ เพราะไม่ถูกต้องทางกฎหมายและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

ยิ่งเป็นคำสั่งของนายกฯที่เป็นคนล้มรัฐบาลย่อมไม่มีความสง่างาม เหมือนเป็นคู่กรณีต่อกัน ตามล้างตามเช็ดกันได้ทุกเรื่อง ลักษณะนี้ควรไปที่ศาลจะสง่างามกว่า

และถ้าขืนทำต่อไปในอนาคตคงต้องออกมาตรา 44 ยกเว้นว่าทำอะไรไม่ผิดอีก

ส่วนโครงการอุทยานราชภักดิ์ พอเกิดขึ้นในยุคทหารเรืองอำนาจก็ไม่อยากให้มีข่าวออกมาว่ามีการทุจริต แต่หลีกไม่พ้นแล้ว เพราะมีบุคคลในรัฐบาลพูดเองว่ามีการทุจริตก็ต้องเดินหน้าตรวจสอบ แต่จะทำได้เนียนแค่ไหน ถ้าทำไม่เนียนวันหลังก็ปรากฏว่าทำไม่ถูกต้อง ภาพของรัฐบาลก็เสียหาย

และไม่ใช่ไปบอกว่ากองทัพบกไม่มีอะไร ถ้ามีไปถามเอาเอง คนมีอำนาจจะทำอะไรก็ได้ แต่ต้องทำให้ประชาชนรับได้

ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลและ คสช. การร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปเป็นห่วงอะไรเป็นพิเศษ นายชัยเกษม บอกว่า ประเทศไทยมาถึงวันนี้เหนื่อย

รัฐบาลจะไปไม่รอดถ้าไม่ปรับกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การร่างรัฐธรรมนูญต้องยึดหลักประชาธิปไตย

แต่ขณะนี้เริ่มชัดเจนทั้งที่มาของ ส.ส. และ ส.ว. ที่มาของนายกรัฐมนตรี องค์กรที่จะตัดสินวิกฤติของประเทศ นายชัยเกษม บอกว่า การออกแบบให้กลุ่มบุคคลหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด สามารถคานอำนาจรัฐบาลที่มาจากประชาชนได้ เพราะคนออกแบบเชื่อว่ารัฐบาลเข้ามาแล้วจะไม่สุจริต

ความจริงรัฐบาลไหนเข้ามาไม่สุจริตจะต้องถูกตรวจสอบอย่างเต็มที่ แต่จะกำหนดให้องค์กรต่างๆมาช่วยปกครองประเทศกับรัฐบาล จะทำให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้

องค์กรที่มาไม่ใช่เทวดามีขึ้นมาแล้วจะทำอะไรก็ได้ ยิ่งเป็นองค์กรที่ไม่ได้มาจากประชาชน อาจจะทำหน้าที่ได้ดี แต่ส่วนใหญ่ทำหน้าที่ได้ไม่ดี ฉะนั้นถ้าออกแบบระบบให้วิตถารก็ไม่ไหวไปไม่ได้

ในหลักการนิรโทษกรรมมาถึงวันนี้ควรจะยกเว้นใครบ้าง และควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไว้อย่างไร เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียมเดินหน้าสู่การปรองดอง นายชัยเกษม บอกว่า อีกไม่กี่วันรัฐธรรมนูญก็ออกมาแล้วคงจะรู้

แต่พอออกมาอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะบอกว่าแรงไป และโทษบางอย่างอาจจะกันไว้เลยว่าเป็นโทษที่รุนแรง หรืออาจจะให้รับโทษกึ่งหนึ่งจะได้เบาหน่อย

วันนี้รัฐบาลต้องตัดสินว่าจะเอาอย่างไร.


ที่มา:https://www.thairath.co.th/content/551579

Categories: Interview