ภูมิธรรม เวชยชัย ชำแหละปมการเมืองร้อนปีนี้
สัมภาษณ์พิเศษ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับประเด็นร้อนทางการเมืองในช่วงปีที่ผ่านมา และมองสถานการณ์การเมืองในปีนี้จะมีทิศทางอย่างไร
การที่ประเทศจะเดินหน้าได้ สิ่งที่เป็นจริงขณะนี้ คือควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมายังไม่เห็นแนวโน้มว่าการที่พรรค การเมืองออกมาพูดหรือเสนอความคิดเห็น ทำให้ประเทศเกิดความเสียหายหรือปั่นป่วนอะไร
การเปิดให้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางที่สุด จะเป็นผลดีต่อฝ่ายผู้มีอำนาจ และเป็นผลประโยชน์กับประเทศโดยตรง ยิ่งปิดกั้นยิ่งทำให้เกิดความสงสัยโดยเฉพาะกับต่างประเทศ ว่ารัฐบาลเคารพในสิทธิการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนมากน้อยแค่ไหน
ยิ่งไม่รับฟังความคิดเห็นที่ แตกต่างออกไป จะทำให้การคิด การตัดสินใจ หรือการปฏิรูปในมิติต่างๆ มีความรอบด้านและเกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร ดังนั้นไม่มีอะไรเสีย มีแต่ดี ผู้มีอำนาจต้องใจกว้าง เปิดให้มีการพูดคุย ซักถามให้มากกว่านี้ก็จะเป็นประโยชน์
ยิ่งวันนี้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศค่อนข้างเสียหาย และดูจะทรุดไปเรื่อยๆ ความยอมรับทางสากลก็ไม่มี จึงควรรีบเปิดบรรยากาศให้มีการแสดงออกซึ่งประชา ธิปไตย เคารพในสิทธิและเสรีภาพของผู้คนให้มากขึ้น ล้วนแต่จะเป็นประโยชน์ที่ทำให้ประเทศได้รับการยอมรับ และเดินไปข้างหน้าได้ ความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้น ทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ยิ่งช้าก็ยิ่งสร้างความเสียหายถือเป็นเรื่องน่าห่วง
ส่วนตัวยังไม่เห็นว่าความไม่สงบทางการเมือง ตอนนี้มีอะไรที่น่าห่วง ทุกคนอยากเห็นประเทศเดินหน้าเร็ว เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งให้ประชาชนตัดสิน ดังนั้น เมื่อเป็นกติกาที่สากลยอมรับ เกิดบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย เปิดให้มีการเลือกตั้ง ให้ประชาชนได้คิด ตัดสินใจ และทุกฝ่ายยอมรับกติกาก็ไม่มีอะไรที่น่าห่วง
วันนี้รัฐบาลสามารถใช้เวลาได้เต็มที่ โดยที่ไม่มีใครขัดขวางกระบวนการทำงานของท่านเลย ท่านน่าจะได้เห็นแล้วว่าในเวลาที่ท่านมีอิสระในการแก้ไขปัญหาของประเทศ แล้วยังมีปมติดอยู่ อาจไม่ใช่ปัญหาเรื่องความไม่สงบหรือหวั่นเกรงว่าใครจะเข้ามาทำอะไร แต่อาจเป็นเรื่องการยอมรับและความเชื่อมั่นมากกว่า
ตรงนี้สร้างไม่ได้ด้วยการพูดว่าบ้านเมืองสงบแล้ว แต่ต้องสร้างด้วยการกระทำ ซึ่งการกระทำที่ดีที่สุด คือการเปิดให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา คิดว่าทุกคนมีบทเรียนแล้ว ไม่อยากให้ประเทศซ้ำรอย ถ้ายอมรับกติกา ทุกอย่างจะดีขึ้น
ถึงเวลาแล้วที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรยกเลิกคำสั่งห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมทางการเมือง ยิ่งประเทศกำลังเผชิญวิกฤต การได้รับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายให้มากขึ้นเป็นสิ่งที่ดี
การยกเลิกคำสั่ง เปิดให้พรรคการเมืองได้ประชุมหารือกัน หลายๆ สมองน่าจะดี ในบรรยากาศประชาธิปไตยความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องความขัดแย้ง แต่เป็นการมองแง่มุมต่างๆ ให้กว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้าง อุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเรื่องน่าห่วง เพราะมีผลกระทบโดยตรง เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเผชิญไม่ว่าจะดีหรือไม่ก็ตาม
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์มีเรื่องเกิดขึ้น และเป็นความไม่สบายใจของคนที่เห็นว่าเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันที่เป็นที่เคารพรักของประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการยืนยันว่ามีการแสวงหาผลประโยชน์ ดังนั้น ต้องทำให้เคลียร์ เรื่องแบบนี้ไม่จำเป็นว่าใครทำ ไม่ทำ ใครก็ตามที่เกี่ยวข้องไม่ว่ากลุ่มไหน พวกไหน ต้องถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น อยากให้ทำแบบตรงไปตรงมา
ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่ต้องลงรายละเอียดแล้วมานั่งถามแบบรายวัน ท่านรู้อยู่แล้วว่าอะไรที่เป็นปัญหา ท่านรู้อยู่แล้วว่าทำรัฐธรรมนูญแบบไหนที่ไม่ถูกใจประชาชน ท่านรู้อยู่แล้วว่าเจตนารมณ์ของประชาชนที่ตกผลึกแล้วอยู่ที่ตรงไหนบ้าง
ถ้าท่านหยิบรัฐธรรมนูญที่เคยผ่านการฟังเสียงและกลั่นกรองจากประชาชนทั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 หากเริ่มจากตรงนี้ ดูปัญหาและหาทางแก้ก็ได้แล้ว การที่ท่านมาโยนไปโยนมา แล้วถามไปถามมา ทำให้ทุกคนหลงประเด็น การแก้ไขปัญหาของประเทศก็ช้าลง ต้องมาวนและจมกับคำถามรายวัน ดูเหมือนขัดแย้งไม่มีที่สิ้นสุด
ขอฝากนายมีชัยในฐานะผู้ใหญ่ของสังคมให้รีบแก้ ไม่อย่างนั้นท่านจะกลายเป็นคนที่ถูกมองและครหาว่ามีส่วนที่ทำให้ทุกอย่างช้าหรือสายเกินไป
แต่เชื่อว่านายมีชัยคงมีประเด็นอยู่ในใจแล้ว สิ่งที่เขียนออกมาหลักการคงไม่แตกต่างไปจากฉบับของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ทั้งนายมีชัยนายบวรศักดิ์รวมทั้ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นคณะกฎหมายกลุ่มเดียวกัน ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด มีความเชี่ยวชาญในการทำกฎหมาย และมีประสบการณ์ร่างรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่สมัยพฤษภา 2535 เห็นมาทั้งหมดทั้งข้อดี ข้อเสีย เชื่อว่าจะร่างรัฐธรรมนูญที่ดีออกมาได้
แต่จากประสบการณ์การร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ของท่าน มักจะร่างโดยซัพพอร์ตผู้มีอำนาจขณะนั้นๆ ขณะที่ต่างประเทศต้องการเห็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจะมีความเป็นสากล ไม่มีหรอกที่ว่าเป็นของไทยๆ เมื่อหลักเป็นประชาธิปไตย การปฏิบัติก็จะเอื้ออำนวยและไปกันได้
ดังนั้น หากท่านเข้าใจรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีหลักนิติรัฐ นิติธรรม เคารพในอำนาจประชาชนและยึดโยงประชาชน เป็นการวางกติกาให้คนที่มีความแตกต่างทางความคิดสามารถอยู่ร่วมกันได้ และระบบไม่มีทางตีบตัน เพราะเมื่อเกิดปัญหาก็จะคืนกลับไปให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ
สิ่งที่ท่านกำลังคิดว่าจะแก้ทางตันนั้น ท่านคิดจากความเป็นจริงที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่คิดว่าท่านคงมีประเด็นในใจแล้ว พอถึงเวลาจะคลอดออกมาทันที ซึ่งตรงนี้น่าห่วง เพราะหากรัฐธรรมนูญไม่เป็น ประชาธิปไตย ไม่สอดรับกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ เมื่อมีการทำประชามติ รัฐธรรมนูญอาจไม่ผ่าน และอาจทำให้เวลาของการคืนประชาธิปไตยและการบริหารประเทศในสภาพที่คนรับได้จะล่าช้าออกไปอีก ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลและคสช.ที่ต้องพิจารณา
โดยพื้นฐานของประชาชน ส่วนใหญ่ ต่างมีประสบการณ์เรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยดีพอสมควร แต่ปัญหาของประเทศที่ผ่านมา คือผู้มีอำนาจเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญที่ดีต้องเป็นพวกอีลิท ที่เรียกตัวเองว่าคนดีมากำหนดทิศทางของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นกรอบกติกาดูแลคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งไม่ใช่
ตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมา ประชาชนเรียนรู้วิถีประชาธิปไตย เรียนรู้ความเจริญและ การแก้ปัญหาตามระบอบประชาธิปไตยจากโลกภายนอกพอสมควร เขาเรียนรู้ที่จะตัดสินใจอนาคตที่ดีของตัวเองได้ หากผู้มีอำนาจยังยึดหลักว่าตัวเขาเห็นปัญหาและตัดสินใจแทนคนจำนวนมาก สะท้อนมาจากแนวคิด เช่น ที่มานายกฯ คนนอก ส.ว.สรรหาจากสาขาอาชีพต่างๆ เป็นต้น จะสะท้อนว่าไม่ยึดโยงกับประชาชน หรือไม่มั่นใจว่าประชาชนจะมีศักยภาพในการเลือกเองจริงๆ
และหากมีการทำประชามติแล้วร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ผู้มีอำนาจต้องคำนึงว่ายิ่งช้า การเลือกตั้งยิ่งยืดออกไป ปัญหาของประเทศยิ่งทับถมซ้ำเติมเข้าไปอีก วันนี้มีเพียงการทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนยอมรับได้
หากประชามติไม่ผ่านต้องหาทางออกไว้ด้วย ผู้มีอำนาจต้องพูดให้ชัดว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับไหนมาแก้ปัญหา เพราะ ปัญหาของสังคมไทยอย่างที่นักวิชาการหลายท่านพูดตรงกัน คือความไม่แน่นอน เมื่อไม่แน่นอนก็นำไปสู่ความไม่มั่นใจ เมื่อไม่มีความมั่นใจก็ไม่มีใครเข้ามาลงทุนกับเรา ปัญหาก็ยิ่งสะสม ดังนั้น ต้องทำให้เกิดความชัดเจน มีความแน่นอน ที่สำคัญต้องมีความเชื่อมั่นว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบบที่มีทางออกด้วยตัวมันเอง แก้ปัญหาได้ด้วยตัวมันเอง
ส่วนจะเกิดความเคลื่อนไหวหรือแรงเสียดทานกับรัฐบาลหากไม่เกิดการเลือกตั้งตามโรดแม็ปช่วงกลางปี 2560 หรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับรัฐบาลเอง ถ้ารัฐบาลรีบดำเนินการ เข้าใจเจตนารมณ์ของตนเองอย่างที่เคยแถลงไว้ว่าเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ก็ควรรีบแก้ปัญหา รีบคืนประชาธิปไตย คืนการเลือกตั้งให้กับประชาชนโดยเร็ว ถ้าเข้าใจหลักการนี้ทุกอย่างจะเดินหน้าไปได้
แต่ถ้ายังหลงทิศหลงทาง ไม่เข้าใจ และไม่ยึดมั่นหลักการที่ตนเองประกาศไว้ จะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ปัญหาจะยิ่งหนักหน่วง การไม่ยอมรับของคนในสังคมอาจเกิดขึ้น จะไม่เป็นผลดีใดๆ เลย
ที่มา : www.khaosodonline.com