ฟังอีกเสียง โต้ง กิตติรัตน์ เผยเคล็ดฟื้นเศรษฐกิจ
ในโอกาสมติชนก้าวสู่ปีที่ 39 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษถึงมุมมองเศรษฐกิจปี 2559 และเล่าถึงแนวความคิดการบริหารงานด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมา
การที่รัฐบาลพยายามให้เศรษฐกิจฐานรากดีขึ้นผ่านการดูและเกษตรกร จะทำให้เศรษฐกิจไทย 2559 โตได้ 3.5% ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินหรือไม่นั้น มองว่าการที่เศรษฐกิจไทยจะดีหรือไม่ปัจจัยสำคัญอยู่ที่กำลังซื้อของคนในประเทศ เพราะหากกำลังซื้อของคนในประเทศชะลอตัวจากปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำโดยไม่มีนโยบายช่วยเหลือแทรกแซงใดๆ เศรษฐกิจชะลอตัวคนที่อยู่นอกภาคการเกษตรไม่มีรายได้จากการจ้างงานแบบเกินเวลา(โอที) ถูกลดเวลาทำงานลงหรือถูกเลิกจ้างงาน หางานทำยากขึ้นเหล่านี้ ทำให้กำลังซื้อในประเทศไม่ดี ผลตามมาคือการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตตอบสนองความต้องการภายในประเทศจะไม่ดีตามไปด้วย ดังนั้น ส่วนนี้เป็นข้อกังวลที่ต้องจัดการ ทั้งนี้กรณีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานระบุว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เศรษฐกิจ 5 เรื่อง คือ 1 กำลังซื้อของคนในประเทศ 2 การส่งออก 3 การลงทุนเอกชน 4 การใช้จ่ายภาครัฐ 5 การท่องเที่ยว ส่วนตัวคิดว่าไม่ต้องดีทั้ง 5 เครื่องยนต์ แต่จำเป็นต้องมีเครื่องยนต์ดีบ้าง หากกำลังซื้อของคนในประเทศลดลง ราคาสินค้าเกษตรแย่ การจ้างงานชะลอตัว โอทีลด ถามว่ากำลังซื้อจะมาจากที่ใด จะลามไปถึงการลงทุนภาคเอกชนอาจไม่เติบโต เพราะหากคนยังกังวลว่าจะผลิตและส่งออกได้หรือไม่ เพราะกังวลเรื่องเขตการค้าเสรี(FTA) และกำลังซื้อในประเทศจึงสรุปได้ว่า ในปี 2559 จะมีเครื่องยนต์ติดดีคือการท่องเที่ยว และการลงทุนของภาครัฐ การท่องเที่ยวถือเป็นตัวอุปถัมภ์ค้ำจุนประเทศพอสมควร
ด้านการใช้จ่ายภาครัฐทำได้มีประสิทธิภาพดีหรือไม่นั้น ขณะนี้การใช้จ่ายภาครัฐจ่ายออกไปแล้วเป็นประโยชน์ต่อระยะยาวเป็นหลักเท่านั้น เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่กระจายออกไปถึงคนทั่วไปอาจเกิดข้อสงสัยว่าทำไมรัฐบาลชุดที่ผมเป็นรองนายกรัฐมนตรีจึงกล้าวางแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวเพราะมีแผนระยะสั้นไว้แล้ว
รัฐบาลชุดนี้ยังขาดการดูแลผู้มีรายได้น้อยทั้งในภาคการเกษตร และนอกภาคการเกษตร อาจเพราะกลัวว่าเป็นประชานิยม ในความเป็นจริงจะเรียกว่าประชารัฐก็เรียกไป แต่การไม่ดูแลผู้มีรายได้น้อยในและนอกภาคการเกษตรจะทำให้กลุ่มคนกลุ่มนี้ไม่มีกำลังซื้อ กงจักรเศรษฐกิจจะทำงานไม่ได้
การอัดฉีดเงินเข้าไปในผู้มีรายได้น้อยดำเนินการมาตั้งแต่ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช จะไปคิดว่าเป็นบาปกรรมหรือประชานิยมอะไรนักหนา หลักการทางเศรษฐศาสตร์ลืมไปหมดแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะคำว่า มาร์จินอล พรอพเพนซิตี้ ทู คอน ซูม (Marginal Propensity to Consume –MPC) หรือการบริโภคเพิ่มขึ้นเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น
อธิบายคือ การส่งเงินเข้าไปในระบบ 100 บาท คนมีรายได้น้อยเก็บไว้ 2 บาท บริโภค 98 บาท ส่งต่อให้อีกคนเก็บไว้ 2 บาท บริโภค 96 บาท วนหลายเที่ยวจะเป็นกำลังซื้อรวมมหาศาล แต่หากไม่เชื่อเรื่องนี้คิดว่าการอัดฉีดเงินเข้าไปเป็นประชานิยมไม่ช่วยเหลือใดๆ ทั้งในส่วนของราคายางและราคาข้าว รายได้จะไม่หมุนเวียนในระบบ
สมมุติว่า นายเอ มีรายได้ต่ำมาก นายบีมีรายได้สูงมาก มีเงินอัดฉีดมาจากรัฐบาล มาถึงผู้มีรายได้น้อยมาก ใช้ 98 บาท เก็บ 2 บาท พอถึงอีกคนใช้ 96 บาท เก็บ 2 บาท เมื่อหมุนถึงบาทสุดท้าย เงินที่ใส่มา 100 บาท อยู่ในเงินออม 100 บาท แต่สร้างรายได้ให้ประชาชาติเป็น 10 เท่า แต่หากใส่เงินไปที่คนรวยระดับประเทศ เงินอัดฉีด 100 บาท จะเข้ากระเป๋าทันที 100 บาท เงินออมครบ 100 บาทเหมือนกันแต่ไม่หมุนเวียนในระบบไม่เป็นรายได้ อีกกรณีหนึ่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบโดยผ่านชนชั้นกลาง เงินจะถูกเก็บเข้าเป็นเงินออม 50 บาท ใช้บริโภค 50 บาท อีกคนเมื่อรับเงินก้อนนี้เก็บ 25 บาท บริโภค 25 บาท สุดท้ายเงินออม 100 บาทเหมือนกัน แต่หมุนน้อยกว่าใส่เงินไปที่คนที่ชอบใช้จ่าย การออกมาตรการช้อปช่วยชาติถือเป็นมาตรการที่ดี ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
ถ้าเราจะใส่เงินในอีกระบบหนึ่ง คือช่วยให้ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น ขายข้าวได้ราคา เกษตรกรอาจไปซื้อลูกชิ้นปิ้งให้ลูกกิน พ่อค้าลูกชิ้นซื้อรองเท้า เสื้อยืด เงินจะหมุนเวียนในระบบและสุดท้ายคนรวยจะได้ประโยชน์จากสินค้าที่คนรวยเป็นผู้จำหน่าย เวลาใส่เงินจากข้างล่าง เงินจะควงขึ้นข้างบน เงินที่อยู่ข้างบนจะไม่ควงลงข้างล่าง ส่วนเงินอยู่ตรงกลางมักจะควงขึ้นข้างบนและไม่ถึงข้างล่าง เรามองทฤษฎีการบริหารเศรษฐกิจต่างกัน แต่ละแผนเศรษฐกิจต่างมีเหตุผลรองรับ
รัฐบาลชุดนี้ใช้วิธีลดหย่อนภาษีคือให้คนนำเงินไปใช้จ่ายแล้วนำมาลดภาษี แต่รัฐบาลชุดก่อนหน้าเก็บภาษีครบมาก่อนแล้วจ่ายผ่านราคาสินค้าเกษตรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ถามว่าทำไมไม่เลือกวิธีลดหย่อนภาษี เพราะวิธีลดหย่อนภาษีจะมีผลบวกกับคนในระบบเพียง 4 ล้านคน แต่ประเทศไทยมีประชาชนอยู่ในระบบสูงถึง 40 ล้านคน
ส่วนของราคายางพาราที่ลดลงตามราคาตลาดโลกนั้น หากเป็นรัฐบาลที่ผมเป็นหัวหน้าเศรษฐกิจจะใช้วิธีเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลลดลงเกือบหลุด 20 บาท ถามว่าทำไมต้องให้ผู้ใช้รถมีความสุขมากขนาดนั้น ควรเก็บเงินราคาน้ำมันที่ลดลงไปช่วยเหลือชาวสวนยางที่ราคาลดลงแรง เพราะประเทศนี้อยู่ด้วยกัน หากคนใต้แย่ทั้วประเทศก็แย่ จะโทษว่าเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มแล้วทำให้ค่าขนส่งเพิ่มจะถามกลับว่า จะรอให้ภาคใต้ไม่มีกำลังซื้อจนไม่ต้องขนสินค้าไปส่งหรืออย่างไร
“การอัดฉีดเม็ดเงินให้ถึงประชาชนที่มีรายได้น้อยจริงที่รัฐบาลผมทำคือ ทำผ่านนโยบายช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตร ทำผ่านค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งหากจะมาโจมตีทางการเมืองว่าค่าแรง 300 บาททำให้บริหารเศรษฐกิจยากนั้น หากคิดอย่างนั้น ผลักคนที่มีรายได้น้อยจะนำกำลังซื้อที่ไหนมา และหากทำงานได้ค่าแรงสูงแต่ประสิทธิภาพการทำงานไม่คุ้มค่าก็ต้องถูกนายจ้างไล่ออก นี่เป็นการสร้างประสิทธิภาพการผลิตให้เกิดขึ้นเองตามกลไก การคิดทางเศรษฐศาสตร์ในสมัยรัฐบาลก่อนหน้าจึงสนใจทั้งเชิงจุลภาคและมหภาค มหภาคเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงมีกำลังซื้อและภาคธุรกิจอยากขยายกำลังการผลิต เพื่อรองรับกำลังซื้อที่มากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม นายกิตติรัตน์ ออกตัวว่าจะกล่าวหาว่ารัฐบาลนี้วางแผนไม่ถูกต้องเราไม่เข้าใจสภาพเศรษฐกิจไม่ได้และไม่ถูกต้อง เพราะส่วนตัวมองว่ารัฐบาลชุดนี้วางแผนด้านเศรษฐกิจระยะยาวได้ถูกต้อง เพียงแต่ไม่มีการวางแผนสำหรับเศรษฐกิจในระยะสั้น แม้ว่าจะมีมาตรการลดภาษี ช้อปช่วยชาติ ก็ถือว่าไม่ครอบคลุมประชากรทั้งหมด อธิบายง่ายๆคือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยมีมูลค่า 12 ล้านล้านบาท 1% ของ 12 ล้านล้านบาทคือ 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่นโยบายช้อปช่วยชาติที่ผ่านมามียอดซื้อประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เท่ากับ 0.1% ของจีดีพี
ถามว่ามาตรการนี้ดีหรือไม่ ตอบว่ามาตรการดี แต่คนได้ประโยชน์คือมนุษย์เงินเดือนที่มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีเพื่อนำใบเสร็จการซื้อของมาหักลดหย่อน คนไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน เกษตรกรไม่ได้อะไร
เมื่อดูสถิติพบว่ามนุษย์เงินเดือนที่จ่ายภาษีและอยู่ในระบบมีเพียง 4 ล้านคน แต่เกษตรกรในประเทศไทยมีกว่า 25 ล้านคน เป็นชาวนา 16 ล้านคน วิธีคิดของรัฐบาลชุดก่อนหน้าไม่ใช่ไม่ให้ความสำคัญกับคนเมือง เราดูแลมนุษย์เงินเดือนด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นให้มีรายได้กว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ส่วนเรื่องประสิทธิภาพการผลิตนั้นให้คนที่ได้รับเงินเดือนเพิ่มและกลไกตลาดจัดการ เพราะคนเหล่านี้ช่วยเหลือตนเองได้ แต่คนที่อยู่อีกระบบรอให้ราคาสินค้าเกษตรขึ้น คนกลุ่มนี้ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ดังนั้น หลังจากนี้รัฐบาลต้องช่วยเหลือเรื่องราคาสินค้าเกษตรและผลิตผลการเกษตร ผมพูดตามหลักการเศรษฐศาสตร์และพูดในสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง
ในส่วนของการส่งออกจะต้องดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งและประเทศคู่ค้าได้หรือไม่ ส่วนนี้ผมให้กำลังใจรัฐบาลหวังว่ารองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะใจถึงใจ เข้าใจประโยชน์ชาติด้วยกัน ไม่ทำตัวเป็นองค์กรอิสระจากนโยบายรัฐบาลเหมือนสมัยอดีต ผมเจ็บปวดมามากพอแล้วไม่อยากให้ใครมาเจ็บปวดแบบผม เศรษฐกิจประเทศจะดีหรือไม่ รัฐบาล นายกรัฐมนตรี รองนายกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบ ถึงเวลาผู้ว่าการ ธปท.จะมาอ้างเรื่องความเป็นอิสระอย่างเดียวไม่ได้ หากไม่อยากจะบาดเจ็บแบบผม กรุณาทำความสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจร่วมกันให้ดี
ตลาดการส่งออกตลาดสำคัญมี 4 แห่ง คือ สหรัฐฯ ยุโรป จีน อาเซียน ตลาดสหรัฐฯและยุโรปมีความอ่อนด้านการเมือง จึงยังไม่สามารถเจรจาเรื่อง FTA และไม่สามารถรักษา GSP ไว้ได้ ดังนั้น ตรงนี้เป็นข้อลำบากของรัฐบาลชุดนี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน วันจันทร์ ที่ 11 มกราคม 2559