ภูมิธรรม ชี้ ปชช.ส่วนใหญ่ไม่มั่นใจระบบและตัวบุคคลที่กรธ.ออกแบบ แนะรีบคืน ปชต.สู่ปกติ

ข้อคิดเห็นบางประการที่มีต่อข้อเสนอแนะของ
ครม. เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญ

ผมมีข้อสังเกตบางประการ
ดังนี้

1. อย่างน้อยที่สุด
ถือเป็นเรื่องที่น่าดีใจ
ที่ผู้มีอำนาจแสดงการยอมรับและเข้าใจในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่า

“รัฐธรรมนูญฉบับที่นายมีชัย
ได้จัดทำขึ้น มีปัญหา และได้รับการปฏิเสธจากกลุ่มคนวิชาชีพต่างๆ อย่างกว้างขวาง
เกือบทุกด้าน”

และได้แสดงความห่วงใยชัดเจนว่า
ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ จะไม่ได้รับการยอมรับ และอาจจะไม่ผ่านประชามติ
และไม่อาจสร้างความเข้าใจกับนานาชาติที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยได้

2. ข้อเสนอในรายละเอียดเกี่ยวกับ
ม.139 วรรค 2 ที่ห้าม ส.ส. / ส.ว.
และกรรมาธิการงบประมาณ นั้น รวมทั้งมาตราอื่นๆ อีกมาก ถือว่ายอมรับว่า
ร่างรัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆ ดังกล่าว
มีเนื้อหาสาระที่ขาดความชัดเจนและส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาประเทศ
ทำให้ไม่สามารถดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ…”รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
จะบริหารประเทศด้วยความยากลำบาก หรืออาจบริหารไม่ได้เลย”

3. การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มอบอำนาจพิเศษให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ
ที่มีอำนาจมากเป็นที่สุด และส่งผลกระทบกับระบบการบริหารประเทศ
และตัวแทนอำนาจอธิปไตยของประชาชนชาวไทย สะท้อนให้เห็นว่า
ผู้มีอำนาจได้เห็นถึงปฏิกิริยาของการคัดค้านและมองเห็นถึงความผิดพลาดในอดีตที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้เคยกระทำเรื่องผิดพลาดมาแล้วในการใช้ดุลยพินิจตัดสินบางคดีคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการต่ออายุของตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญ
ที่ต่ออายุให้ยืดยาวออกไป 
ซึ่งหากไม่ทำเช่นนั้นจะทำให้เกิดความเข้าใจว่า
ต้องการที่จะสืบทอดอำนาจต่อไป 
ดังนั้นการที่ผู้มีอำนาจมีข้อเสนอให้ยึดถือโร้ดแม๊พให้เคร่งครัด
จะเป็นผลดีต่ออนาคตของประเทศโดยรวม 
มากกว่าการยืดโร้ดแม๊พออกไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด

4. สุดท้ายประเด็นสำคัญ
ที่ผู้มีอำนาจเสนอต่อ กรธ.เรื่องประชาธิปไตยครึ่งใบนั้น 
ผมเห็นว่าปัจจุบันคนส่วนใหญ่และฝ่ายที่ยึดมั่นในประชาธิปไตยทุกคน
มีความไม่ไว้วางใจและไม่แน่ใจในระบบและตัวบุคคลที่จะเกิดขึ้นจากระบบและกลไกที่ กรธ.ได้ออกแบบไว้

ในความเป็นจริง
ระบอบประชาธิปไตยไม่เคยพบทางตัน และไม่เคยวิกฤตจนไม่มีทางออก 
ระบอบประชาธิปไตยมีกระบวนการคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองด้วยตัวของมันเอง

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
จนก่อให้เกิดการรัฐประหาร พ.ค.2557 เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นจากฝ่ายที่ไม่ยอมรับประชาธิปไตย
และไม่เคยยอมรับในกติกาที่ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจในยามที่ประเทศมีวิกฤต

หลังการรัฐประหาร
เรายังไม่เห็นความจริงจังในการป้องปรามกลุ่มต่างๆ ที่เป็นต้นตอแห่งวิกฤต 
จะเห็นได้ว่าบุคคลหรือคณะบุคคลที่เป็นต้นตอแห่งวิกฤตการณ์ทั้งหลาย ยังแสดงบทบาทที่ขัดขวางและส่งผลกระทบต่อผู้ที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย 

ช่วงเวลากว่า
2 ปีที่การรัฐประหาร 22
พ.ค.2557 เกิดขึ้นไปจนถึงต้นปี 2560
เป็นระยะเวลาที่นานเพียงพอต่อการกลับคืนสู่ภาวะประชาธิปไตยปกติ…และนี่เป็นเพียงหนทางเดียวที่ดีที่สุดที่จะทำให้ประเทศพ้นวิกฤต
และชีวิตของประชาชนกลับคืนสู่ความสงบสุข 

การปล่อยให้กระบวนการต่างๆ
ยืดเยื้อยาวนานต่อไป
หรือการไม่ทำให้กลไกของระบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่ภาวะปกติที่นานาอารยะประเทศยอมรับ
มีแต่จะสร้างความเสียหาย และตีบตับให้แก่ประเทศ
และที่สำคัญคณะผู้มีอำนาจที่เข้ามาบริหารประเทศหลังการรัฐประหาร
อาจถูกมองว่าปรารถนาที่จะสืบทอดอำนาจต่อไป ซึ่งจะไม่เป็นผลดีใดๆ เลย

             ภูมิธรรม เวชยชัย

  รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย

          19 กุมภาพันธ์
2559

Categories: Interview