ตีโจทย์ศก.ไทยดิ่งยาว…10 ปี ปัจจัยใน-นอก รุมเร้าหนัก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเศรษฐกิจของประเทศกำลังเป็นปัญหาหนักอกของรัฐบาลในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นระยะ แต่ช่วยได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะสุดท้ายแล้วตัวเลขเศรษฐกิจที่หน่วยงานภาครัฐประกาศออกมาก่อนหน้านี้ล้วนแต่สะท้อนในทางที่ไม่ดีอย่างที่รัฐบาลตั้งความหวัง
พิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานฝ่ายเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย (พท.) อดีต รมว.พลังงาน และอดีต รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษกับโพสต์ทูเดย์ถึงภาพรวมปัญหาเศรษฐกิจของไทย ว่า “ตอนนี้น่ากังวล สัญญาณการส่งออกล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค. 2559 ลดลง 8.91% เมื่อภาพการส่งออกทรุดลงแบบนี้และประกอบกับการลงทุนจากต่างประเทศที่หายไปอีก 78% ถามว่านั่นใช่สัญญาณว่าต่างประเทศทิ้งประเทศ ไทยแล้วหรือไม่ เขาไม่เอาแล้วหรือเปล่า ผมมองว่าที่เป็นแบบนี้ค่อนข้างชัดว่าเศรษฐกิจเราจะดิ่งไปอีกมาก เพราะเมื่อการลงทุนไม่เกิด อนาคตการส่งออกก็แย่”
ดังนั้น เมื่อไม่มีการลงทุน ไม่มีการส่งออก เศรษฐกิจไทยจะฟื้นต้องใช้เวลาอีกมาก อยากเตือนทุกคนว่าเศรษฐกิจขณะนี้หนักมากจะทำให้คนลำบากขึ้น ที่น่าห่วงคือ จะทำให้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี กินเวลายาวและต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีก 5-10 ปี จะนับจากหลังที่เรามีการเลือกตั้งและการเลือกตั้งนั้นต้องเลือกตั้งด้วยความสงบ แล้วประเทศเข้าสู่ในหลักเกณฑ์ที่รับได้ ไม่ใช่การเลือกตั้งที่มีรัฐธรรมนูญแล้วไม่ได้รับการยอมรับ
พิชัย อธิบายอีกว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจเรื่องการลงทุน สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นไม่ได้ลดลง เพราะในภูมิภาคนี้มีการเจริญเติบโตสูง แม้มีเงินไหลเข้ามามาก แต่ไหลไปที่อื่น เช่นตัวเลขการลงทุนของเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ทุกประเทศตัวเลขขยายหมด มีแต่ของไทยที่ลดลง อย่าไปมองว่าเศรษฐกิจโลกแย่อย่างเดียว ถามว่าเศรษฐกิจประเทศไทยเจอเกิดจากอะไร ประเทศเดินไม่ได้เศรษฐกิจจะเสียหายมาก
สำหรับปัญหาเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยจากปัญหาเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของสาธารณรัฐประชาชนจีนและราคาน้ำมันที่ผันผวน ซึ่งอดีตรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจรายนี้อธิบายในสาระสำคัญดังนี้
ปัจจัยแรกคือจีน ทันทีที่เปิดศักราชใหม่ เศรษฐกิจจีนก็แย่เลยตลาดหุ้นจีนตกอย่างมากต้องหยุดการซื้อขายสองครั้ง ค่าเงินหยวนอ่อนลง ถ้าเรามองทั้งโลกเศรษฐกิจจีนจะเป็นปัญหาหลัก เพราะปัญหาจีนมีหลายอย่างเริ่มโผล่ขึ้นมา ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโตเร็วก็จริง แต่มีปัญหาในเรื่องธรรมาภิบาล ปัญหาหลักของจีน เวลานี้ไม่ต่างจากปัญหาเศรษฐกิจไทยเมื่อปี 2540 เมื่อจีนปล่อยให้หุ้นโต 150% ภายใน 1 ปี แต่การเจริญเติบโตลดลงหุ้นก็ต้องทรุด เนื่องจากจีนต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์โตเท่าสหรัฐแต่ทำไม่ได้ ดังนั้นเศรษฐกิจจีนก็ต้องใช้เวลาอีกนานอย่างต่ำ 3-5 ปี
ปัจจัยที่ 2 ราคาน้ำมันมีแนวโน้มจะมีราคาต่ำไปอีก 10 ปี หรืออาจจะไม่ขึ้นก็ได้ โดยมีปัจจัยมาจากการค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ๆ จำนวนมาก ขณะเดียวกันการใช้น้ำมันก็ลดลงเรื่อยๆ เพราะมีพลังงานทางเลือกมาก เช่น ไฟฟ้า เมื่อน้ำมันราคาลดลงประเทศที่ผลิตน้ำมันส่งออกก็มีปัญหา ราคาน้ำมันที่ผันผวนส่งผลไปถึงราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงตามด้วย ไม่ต่างอะไรกับราคาสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะยางพารา เหนื่อยมากไม่มีทางขึ้นเพราะถ้าน้ำมันถูกราคายางพาราก็จะลงตามไปตลอด เพราะยางสังเคราะห์จะมีต้นทุนที่ถูกกว่าก็จะเป็นปัญหาระยะยาว
แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย แต่ในทัศนะของพิชัยมองอีกด้านว่าไม่ควรมองเพียงมิติเศรษฐกิจโลกเพียงอย่างเดียว เพราะต้องย้อนกลับมาดูปัจจัยต่างๆ ภายในประเทศไทย ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่ต่างกัน
“เมื่อเรามองปัญหาจากปัจจัยภายนอกแล้ว เราย้อนกลับมามองปัญหาภายในของไทยด้วยที่ค่อนข้างเหนื่อย ผมเคยเตือนมาตลอดว่าถ้าต่างประเทศเขาไม่มั่นใจเราว่า เหตุการณ์ต่างๆ จะจบลงเมื่อไหร่ หรือถ้าไทยถูกแซงก์ชั่น (มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ) นักลงทุนที่ไหนจะมาลงทุน ไม่ว่ารัฐบาลจะไปออกโปรโมชั่นก็ไม่ได้ช่วยอะไร ถ้าเขามาลงทุนแล้วขายของไม่ได้ ต้องเข้าใจว่านี่คือปัญหา หากเขาไม่ทราบว่าเราจะจบยังไงเลือกไปทางไหน เขาก็ไม่กล้าเสี่ยง เพราะมันไม่คุ้ม”
“ประเทศทั้งอาเซียนเศรษฐกิจเขาดีหมด โดยเฉพาะเวียดนามเศรษฐกิจเขาดาวรุ่งมาก สินค้าการลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เข้าไปที่เวียดนามหมด เวียดนามเศรษฐกิจเขาโต 6.68% ส่งออกเขาโต 8.1% จะพูดว่าเวียดนามได้จากประเทศไทยก็ได้ เพราะคนไม่มั่นใจในไทยการลงทุนก็หันไปที่เวียดนามหมด เพราะดูตัวเลขการลงทุนต่างประเทศเวียดนามโตได้ การลงทุนต่างประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้น 17.4% อย่าไปเข้าใจว่าโลกแย่แล้วประเทศอื่นจะแย่หมด”
“สิ่งที่เราเป็นอยู่อย่างนี้จะทำให้ประเทศเราเสียโอกาส สุดท้ายคนไทยต้องไปทำงานที่ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะประเทศเพื่อนบ้านเขาจะโตทันเราและอุตสาหกรรมใหม่ๆ จะไปที่ประเทศนั้นๆหมด”
“ที่บอกว่านักลงทุนมองไทยว่ายังไม่มีจุดจบนั้นหมายความว่าอย่างไร? พิชัย อธิบายว่า คือความสงบ ความน่าเชื่อถือ ความน่าไว้วางใจ หลายประเทศมีกระบวนการพัฒนาประเทศที่ดีขึ้น เช่น เมียนมา กระบวนการพัฒนาของเขามีทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ได้แย่ลง มีการเลือกตั้ง มีการแก้กฎหมายต่างๆ ให้เข้าสู่รูปแบบประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ประเทศเรากลับร่างรัฐธรรมนูญย้อนหลังกลับไป กระบวนการพัฒนาของเราถอยหลัง”
“ลองคิดดูว่าประเทศไหนที่กระบวนการพัฒนาถอยหลังแล้วเจริญบ้าง เราต้องคิดให้ชัดว่าที่เราเดินอยู่ตอนนี้เดินหน้า หรือถอยหลัง การดำเนินการอะไรตอนนี้จะทำอะไรก็ได้ให้ต่างประเทศเขามั่นใจ เพราะเศรษฐกิจเราขึ้นกับต่างประเทศเยอะ ไม่ได้โตด้วยตัวเองได้”