วิเคราะห์ข้อเสนอ คสช. ผูกขาดอำนาจจริงหรือ ??

เจตนาของ คสช.ที่ส่งผ่านไปยัง กรธ. ซึ่งเป็นบุคคลที่ตนแต่งตั้งขึ้นให้ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญว่าแท้จริงแล้ว คสช. หรือผู้ที่ทำการยึดอำนาจมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เขาต้องการอะไร หากย้อนไปพิจารณาตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็รประธาน จนมาถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. ซึ่งเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับล้วนมีปัญหาสำคัญอันหนึ่งที่เหมือนกันคือปัญหาที่กล่าวว่า คสช. ต้องการสืบอำนาจ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนาบวรศักดิ์ ถูกต่อต้านมากและไม่เป็นที่ต้องการของ คสช. จึงมรการส่งสัญญาณจากผู้มีอำนาจให้สภาปฏิรูปแห่งชาติคว่ำร่างดังกล่าวก่อนไปถึงการลงประชามติ ตามที่นายบวรศักดิ์ได้พูดไว้ว่า “เขาต้องการอยู่ยาว”

สำหรับข้อเสนอดังกล่าวทีความเห็นดังนี้ 1.เรื่องที่มาและอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. เป็นที่ชัดเจนว่า คสช.ต้องการให้มี ส.ว. จำนวน 250 คน มาจากการแต่งตั้งของคณะบุคคลเพียง 8-10 คน โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา แต่เมื่อดูเหตุผลที่ยกเป็นข้ออ้าง น่าจะเป็นข้ออ้างที่เขียนเพื่อให้ดูดีเท่านั้น แต่ในความต้องการอันแท้าจริงแล้วเป็นเรื่องอื่นมากกว่า โดยเห็นว่า คสช. ต้องการควบคุมและมีอำนาจใรทางการเมืองอยู่โดยผ่านทาง ส.ว. เพราะคณะบุคคลที่ทำหน้าที่คัดเลือก ส.ว. 8-10 คนนั้น ส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นผู้ที่ คสช. สั่งการได้ กรณีดังกล่าวจึงอาจกล่าวสรุปได้ว่า ส.ว.ทั้ง 250 คน มาจากการแต่งตั้งของ คสช. โดยทางอ้อม นอกจากนี้การให้ ผบ.เหล่าทัพ รวมถึง ผบ.ตร. ป็น ส.ว. ด้วย ก็มีปัญหาเพราะบุคคลเหล่านี้คุมทั้งกำลังทั้งทหารและตำรวจ  บรรดา ส.ว. ทั้งหมดที่เหลือก็ต้องทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจเหล่านี้อยู่แล้ว

ที่สำคัญประการต่อมาคือการเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ ส.ว. มีอำนาจในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ทั้งที่เดิมเข้าใจกันว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และให้มีอำนาจในการขับเคลื่อน การปฎิรูป ซึ่งก็ไม่ต่างจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ในร่างของนายบวรศักดิ์ ที่จะให้มีอำนาจชี้นำการบริหารของรัฐบาล ซึ่งถูกต่อต้านมาแล้วอย่างหนัก อำนาจหน้าที่สำคัญที่ คสช. เสนอเอาไว้อีกอย่างคือให้ ส.ว. มีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกประหลาดและเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่ให้บุคคลที่มาจากการแต่งตั้งอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ให้ข้าราชการประจำอภิปรายรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตนเอง การให้อำนาจดังกล่าวแก่ ส.ว. แสดงให้เห็นชัดว่า คสช. ยังคงต้องการควบคุมอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินไว้อยู่อย่างไม่ต้องสงสัย

2.การให้ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบนั้น เห็นว่าเป็นเรื่องที่ กรธ. ควรจะทำอยู่แล้ว เพราะการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงของการเลือกตั้ง แต่เห็นว่าข้อเสนอส่วนนี้เป็นเพียงการกลบข้ออ้างสำคัญ คือ การขอให้มีการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่ 3 เขต แต่ให้ประชาชนเลือกผู้สมัครได้เพียงคนเดียว ข้อเสนอตรงนี้พบว่ามีปัญหามาก เนื่งจากการใช้ระบบเขตใหญ่แต่ให้เลือกได้คนเดียวนั้นเคยมีการศึกษาแล้วพบว่ามีข้อเสียมากกว่าข้อดี การใช้เขตละคนก็เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว เหตุใด คสช. จึงเสนอรูปแบบดังกล่าวขึ้นมา มองเจตนาได้ว่าต้องการสกัดพรรคการเมืองใหญ่ให้มี ส.ส.เขตลดลงเพราะแม้จะส่งผู้สมัคร 3 คน แต่กลับเลือกได้คนเดียว นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องสิทธิของประชาชนแล้ว ระหว่างผู้สมัครพรรคเดียวกันก็จะแข่งขันแย่งชิงกันเอง ทำให้เกิดสภาพวุ่นวายไปหมด เห็นว่าเจตนาแท้จริงของ คสช. คงมีเป้าหมายทางการเมือง หรือต้องการสกัดพรรคที่ คสช. เห็นว่าเป็นปรปักษ์กับตนมิได้ให้เสียงข้างมาก เพื่อให้เกิดปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาล แล้วใช้กลไกอำนาจที่ซ้อนไว้ในรัฐธรรมนูญให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องเลือกบุคคที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ตามที่ คสช. ต้องการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

3. การยกให้ยกเว้นไม่ต้องให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อในการเลือกตั้ง ข้อนี้ยิ่งเห็นภาพชัดเจนว่า คสช. ต้องการสืบทอดอำนาจ เพราะการเสนอชื่อเป็นการเปิดเผยต่อประชาชนหากเป็นคนของ คสช. พรรคการเมืองที่เสนอชื่ออาจมีคะแนนเสียงในการเลือกตั้งลดลงและอาจถูกโจมตีในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งได้

แม้จะไม่มีข้อเสนอของ คสช. ส่วนนี้ตามร่างรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้อยู่แล้วว่าพรรคการเมืองจะไม่เสนอชื่อก็ได้ แล้วทำไม คสช. ต้องการให้ยกเว้นบทบัญญัติส่วนนี้ มองว่าเพื่อป้องกันปัญหาการไม่ยอมรับของประชาชน เพราะหากมีการเสนอชื่อคนของ คสช. ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่มีการเสนอรายชื่อก่อนการเลือกตั้งอาจจะมีปัญหาเรื่องความชอบธรรม ดังนั้น คสช. จึงเห็นว่าไม่ควรให้มีการเสนอรายชื่อไปเสียเลยจะดีกว่า เมื่อพิจารณาเจตนาในการร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค โดนที่ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้องมากประกอบด้วยแล้ว ข้อเสนอส่วนนี้มีน้ำหนักให้เชื่อว่า คสช. ต้องการสืบทอดอำนาจด้วยการให้คนที่ตนเองเห็นชอบเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง เพราะระหว่างเลือกตั้ง คสช. ยังมีอำนาจควบคุมประเทศอยู่เหมือนเดิม หาก คสช. เกรงว่าจะเกิดปัญหาการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้และหวังดีต่อประเทศชาติ และต้องการให้ประเทศชาติเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริงแล้ว เมื่อเห็นปัญหาเกิดขึ้นแล้วทำไมจึงเสนอให้ กรธ. ใช้ระบบเลือกตั้งรัฐธรรมนูญปี2540 หรือ 2550 เพื่อมิให้เกิดปัญหาดังกล่าว และก็ควรกำหนดให้ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.

ดังนั้นข้อเสนอของ คสช. จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนแต่อย่างใดเลย เมื่อพิเคราะห์เหตุผลเบื้องหลังข้อเสนอของ คสช. แล้ว จึงเห็นเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ว่า คสช. ต้องการมีบทบาทในการควบคุมอำนาจทางการเมืองต่อไป ผ่านองค์กรและบุคคลที่ตนเองสามารถสั่งการได้ มีแต่จะสร้างปัญหาขัดแย้งตามมามากมาย ไม่ควรนำประชาชนมาเป็นข้ออ้าง และโทษนักการเมืองให้เป็นจำเลยของสังคมต่อไป แต่ควรจะมองข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ ว่า คสช. สามารถแก้ไขปัญหาหลักๆของประเทศโดยเฉพาะปัญหาด้สนเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนและปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติได้หรือไม่ เมื่ออำนาจเบ็ดเสร็จที่มีอยู่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็ไม่ควรไปกำหนดเงื่อนไขกลไกต่างๆ เพื่อให้เกิดปัญหาและความยุ่งยากไว้ในรัฐธรรมนูญอีก ควรกำหนดให้การเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง ประชาชนมีสิทธิในการเลือกผู้แทนของตนเองทั้ง ส.ส. และ .ส.ว และรัฐบาล เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ และได้คนที่มีความรู้ความสามารถที่ประชาชนเห็นชอบได้เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไป

นายชูศักดิ์ ศิรินิล
หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย

ที่มา : มติชน

Categories: Interview