ประชาธิปไตยไม่เคยสร้างปัญหา

“ต้องให้คนส่วนใหญ่ยอมรับว่ากติกาที่จะอยู่เป็นยังไง ไม่ใช่ให้คนเพียงไม่กี่คนเป็นคนผูกขาดความเป็นประชาธิปไตยหรือผูกขาดความ ถูกต้อง แล้วมากำหนดว่ารัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้”

          ตั้งแต่การเข้ายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้หัวหน้าคณะที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งต่อมาได้มีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาบริหารประเทศและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมประกาศโรดแม็พ คืนความเป็นประชาธิปไตยให้กับประเทศและปวงชนชาวไทยภายในปี 2560 ซึ่งคนไทยจะได้ประชาธิปไตยกลับคืนมาตามที่หัวหน้า คสช. บอกไว้หรือไม่                    “ภูมิธรรม เวชยชัย” วิเคราะห์ให้เราฟังว่า

          ประชาธิปไตยที่ คสช. จะคืนให้ภายใต้การร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นประธานนั้น เป็นร่างที่ทุกฝ่ายยังไม่พอใจ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ที่สำคัญต่างประเทศก็ยังไม่ยอมรับการปกครองของรัฐบาลชุดนี้ ส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางแต่ก็ไม่ดีขึ้น เพราะต่างประเทศไม่ยอมรับความไม่เป็นประชาธิปไตย

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยเป็นอย่างไร

          ร่างรัฐธรรมนูญฉบับคุณมีชัย พยายามจะบอกเหตุผลความจำเป็นว่า เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นสากล 100 เปอร์เซ็นต์ จะสร้างแบบไทยๆ ถึงขนาดมีการเปรียบเทียบว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญแบบเรือหางยาว แบบสามล้อตุ๊กๆ แต่ผมคิดว่าต้องอย่าบิดเบือนความเป็นจริง และต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญจริงๆ ต้องมีหลักสากล ยอมรับในความมีส่วนร่วมของคนส่วนใหญ่ เพราะคนส่วนใหญ่เป็นคนกำหนดกติกาที่จะดูแลตัวเขาเอง โลกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจึงควรเป็นคนกำหนดกติกาที่เขาได้อยู่ร่วมกัน

          ผมไม่สบายใจที่ กรธ. หรือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์รู้สึกว่าการที่จะเอารัฐธรรมนูญมาเปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ออกความเห็นจะนำไปสู่ความขัดแย้งและสร้างปัญหา ผมคิดว่าระบบประชาธิปไตยเป็นระบบที่ยอมรับความแตกต่างกันอยู่แล้ว ระบบนี้ไม่กลัวความขัดแย้ง คิดว่าความขัดแย้งเป็นการนำมาซึ่งสิ่งที่ดีๆที่จะเกิดขึ้นใหม่

          เพราะฉะนั้นหลายเรื่องที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาเราต้องให้คนส่วนใหญ่ยอมรับว่ากติกาที่จะอยู่เป็นยังไง ไม่ใช่ให้คนเพียงไม่กี่คนเป็นคนผูกขาดความเป็นประชาธิปไตยหรือผูกขาดความ ถูกต้อง แล้วมากำหนดว่ารัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ความจริงถ้าไปดูร่างรัฐธรรมนูญที่คุณมีชัยร่างขึ้นมามีลักษณะที่ไปสร้างองค์กรหรือเอาอำนาจไปให้กับบางองค์กรที่มีอำนาจเหนือองค์กรที่ประชาชนจะเลือกมา ซึ่งยังเป็นปัญหา

          ยกตัวอย่างระบบการเลือกตั้ง การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน นี่ก็ไม่ถูกหลัก ควรจะให้คนที่ผ่านการตัดสินจากประชาชนเป็นผู้ที่มีสิทธิมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือล่าสุดจะมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด 200 คน เพื่อคุมช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ซึ่งถ้าเห็นว่า ส.ว. มีความสำคัญก็ควรให้ประชาชนเป็นคนเลือกขึ้นมาเอง และกำหนดอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน ดังนั้น ไม่ควรมีสภาที่มาจากการแต่งตั้งให้คนบางคนบางส่วนเข้ามา โดยที่ไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งจากประชาชน แล้วมากำหนดอะไร มีอำนาจมากมายในการถอดถอน ในการดำเนินการต่างๆ

          ผมคิดว่าต้องเคารพประชาชน อย่าดูถูกประชาชน ต้องให้ประชาชนได้มีส่วนในการคิด ตัดสินใจอนาคตของเขา เขาเลือกคนมาบริหารประเทศ ระบบประชาธิปไตยให้เวลากับคน เรียกว่าถ้าเลือกมาผิดหรือเลือกมาได้ไม่ดีพอ เวลาในการกำหนดให้บริหารประเทศหรือกำหนดให้มาเป็นผู้แทนราษฎรก็จะเป็นคนฟ้อง ให้ประชาชนรู้ว่าคนนี้ยังทำหน้าที่ ไม่ได้ดี เขาก็จะเลือกขึ้นมาใหม่

          นอกจากนี้ที่น่าเป็นห่วงและอันตรายคือ การมอบอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนว่าอันนั้นทำได้ อันนี้ทำไม่ได้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร หรือการกำหนดแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี เพื่อให้สังคมเดินตาม หรือให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากนั้นเดินตาม ผมคิดว่าประชาชนเลือกคณะรัฐบาลมาเขาก็จะต้องกำหนดสิ่งที่เขาทำและเป็นประโยชน์ ถ้าทำแล้วไม่เป็นประโยชน์ มีปัญหา ประชาชนเขาตัดสินใจเอง อยู่ๆ จะมากำหนด 20 ปีให้เดิน ผมไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลเสนอ ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจะไม่สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีสะท้อนอะไร

          ผมคิดว่า เป็นวิธีคิดที่ก้าวไม่ทันโลก โดยเฉพาะโลกสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้การคิดแบบนี้อาจจะ ก่อผลเสียหายอย่างร้ายแรงกับโลกด้วย เพราะในขณะที่โลกและ คนอื่นปรับตัวเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เรากลับสร้างกฎหมายขึ้นมาพันธนาการตัวเองไม่ให้ก้าวทันโลก แต่ถ้าคิดในแง่ร้ายขึ้นไปอย่างที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าคุณกำลังจะสืบทอดอำนาจหรือเปล่าก็อาจจะถูกมองอย่างนี้ได้

          เพราะฉะนั้นไม่เป็นผลดีใดๆ เลย มองอย่างหวังดีก็คิดว่าท่าน ไม่ก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง มองอย่างในแง่ร้ายท่านกำลังจะวางกรอบให้อยู่ในอำนาจของกลุ่มพวกท่านเองหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ไม่เป็นผลดีต่อประเทศเท่าไร ดังนั้น ไม่ว่าจะมองดีมองร้ายอย่างไรก็ตาม วิธีคิดแบบนี้ไม่เกิดประโยชน์โดยรวมต่อประเทศชาติ ก็ควรจะปรับใหม่ ไม่ต้องกำหนดกรอบใหญ่ กำหนดเรื่องทิศทางใหญ่ได้ว่าประเทศควรจะพัฒนาไปในทิศทางใหญ่ๆ อย่างไรบ้าง

          ส่วนเรื่อง 5 ปีช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น ผมไม่เชื่อว่าผู้มีอำนาจจะ มองสังคมได้ถูกต้อง เหมาะสมเหนือกว่าคนอื่นๆ ผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยึดรูปแบบหรือการดำเนินการให้อยู่ถึง 5 ปีหรืออะไรต่างๆ หลังจากที่รัฐบาล คสช. ทำมา 2 ปีกว่าก็น่าจะเพียงพอแล้ว และควรคืนอำนาจให้ประชาชนได้ดำเนินการ เพราะถ้าเขาชอบ พล.อ.ประยุทธ์แล้วท่านไปตั้งพรรคการเมือง เขาก็จะเลือกท่านเข้ามาเอง มันก็จะสง่างาม ไม่ต้องไปตั้งกติกากำหนดให้ตัวเองอยู่ต่อ 5 ปี เพื่อดูแลประเทศต่อไป

คสช. จะนั่ง ส.ว.แต่งตั้ง

          ผมคิดว่า คสช. หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ควรจะเข้ามานั่งในตำแหน่ง ส.ว. เพราะเสี่ยงที่จะถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ หรืออยากอยู่ในอำนาจอย่างต่อเนื่องต่อไป ไม่เป็นผลดีต่อภาพพจน์ตัวท่านเอง รวมทั้งในหลักการทั่วโลกเขาไม่ทำกัน ทางที่ดีควรจะร่างกติกาและเปิดโอกาสให้คนส่วนต่างๆเข้ามา จะได้ไม่ถูกกล่าวหาหรือถูกครหาได้ว่าตัวเองร่างกติกาเพื่อตัวของพวกตัวเอง

          ขอย้ำว่า ไม่เห็นด้วย เพราะใน กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยควรปล่อยให้ประชาชนได้ใช้อำนาจตัดสินใจ ใช้สิทธิของเขาได้เต็มที่ อยู่ๆ การที่ไปเอาคนอื่นมา หรือผู้มีอำนาจ หรือ คสช. ซึ่งบริหารประเทศอย่างต่อเนื่องมาแล้วยังจะไปนั่งต่ออีก ก็จะทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยลดลง เหมือนกับถอยหลังเข้าคลองในที่สุด

•ประชามติจะผ่านหรือไม่

          การที่จะคาดเดาการตัดสินใจของประชาชนคงยาก แต่ถ้าตัดสินใจให้ประชาชนได้ลงประชามติ สิ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ณ ขณะนี้คือ มีแนวคิดที่จะไม่ให้มีการพูดคุย ถกเถียงกันให้กว้างขวาง ตรงนี้เป็นปัญหา ซึ่งเรื่องของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ เป็นกติกาใหญ่ที่กำลังกำหนดกรอบทิศทางการเดินของประเทศว่าจะให้ประเทศเดินไปในทิศทางไหน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ควรเปิดโอกาสให้คนทุกฝ่ายได้แสดงความเห็น ไม่ต้องกลัวว่าเปิดโอกาสแล้วจะเกิดความขัดแย้ง ทำให้ประเทศมีปัญหา ทุกคนมีวิจารณญาณ เป็นผู้ใหญ่เพียงพอ

          เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องใจกว้าง และคณะผู้ร่างก็อย่าคิดว่าตัวเองเป็นผู้ยึดกุมความดีและความถูกต้องแต่เพียงฝ่ายเดียว ต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็น เพื่อจะทำให้ข้อสรุปในการที่จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าเป็นข้อสรุปที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันถกเถียงอย่างชัดเจน และร่วมกันตัดสินที่จะเดินไปด้วยกัน

ถ้าประชามติผ่านจะเกิดอะไรขึ้น

          ประชามติจะผ่านหรือไม่ผ่าน เป็นเรื่องของประชาชน ซึ่งประชาชนเป็นคนตัดสิน แต่ถ้าปิดกั้นตลอด ไม่ให้ร่วมแสดงความเห็นเต็มที่ ผ่านออกมาก็ไม่สง่างาม ไม่สามารถแอบอ้างว่าเป็นความเห็นของประชาชนทั้งหมดอย่างชอบธรรม อาจจะถูกครหา ถูกนินทา ถูกเขาว่าร้ายได้

          ถามว่าถ้าเกิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับคุณมีชัยผ่านประชามติจะเกิดผลกระทบต่อการเมืองไทยอย่างไร ผมยังไม่อยากให้คิดว่ามันจะต้องผ่านแน่ๆ แต่ถ้าสมมติมันผ่านขึ้นมา ภายใต้กติกาแบบนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบนี้ ผมเชื่อว่าประเทศจะเสียหายอย่างหนักหน่วง เรียกว่าจะเกิดปัญหาทั้งเรื่องความไม่เชื่อมั่น เรื่องความไม่แน่นอน เรื่องการดำเนินการต่างๆ แล้วมันจะไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน

จุดยืนพรรคเพื่อไทยต่อรัฐธรรมนูญ

          พรรคเพื่อไทยได้แสดงความเห็นชัดเจนต่อเนื่องว่า เราต้องการรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชา ธิปไตยที่นานาอารยประเทศยอมรับ และคนส่วนใหญ่ในสังคมได้มีส่วนในการแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ ถ้าหากเป็นรัฐธรรมนูญที่ไปในทิศทางแบบนี้เป็นเรื่องยากที่ฝ่ายต่างๆ จะยอมรับและปล่อยให้ผ่านไปได้ เพราะมีแต่จะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น

          วันนี้เรายังไม่ได้พูดชัดเจนว่า จะรณรงค์คัดค้านหรือไม่อย่างไร คิดว่าอยู่ในขั้นตอนของการให้ทุก ฝ่ายได้แสดงความเห็นเพื่อจะปรับ ปรุงเปลี่ยนแปลง ผมเองก็คาดหวังว่าผู้มีอำนาจจะรับฟังเสียงที่ได้วิพากษ์วิจารณ์กันไป ที่สำคัญจะต้องพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้ประเทศได้หลุดพ้นจากปมที่เป็นปัญหาที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของประเทศอยู่ให้เดินหน้าไปได้ ถ้าหากยังยืนยันแบบนี้ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมจะคัดค้านไม่ยอมให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับคุณมีชัยผ่าน

          พรรคเพื่อไทยขอยืนยันว่าเราต้องเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ แต่ต้องเป็นการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้กติกาที่ยุติธรรม เป็นประชาธิปไตย เป็นกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ เราไม่ได้เรียกร้องให้เร็วโดยไม่คำนึงถึงความเป็นประชาธิปไตย และเราก็ไม่ได้เรียกร้องว่าเป็นประชาธิปไตยโดยไม่คำนึงถึงเวลา เพราะเรากำลังต่อสู้กับเวลาที่มีอยู่ไม่มากนัก เศรษฐกิจเรากำลังจมดิ่งไปเรื่อยๆ ยิ่งช้าก็ยิ่งแย่ ยิ่งสร้างปัญหา เพราะฉะนั้นยิ่งต้องเร็ว และยิ่งต้องสร้างความเป็นประชาธิปไตยเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและเกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย จะทำให้ทุกอย่างที่เป็นปัญหาค่อยๆ คลี่คลาย

          ดังนั้น ผู้มีอำนาจจะต้องทำให้โรดแม็พต่างๆ เข้าสู่ภาวะปรกติตามที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน เพราะมีแต่ทำให้ประเทศกลับสู่ภาวะปรกติโดยเร็วเท่านั้นที่จะเป็นทางออกของประเทศ วันนี้เราเองก็พยายามประคับประคองประเทศ เพราะสถานการณ์ก็หนักหน่วงอยู่แล้ว จึงไม่อยากให้มันแย่มากไปกว่านี้ ผมอยากให้ทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตัวเองและเร่งคืนประชาธิปไตยกลับคืนมา แล้วทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี

         “ระบอบประชาธิปไตยโดยตัวของมันเองแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้อยู่แล้ว มีแต่ผู้ที่ไม่หวังดีต่อระบอบประชาธิปไตยที่เป็นผู้สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น”

ฝากอะไรกับผู้มีใจรักประชาธิปไตย

          ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายมีวุฒิภาวะเพียงพอ ไม่ต้องการที่จะสร้างความขัดแย้ง เชื่อได้ว่าระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมาโดยตัวของมันเองแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้อยู่แล้ว ไม่เคยสร้างปัญหาความขัดแย้งให้บานปลาย มีแต่ผู้ที่ไม่หวังดีต่อระบอบประชาธิปไตยหรือผู้ไม่ต้องการความเป็นประชาธิปไตยต่างหากที่เป็นผู้สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น ประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ผ่านมา แม้กระทั่งการรัฐประหารที่เกิดขึ้นครั้งนี้หรือก่อนหน้านั้น จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องของฝ่ายประชาธิปไตยที่ต้องการให้เกิดความวุ่นวาย ฝ่ายที่ไม่ต้องการประชาธิปไตยต่างหากที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย

          ดังนั้น อยากให้ยอมรับความเป็นจริงอันนี้ ถึงแม้เราจะไม่ต้องการไปสืบหาความว่าใครผิดใครถูก แต่เราต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ผมอยากให้ทุกฝ่ายเปิดใจให้กว้างเพื่อจะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้รวดเร็วมากกว่านี้ มิฉะนั้นมันจะสายเกินไป จะไม่ทันการณ์ ความเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างมากมาย

ภูมิธรรม เวชยชัย
รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ฉบับวันที่ 19 – 25 มีนาคม 2559

Categories: Interview