วัฒนา เย้ยรัฐบาล แก้ตัวแบบไทยๆ หลังสหรัฐและสหภาพยุโรป กังวลคำสั่งคสช.ที่13/2559
“คำแก้ตัวแบบไทยๆ”
ผมรู้สึกอับอายกับคำแก้ตัวของกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาล กรณีที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และคณะเอกอัครราชทูตจากสหภาพยุโรปแสดงความกังวลกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 และการจัดหลักสูตรปรับทัศนคติของผู้ที่มีความเห็นต่าง
กฎหมายระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้บัญญัติเป็นหลักการเดียวกันว่า การจับกุม การควบคุมตัวและการค้นจะต้องมีหมายอาญาสำหรับการนั้น โดยมีศาลซึ่งเป็นกลางและมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเป็นผู้ออกหมาย จึงเป็นหลักประกันว่าสิทธิและเสรีภาพของบุคคลจะไม่ถูกละเมิดตามอำเภอใจ แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ที่ให้อำนาจทหารตั้งแต่ยศร้อยตรีขึ้นไปเป็นเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม ในความผิดตามกฎหมายที่มีโทษทางอาญารวม 27 ฉบับ คือการมอบอำนาจของตำรวจและศาลให้กับบุคคลากรทางการทหารที่ไม่เคยมีความรู้หรือมีประสบการณ์ด้านกฎหมายมาก่อนเลย ให้มีอำนาจที่จะจับกุม ควบคุมตัวและเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใดๆ รวมทั้งยานพาหนะเพื่อค้นได้โดยพลการ จึงเป็นการละเมิดต่อหลักนิติธรรมและหลักความยุติธรรมอาญา แต่กระทรวงการต่างประเทศกลับแก้ตัวว่า เป็นการปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมาย ยึดหลักนิติธรรม และเคารพหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ส่วนการเรียกปรับทัศนคติ คือการบังคับเอาคนที่คิดเห็นต่างไปควบคุมตัวเพื่อบังคับให้คิดเหมือนกับ คสช. จึงขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนที่บัญญัติให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ส่วนที่กระทรวงการต่างประเทศแก้ตัวว่า การจัดหลักสูตรอบรมทางการเมืองมีขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันความแตกแยกในสังคม ดำเนินการอย่างสุภาพชน ไม่มีการใช้ความรุนแรงและเคารพสิทธิมนุษยชน คือการกล่าวเท็จหรือที่เรียกว่ามุสาวาท ที่จริงคือมาตรการข่มขู่ผู้ที่คิดเห็นต่างให้เกิดความเกรงกลัว มาตรการนี้ยังถูกพัฒนาไปเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมผู้นำการสร้างชาติ เพื่อนำตัวผู้ที่มีความคิดเห็นต่างเข้าค่ายทหารที่มีอยู่ทั่วประเทศเป็นเวลา 7 วันอีกด้วย
การที่นานาชาติเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องที่กล่าวข้างต้น เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีพันธะที่ต้องปฏิบัติตาม ปรากฏตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่บัญญัติว่า “พันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้” เรื่องสิทธิมนุษยชนจึงเป็นเรื่องของมนุษยชาติ ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศจึงบัญญัติว่า การทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการทำให้ความเป็นมนุษย์ของบุคคลหนึ่งต้องเสื่อมถอยลง หากเกิดขึ้นเป็นวงกว้างย่อมเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crime against humanity) อันเป็นอาชญากรรมขั้นอุกฤษฏ์ในบรรดาความผิดอาญาทั้งปวง จะต้องถูกนำตัวขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลและคนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการทำความสะอาดบ้านของตนเอง ซึ่งไม่สามารถทำได้ในช่วงที่นักการเมืองบริหารราชการอยู่ตามที่โฆษกรัฐบาลแถลง กรุณาเข้าใจตามนี้ต่อไปจะได้ไม่ไปพูดอะไรให้ต้องอับอายมาถึงคนไทยคนอื่นอีก
วัฒนา เมืองสุข
พรรคเพื่อไทย
9 เมษายน 2559
www.facebook.com/WatanaMuangsook