การรับมือของแรงงาน 4.0 ต่อความท้าทายใหม่
สัมภาษณ์พิเศษ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง
อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
Q: ภาครัฐจะเตรียมความพร้อมแรงงานให้แก่เอกชนในยุคเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างไร?
A: ระบบเศรษฐกิจในยุคใหม่ฟังดูเหมือนเป็นการก้าวกระโดดที่ต้องการทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพสูง ภายในช่วงเวลาสั้นๆซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก การเตรียมการนั้นต้องมีการวางแผนที่ดี การเคลื่อนไปข้างหน้าไม่ใช่เรื่องของการจะเอาแรงงานไร้ฝีมือไปสู่แรงงานฝีมือสูง เราต้องดูเรื่องของการเปลี่ยนกลไกจากสังคมอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานจำนวนมากเป็นหลัก ไปเป็นทรัพยากรบุคคลหรือแรงงานซึ่งสามารถใช้เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ (automation) เพราะในระยะต่อไปเครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่แรงงานมากขึ้น เราจำเป็นต้องเตรียมคนให้พร้อมที่จะขยับขึ้นไปในเรื่องของการเป็นผู้ใช้เครื่องไม้เครื่องมือ แต่ในขณะเดียวกันแรงงานซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือมากนักก็ถือเป็นแรงงานขั้นสูงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการ
เมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่ใช่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น ก็จะมีแรงงานกลุ่มหนึ่งเกิดขึ้น เช่น กลุ่มที่เป็นกิจกรรมสันทนาการต่างๆ การกีฬา การดนตรี ก็ต้องการแรงงาน คนเหล่านี้อาจจะไม่ใช่กลุ่มต้องใช้เครื่องมือเครื่องจักร แต่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะตัวเองให้มีความสามารถสูงขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นกลไกในการทำงาน จะต้องทำงานควบคู่ไปกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่จะทำงานร่วมกัน จะต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นการวางแผนที่ดี การดำเนินการให้มีความสม่ำเสมอในเรื่องของการผลิตบุคลากรที่มีความเหมาะสมกับช่วงเวลาต่างๆ เป็นเรื่องที่จำเป็น
Q: ลูกจ้างในยุคเศรษฐกิจสมัยใหม่ ควรเตรียมความพร้อมของตนเองในการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานยุคใหม่อย่างไรบ้าง?
A: ที่จริงแล้วแรงงานต้องมีฝีมือระดับหนึ่งทุกคน แต่ถ้าเขาจ่ายเราในอัตราค่าแรงขั้นต่ำก็แปลว่าเขายังมองว่าเราเป็นผู้ที่มีทักษะน้อย บางคนก็อาจจะเป็นผู้ที่กึ่งจะมีฝีมือแล้ว แล้วเริ่มที่จะใช้เครื่องมือเครื่องไม้ เครื่องจักรต่างๆ ได้ในระดับหนึ่ง บางท่านก็อาจจะเป็นระดับหัวหน้างานซึ่งต้องดูแลบริหารจัดการบุคคลจำนวนมาก หรือบางท่านอาจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ใดก็แล้วแต่ ผมคิดว่าท่านน่าจะสามารถมองเห็นทางว่า ถ้าเราพัฒนาความสามารถ พัฒนาทักษะของเราให้ดีขึ้น เราจะเป็นผู้ที่มีผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้น จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการเป็นผู้ถูกจ้าง ข้อมูลจากสถิติแรงงานซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วย ระบุว่ามีผู้ใช้แรงงานทั้งประเทศประมาณ 55 ล้านคน และบอกว่ามีผู้ที่ต้องการการพัฒนาทักษะศักยภาพแรงงานเพียงประมาณไม่ถึง 5 ล้านคน ซึ่งไม่น่าจะเป็นความจริง แม้ว่าตัวเลข 55 ล้านคนนั้น อาจจะประกอบไปด้วย ผู้ที่มีวัย 60 ปีขึ้นไปจำนวนหนึ่งก็ตาม ที่จริงแล้วทุกคนล้วนเป็นคนที่ต้องการพัฒนาทักษะ ตัวเองให้ดีขึ้นทั้งนั้น แนวทางตรงนี้เป็นเรื่องยากผมเห็นใจ แรงงานจะเดินทางไปเอาค่าแรงค่าจ้างส่วนหนึ่งหักเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมตัวเองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ง่ายนัก แต่ถ้าท่านไหนอยู่ในภาวะที่พอทำได้ผมสนับสนุนให้ทำ เพราะจะทำให้ท่านมีความสามารถที่ดีขึ้นและเป็นคนพิเศษในระบบที่ผมเรียกว่า 55 ล้านคนจากประชากรเกือบ 67 ล้านคนของเรา โอกาสที่จะได้รับการตอบแทนด้วยเงินเดือนที่ดีขึ้นจะเป็นไปได้มาก
ในยุคที่ผมได้มีโอกาสดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ เราได้ขอให้ผู้จ้างงานและผู้ถูกจ้างงานได้เห็นกลไกการปรับค่าแรงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ การปรับครั้งนั้นมีเสียงต่อว่าพอสมควร ว่าอยู่ๆ เราจะปรับค่าแรงขึ้นโดยผลิตภาพแรงงานยังไม่ดีขึ้นจะไม่มีผลเสียหรือ? เมื่อมีการปรับเช่นนั้นนายจ้างย่อมไม่ต้องการให้เกิดผลขาดทุนจากการปรับค่าแรงขึ้น เพราะฉะนั้นท่านจะเริ่มทำงานจริงจังกับแรงงานขององค์กร เพราะว่าท่านต้องการความคุ้มค่า เพราะฉะนั้นการจะจัดเครื่องไม้เครื่องมือหรือฝึกอบรม จัดระบบการทำงานต่างๆ ลดคนงานลงในบางส่วน ที่เกินความจำเป็นก็จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ถูกจ้างเมื่อได้รับค่าจ้างที่ดีขึ้นย่อมไม่อยากเสี่ยงต่อการสูญเสียงาน ก็จะเกิดการทำงานร่วมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เราอยู่ในระบบซึ่งมีอัตราการว่างานน้อย การที่บางท่านอาจจะถูกปรับลดไปจากส่วนที่ทำอยู่ ก็ยังมีกลไกมีองค์กรที่ต้องการจ้างงานรออยู่ หากว่าท่านสามารถทำให้ตัวเองมีผลิตภาพที่ดีขึ้น การจ้างงานอัตราที่มีผลตอบแทนสูงขึ้น มีความคุ้มค่าทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างก็จะเกิดขึ้น นี่ยังไม่รวมถึงการที่แรงงานมีรายได้ที่ดีขึ้นและจะมีกำลังซื้อมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยกลับมาโดยตรงและโดยอ้อม เป็นคู่ค้าเป็นผู้บริโภค ก็จะเกิดผลบวกในทางเศรษฐกิจ
Q: การแข่งขันในยุคปัจจุบันที่มากขึ้น การขาดแคลนแรงงานในบางสาขาซึ่งเป็นสาขาที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เช่น วิศวกรคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ภาครัฐและเอกชนควรทำอย่างไรต่อเรื่องนี้
A: ถ้าหากมีการขาดแคลนแรงงานในสาขานั้น สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นก็คือ ค่าจ้างในหมวดนั้นควรขยับสูงขึ้นตามความขาดแคลน ถ้าหากว่ามีการดำเนินการนั้นอย่างเหมาะสมและมีการประสานไปยังสถาบันการศึกษาหรือสถาบันที่มีการจัดฝึกอบรมบุคลากรที่อยู่ในสาขานั้นแต่เนิ่นๆ ก็จะมีการผลิตบุคลากรในสาขานั้นเพิ่มเติมเข้ามา ผู้ที่เป็นบุคลากรก็ต้องการที่จะได้รับการเรียนรู้ เป็นผู้สำเร็จการศึกษาในสาขานั้นๆโดยมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาเข้าสู่แรงงานในสาขานั้นแล้วจะได้รับค่าตอบแทนที่ดี ผมเห็นว่าอุปสรรคที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาอาจเป็นเพราะ แม้ว่าสาขานั้นจะมีการขาดแคลนแรงงาน แต่ก็ไม่มีกลไกที่จะไปปรับผลตอบแทนให้กับบุคลากรในสาขานั้นอย่างเหมาะสม โดยผู้ว่าจ้างอาจจะรู้สึกว่าคนที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงนั้นจะต้องสำเร็จการศึกษาที่มีเอกสารยืนยันในระดับใบปริญญามากกว่าการที่จะมีประกาศนียบัตรในสาขาต่างๆ หรือแม้แต่บางคนอาจจะไม่มีประกาศนียบัตรอะไรแต่ถ้าหากเขาเป็นผู้มีความสามารถในด้านนั้นจริงๆ ผู้ว่าจ้างควรพร้อมที่จะตอบแทนให้สูงขึ้น ไม่เพียงแต่พูดถึงว่าขาดแคลน
ในองค์กรบ้านเรามีกลไกที่ถือว่าแข็งแรงอยู่ มีสมาคมผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ การจะประสานงานผ่านองค์กรต่างๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการในการผลิตบุคลากรที่มีความสามารถ และได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมเกิดขึ้นไม่ยาก ขอให้มีความพยายามในการประสานงาน
Q: คุณสมบัติพิเศษของแรงงานยุคใหม่ควรมีอะไรบ้าง
A: ผมอยากให้ดูที่ภาพใหญ่เสียก่อน ประเทศเราเป็นประเทศซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรกรรมเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วมาสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ในขณะนี้ เรากำลังจะเคลื่อนต่อไปจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต ไปเป็นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น และจะเคลื่อนต่อไปสู่ภาคเศรษฐกิจ มีขนาดของธุรกิจเชิงพาณิชย์และงานด้านบริการที่มากขึ้นตามกำลังซื้อของประเทศของเราเองและประเทศคู่ค้าของเราด้วย ดังนั้นการที่จะเตรียมการตัวเองเป็นเรื่องเฉพาะตัวอย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้ว แต่อาจจะต้องมองไปข้างหน้าว่าจริงๆ แล้วประเทศของเรากำลังต้องการแรงงานในสาขาไหนมากขึ้น หากเป็นผู้ที่ยังไตร่ตรองอยู่ว่าจะศึกษาด้านไหน ท่านน่าจะสามารถเห็นข้อมูลได้ว่าธุรกิจที่เป็นข้อมูลเรื่องบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการที่มีคุณภาพสูงขึ้น และสามารถใช้ภาษาต่างประเทศได้เป็นสาขาที่มีความต้องการมากขึ้น ขยายตัวเร็วผลตอบแทนดี การที่จะเตรียมตัวเป็นผู้ที่จบการศึกษาออกมาเพื่อเข้าสู่วิชาชีพหรืองานอาชีพเหล่านั้น เป็นเรื่องที่น่าจะมีความเหมาะสม
มองย้อนไปในประเทศต่างๆ ทั้งในหรือนอกเอเชีย จะเห็นว่าในระยะเวลาปีต่อปีมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่มาก แต่ถ้าเป็นทศวรรษต่อทศวรรษหรือทุก 10 ปีท่านจะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างสังเกตได้ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตบางประเภทหมดบทบาทลงในประเทศนั้นๆ และเคลื่อนต่อไปยังประเทศอื่น และธุรกิจบางประเภทซึ่งอาจจะมีบทบาทน้อยหรือไม่เคยมีบทบาทเลย กลายเป็นประเภทที่มีบทบาทมากขึ้น จริงอยู่พรุ่งนี้อาจจะเหมือนวันนี้สัปดาห์หน้าอาจจะเหมือนสัปดาห์นี้แต่หากเวลาผ่านไปแล้วเราไม่ไตร่ตรองดีๆ ว่าสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราเป็นอยู่จะสามารถเคลื่อนตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงของความต้องการแรงงานได้อย่างไร อาจจะทำให้วันหนึ่งเรากลายเป็นผู้ที่เกินความต้องการ เว้นเราจะสามารถทำเรื่องนั้นได้ดีเป็นพิเศษเป็นชั้นแนวหน้า การที่เราจะต้องเตรียมตัวเคลื่อนไปในจุดที่เรายืนอยู่และสามารถที่จะขยับต่อไปได้อย่างมีทางเลือกหลายทางเป็นเรื่องของการเตรียมการที่ดี จะทำให้เรามีความเสี่ยงต่อการตกงานหรือว่างงานน้อย
Q: อะไรเป็นความท้าทายของแรงงานไทยในเศรษฐกิจยุคใหม่บ้าง
A: ความท้าทายก็อยู่ที่ใจตนเองนี่แหละ เมื่อสักครู่ผมพูดถึงความต้องการเน้นเรื่องของการทำงานให้ดีขึ้น แต่ชีวิตไม่ได้จบอยู่แค่การมีรายได้แล้วทำงานอยู่เท่านี้ แรงงานจะต้องเตรียมตัวเข้าสู่วัยเกษียณซึ่งอาจจะหมายถึง ในเวลาที่ท่านไม่สามารถจะทำงานได้มากเหมือนเดิมมีรายได้น้อยลง ท่านต้องมีเงินออม ดังนั้นการที่จะต้องเตรียมตัวกับความท้าทายสำคัญ ผมยอมรับว่าการพูดง่ายกว่าทำ แต่ท่านจำเป็นต้องออม เพราะวันหนึ่งเราจะทำงานไม่ได้เหมือนเดิมรายได้จะไม่เหมือนเดิม การที่จะต้องเตรียมตัวเข้าสู่วัยเกษียณอายุด้วยการมีเงินออมนั้น เป็นเรื่องที่จำเป็น ที่ผมพูดถึงระบบ 55 ล้านคนของเรา มีคนที่อยู่ในระบบการบังคับออมหรือระบบที่มีการดูแลภายหลังเกษียณอายุด้วยการเป็นข้าราชการที่มีกองทุนบำเหน็จบำนาญ หรือจะภาคเอกชนซึ่งมีกองทุนประกันสังคมในบริษัทรองรับอยู่ ยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับยอด 55 ล้านคน การออมด้วยตัวเองในระบบที่บังคับใจตนเองเป็นเรื่องท้าทายแรงงานมาก มีวิธีคิดบอกว่า ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดว่าเราจะออมเงินหลังจากที่เราใช้จ่าย เราจะไม่มีเงินออมเหลือเท่าไหร่ แต่ถ้าเราคิดว่าเราจะใช้จ่ายเท่าไหร่หลังจากที่เราตัดสินใจแล้วว่าเราจะออมอย่างไร ตอนนั้นจะมีเงินออม ถ้าพูดกันเป็นสมการ คือ รายได้ ลบ ค่าใช้จ่าย = เงินออม ท่านจะไม่มีเงินออมเหลือ แต่ถ้าท่านคิดว่ารายได้เท่านี้จะต้องออมเท่านี้ให้ได้เป็นสม่ำเสมอ เหลือเท่าไหร่จึงจะนำไปใช้จ่ายได้ คิดอย่างนี้ได้ท่านจะมีเงินออมเหลือ
Q: มองหน้าที่ภาครัฐในการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานให้กับภาคเอกชนอย่างไรบ้าง
A: ภาครัฐทำหน้าที่บริหารประเทศบริหารงานเพื่อให้เกิดการกินดีอยู่ดี แรงงาน 55 ล้านคนที่อยู่ในวัยแรงงานแล้วถือเป็นภารกิจสำคัญของภาครัฐ สิ่งที่ภาครัฐควรจะช่วยในเรื่องของการเตรียมการ คือ การจัดวางระบบการศึกษาที่สามารถรองรับผู้เข้าสู่ระบบการศึกษาต่างๆให้มีเส้นทางเดินในการศึกษาแล้วผ่านจบออกมามีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน การที่จะเตรียมการเรื่องเหล่านี้ กระทรวงศึกษาควรทำงานอย่างใกล้ชิดมากกับสภาพัฒน์ ในการวางแผนและใช้กำลังคนในอนาคต
การเตรียมการเพื่อให้มีการศึกษาที่เหมาะสมเป็นผู้ที่สามารถทำงานได้เป็นภาระหน้าที่ของภาครัฐ อีกประเด็นหนึ่งคือ สวัสดิการ การออมเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการ การจัดระบบประกันสังคมซึ่งเราเริ่มต้นกันมาในช่วงเวลาหลายทศวรรษถือว่าทำได้ดี และมีความเข้มงวดระดับหนึ่งกับองค์กรที่มีขนาดเล็กลงว่าจะต้องจัดให้มีระบบประกันสังคมตรงนี้ก็มีความเข้มแข็งมากขึ้น อย่างไรก็ตามการจัดสวัสดิการแรงงานยังหมายถึงการที่แรงงานอาจจะถูกเลิกจ้างงาน การมีกองทุนเพื่อดูแลแรงงานเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันการที่จะดูแลแรงงานสามารถมีสวัสดิการที่ดี โดยเฉพาะเรื่องสาธารณสุขถือว่าเป็นข้อฝากไปยังรัฐในการดูแลแรงงาน
Q: ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย
A: เมื่อประมาณครึ่งศตวรรษที่แล้ว เราเป็นสังคมการเกษตรคนส่วนใหญ่อยู่ภาคการเกษตร นอกภาคการเกษตรที่เป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคพาณิชย์กรรมยังมีน้อยมาก เมื่อมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้วดึงดูดอุตสาหกรรมเข้ามา ตรงนี้เป็นก้าวสำคัญเพราะแก้ปัญหาการว่างงานของประเทศได้ แล้วทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น มีการจ้างงานที่ดีขึ้น มีรายได้ประชาชาติสูงขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาคือสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คนออกจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งแยกสถานที่ในการทำงาน ในด้านสังคมเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง หมู่บ้านในชนบทจำนวนมากเป็นที่อยู่ของเด็กและคนชรา คนหนุ่มสาวแยกตัวไปทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ มีความเสี่ยงที่ภาวะทางสังคมจะมีปัญหา เพราะครอบครัวแยกกันอยู่
ภาพใหญ่ที่ควรไตร่ตรองก็คือ เราจะทำอย่างไรให้การเจริญเติบโตของสังคมภาคชนบทสามารถเติบโตคู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจไปด้วยได้ ประเทศที่พัฒนาดีหลายประเทศสามารถทำให้เกิดเมือง หมู่บ้านที่มีความพร้อมของตัวเองในระดับหนึ่ง และทำให้เกิดความต้องการบริโภค ความต้องการแรงงานที่อยู่ในเมืองเดียวกัน อยู่ในเขตเดียวกันมากขึ้น ถ้าสามารถทำอย่างนั้นได้ สังคมก็จะดีขึ้นด้วย ประเทศที่ทำได้ดีในเรื่องนี้คือ ญี่ปุ่น ถ้าหากมองแนวทางในลักษณะนั้นมากขึ้นคงจะพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ แนวคิดที่เริ่มมาสักระยะหนึ่งแล้วและยังดำเนินการอยู่ซึ่งอาจลืมเลือนวัตถุประสงค์คือเรื่อง OTOP หรือ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ การทำให้เกิดการผลิตในพื้นที่ตำบลหรือหมู่บ้านมากกว่าที่จะต้องแยกตัวไปอยู่ในเขตอุตสาหกรรมต่างๆ มีคุณค่าต่อเรื่องเศรษฐกิจและสังคม