นายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ ชี้ รัฐบาล คสช บริหารเศรษฐกิจผิดพลาดทำให้ ประชาชนขาดกำลังซื้อ
เห็นได้จากดัชนีผู้บริโภค ติดลบติดต่อกันถึง 15 เดือน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ SME เจ๊งหนัก แรงงานประมงและต่างด้าวมีปัญหา
Q: ท่านมองการจับจ่ายใช้สอยในประเทศช่วงนี้เป็นอย่างไร มีอะไรเป็นตัวชี้วัด
A: การจับจ่ายใช้สอยหรือการบริโภคของประชาชนเริ่มลดตํ่าลงหลังจากการเข้ายึดอำนาจโดย คสช. และลดตํ่าลงอย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ เพราะประชาชนขาดกำลังซื้อและสะท้อนถึงสภาวะทางเศรษฐกิจที่ซบเซาคือ ตกอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพงที่ประชาชนชักหน้าไม่ถึงหลังอย่างเห็นได้ชัด
ตัวชี้วัดที่เป็นทางการแสดงถึงกำลังซื้อของประชาชน คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(Consumer Price Index หรือ CPI) ที่จัดทำโดยกระทรวงพาณิชย์ ดัชนีตัวนี้วัดจากข้อมูลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค(ของกินของใช้)ที่ประชาชนทั่วไปจำเป็นต้องซื้อหาเป็นประจำซึ่งจัดเก็บจากแหล่งซื้อขายจริงทั่วประเทศ แล้วนำมาคำนวณอัตราการเปลี่ยนแปลงเป็นร้อยละ(%)ในแต่ละเดือน ค่าบวกและลบแสดงถึงกำลังซื้อของประชาชนว่ามากหรือน้อยในช่วงเวลานั้นๆ ค่าดัชนีCPI ที่เหมาะสมของไทยที่ถือว่าเป็นภาวะปรกติจะเพิ่มขึ้น 2% – 4% ถ้าเกินกว่านี้อาจกลายเป็นภาวะเงินเฟ้อ ถ้าตํ่ากว่านี้ก็อาจจะนำไปสู่ภาวะเงินฝืด โดยเฉพาะถ้าค่าCPI ติดลบคือตํ่ากว่าศูนย์ต่อเนื่องหลายๆเดือน ก็แสดงว่าประชาชนขาดกำลังซื้อและขาดความเชื่อมั่น
ค่าดัชนีCPI เริ่มลดตํ่ากว่า2% ตั้งแต่ช่วงแรกๆที่รัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศ คือ เดือนกันยายน2557 ค่าดัชนีบวกเพียง 1.8% และลดตํ่าลงอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นติดลบคือ -0.4% ในเดือนมกราคม2558 และCPI ติดลบต่อเนื่อง 15 เดือน จนถึงมีนาคม 2559 และอยู่ในระดับตํ่ามากจนถึง 2 เดือนล่าสุดคือพฤษภาคมและมิถุนายน 2560 ก็เริ่มติดลบอีกคือ -.0% ทั้งสองเดือน แสดงว่าประชาชนขาดกำลังซื้อและขาดความเชื่อมั่นจนผู้ผลิตส่วนใหญ่ต้องลดราคาสินค้าลง
นอกจากดัชนีCPI แล้ว ยังมีตัวชี้วัดการบริโภคหรือการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนอีกตัวหนึ่งคือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งจัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ล่าสุดเพิ่งมีการเปิดเผยเมื่อ 6 ก.ค.ที่ผ่านมาว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเดือนมิถุนายน 2560 ตกต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา โดยค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 74.9 ซึ่งสอดคล้องกับดัชนี CPI ของกระทรวงพาณิชย์
Q: การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลงมากอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุมาจากอะไร
A: สาเหตุที่ทำให้การจับจ่ายใช้สอยหรือการบริโภคของประชาชนลดลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. เกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆดังนี้
(1) รายได้เกษตรกรตกตํ่าลงมากทั้งจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำและปริมาณการผลิตที่ลดลงแทบทุกสินค้า เช่น
-ข้าว ราคาข้าวเปลือกช่วงนาปี 59/60 ข้าวเปลือกเจ้าเคยตกต่ำถึง 6,000 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกหอมมะลิเคยตํ่ากว่าตันละ 10,000 บาท แม้ในช่วงนี้ราคาข้าวเปลือกจะสูงขึ้นบ้าง แต่ชาวนาก็แทบไม่มีข้าวอยู่ในมือแล้ว ส่วนในด้านปริมาณ ชาวนาก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำท่วมแทบทุกปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
-ยางพารา ราคายางมีความผันผวนและตกต่ำมากเป็นประวัติการณ์ พูดกันว่า 3 กิโล 100 บาทก็เคยเห็น ล่าสุดเกษตรกรร้องเรียนว่าถูกพ่อค้าทุบราคา ขณะนี้ ราคายางขยับขึ้นบ้างอยู่ที่ กก.ละประมาณ 45-50 บาท แต่ก็มีผลผลิตออกขายน้อยมากเนื่องจากปิดกรีดในช่วงฤดูยางผลัดใบ รวมทั้งมีการโค่นต้นยางทิ้งบางส่วนหลังรัฐประหาร
-ปาล์มน้ำมัน ราคาปาล์มทะลายนํ้ามัน17% เดือน ก.ค.2559 กก.ละ 6.00-6.50 บาท แต่ต้น ก.ค.2560 เกษตรกรขายได้ กก.ละประมาณ 4.00 บาท
(2) รายได้ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ลดลงมากเพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของไทยเองและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล เช่น นโยบายแรงงานต่างด้าว การจัดระเบียบเรือประมง เป็นต้น
(3) การขาดความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของรัฐบาล ทำให้ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคลง ส่วนภาคธุรกิจเอกชนชะลอการลงทุนลง ดังจะเห็นได้จากยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่ายอดการลงทุน FDI นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาลดน้อยลงกว่าช่วงก่อนที่มีการรัฐประหารเป็นอย่างมาก
Q: ราคาสินค้าอุปโภค บริโภคมีแนวโน้มไปในทิศทางใด
A: ดูจากแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลก ไม่น่าจะสามารถทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในภาคเกษตรและ SMEs (ซึ่งรวมกันแล้วน่าจะเกินกว่า 30 ล้านคน) มีรายได้เพิ่มขึ้นได้ในระยะสั้น อีกทั้งภาระหนี้สินครัวเรือนที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้นทุกวัน สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงกดดันให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคชะลอตัว คาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคหรือCPI จะเพิ่มในอัตราตํ่าคือประมาณ 0.5% – 1.5% เท่านั้น (ไม่ถึงอัตราปรกติคือ 2% – 4%)
Q: รัฐควรออกมาตรการอย่างไรในการช่วยเหลือภาคเกษตรและภาคแรงงาน
A: รัฐควรใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศโดยการเพิ่มรายได้ให้เศรษฐกิจรากฐานคือ ภาคเกษตรและภาคแรงงานอย่างเป็นรูปธรรมและให้เห็นผลโดยเร็ว ไม่ใช่เน้นเฉพาะการแก้ไขเชิงโครงสร้างหรือการปฏิรูปเท่านั้น
Q: การจับจ่ายใช้สอยลดลงส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจโดยรวม
A: ถ้าประชาชนจับจ่ายใช้สอยหรือบริโภคลดลง ภาคธุรกิจเอกชนก็จะลดหรือชะลอการผลิตและการลงทุน ภาครัฐก็จะมีรายได้จากภาษีน้อยลง (เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้บริโภคและภาษีเงินได้จากรายได้หรือผลกำไร) และไม่สามารถลงทุนในโครงการพื้นฐานที่สำคัญหรือโครงการสาธารณะที่จำเป็นได้
ในที่สุดการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็คือ จะทำให้เราสามารถพัฒนาประเทศได้น้อยกว่าและช้ากว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งใช้อัตราการขยายตัวของ GDP เป็นตัวชี้วัด การบริโภคและการลงทุนทั้งของเอกชนและของรัฐบาลเป็นองค์ประกอบสำคัญของ GDP ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการส่งออกและการนำเข้า เรื่องนี้น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษเพราะในช่วงหลังมานี้ GDP ของไทยขยายตัวเพียงปีละ 2% – 3% ต่ำสุดในอาเซียน ขณะที่ประเทศสมาชิกอื่นๆขยายตัวปีละ 5% – 7% ในทุกประเทศ