บทสัมภาษณ์คอลัมน์ “ตรวจการบ้าน” นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันเสาร์ที่ 9 ก.ย.60


ขณะนี้ สถานการณ์ของพรรคเป็นอย่างไร
และท่ามกลางสถานการณ์ที่บีบคั้นจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

ก่อนอื่นต้องขอเรียนว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้มิใช่เพิ่งเกิด
สถานการณ์ที่พรรคเผชิญในทศวรรษที่ผ่านมา
พรรคเราเคยสูญเสียผู้นำที่มีคะแนนนิยมท่วมท้น
และสูญเสียบุคลากรของเราอีกหลายท่านให้กับสภาวะทางการเมืองที่ไม่ปกติเช่นนี้
นักการเมืองของเราเคยถูกตัดสิทธิทางการเมืองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งๆ
ที่ต่อมาภายหลังศาลได้ตัดสินให้กรรมการบริหารของพรรคไม่ได้มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา
ส่งผลให้อดีตกรรมการบริหารพรรคของเราถูกตัดสิทธิไปฟรีๆ โดยมิได้มีความผิด
ก็เคยถูกกระทำมาแล้ว เคยแม้กระทั่งถูกยุบพรรคมาแล้วตั้งแต่สมัย “ไทยรักไทย”  “พลังประชาชน” หลังจากเวลาผ่านไป
สักชั่วขณะหนึ่งพวกเราก็ตั้งสติได้ และทุกคนก็ได้ช่วยกันทำความเข้าใจและคุยกันว่า
จะมุ่งมั่นทำงานในภารกิจที่เรายังมีภาระหน้าที่ต่อประชาชนต่อไป

การฟังเสียงและความต้องการของประชาชนเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญของพรรค
ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เราเผชิญอย่างต่อเนื่อง
ทำให้เรามั่นใจว่าตราบใดที่พรรคเรายึดมั่นในเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาของประชาชน
และใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะเสนอนโยบายที่พิทักษ์สิทธิ
และประโยชน์ของพี่น้องประชาชนแล้ว พี่น้องประชาชนก็จะไม่ทิ้งเรา
และจะให้โอกาสเราได้ร่วมฝ่าฟันกับพวกเขาตลอดไป

หลังจากท่านยิ่งลักษณ์ ไม่ปรากฏตัว
มีข่าวว่าส.ส.บางกลุ่มไม่มั่นใจกับอนาคตและบางกลุ่มรอแยกตัวออกไป
พรรคทำความเข้าใจกับ ส.ส.อย่างไร

ต้องเรียนว่า…ผมยังไม่เห็นหรือได้ยินถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าว
หากจะประเมินจากความเป็นจริง ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงมีส่วนทำให้เกิดความวิตกถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพรรคของเราได้

แต่อย่างที่เรียนไปแล้ว
เราผ่านเหตุการณ์เช่นนี้มาหลายครั้งทั้งแตกพรรค แยกพรรค
แตกตัวหรือแยกตัวเองไปเป็นอิสระ แต่เราก็ผ่านมาได้อย่างดีทุกครั้ง สถานการณ์ต่างๆ
ที่เกิดขึ้นยังไม่เคยสร้างผลกระทบรุนแรงหรือสร้างความเสียหายให้พรรคเรามากจนต้องกังวล
ตรงข้ามอาจเป็นเงื่อนไขให้ในพรรคมีการสื่อสารแลกเปลี่ยน
มีการรับฟังกันด้วยมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อพรรคได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า
พรรคจะยังคงเดินหน้าทางการเมืองต่อไป โดยยึดถือเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของพรรค
ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และเคารพสิทธิ เสรีภาพของพี่น้องประชาชน
ทิศทางของพรรคที่ยึดถือประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหัวใจ
ทำให้เรายังอยู่ภายใต้การโอบอุ้มและสนับสนุนของพี่น้องประชาชนอย่างดีเสมอมา
สิ่งเหล่านี้ทำให้ ส.ส.มีความเข้าใจ และมีความมั่นใจมากขึ้น
สิ่งนี้คือปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้นักการเมืองในแต่ละพื้นที่ยังเลือกที่จะยืนอยู่ข้างเรา
กอดคอกันฝ่าวิกฤตไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง
โดยมีพี่น้องประชาชนเป็นกองสนับสนุนพวกเราอย่างเต็มกำลัง

หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่สมาชิกพรรคถูกกล่าวโทษในโครงการตามนโยบายของพรรค  นโยบายประชานิยมยังจะเดินต่อไปอย่างไร

ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจคำว่า “ประชานิยม”
ให้ตรงกันก่อน  สำหรับพรรคเพื่อไทยในการสร้างนโยบายมาทำงาน
เราเริ่มจากการสำรวจความต้องการ ความเดือดร้อนของประชาชน โดยใช้เครื่องมือทางวิชาการ
และกลไกสมาชิกพรรคและนักการเมืองของพรรคลงไปสรุปปัญหาต่างๆ และความเห็นมาจากแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ
รวมทั้งการทำโฟกัสกรุ๊ป ผ่านการถกเถียงหาข้อสรุปที่เกิดประโยชน์ และนำมากลั่นกรองเป็นนโยบายโดยผู้ทรงคุณวุฒิ
มีความรู้ประสบการณ์ต่างๆ ช่วยกันทำ ดังนั้นนโยบายส่วนใหญ่ของเราจึง “ตรงใจ
ตรงประเด็นและตรงความต้องการของประชาชน”

กระบวนการเหล่านี้ทำให้นโยบายของเราเป็นที่ยอมรับ
และได้รับความไว้วางใจในหมู่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่เผชิญปัญหา ในระยะหลังสิ่งเหล่านี้ถูกนำไปตีความให้เกิดความขัดแย้งว่าเป็น
“นโยบายประชานิยม” แต่พรรคเราเรียกว่าเป็น “นโยบายที่สร้างโอกาส ให้ชีวิตได้เปลี่ยนแปลงจริง”
เรายืนยันที่จะเดินหน้านโยบายที่มีความเหมาะสมต่อไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าว
ส่วนปัญหาและข้อบกพร่องซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการทำงานก็คงต้องนำกลับมาทบทวน
พิจารณาข้อจำกัดอันเกิดขึ้นจากกฎกติกาที่ถูกตราขึ้นใหม่ภายหลังว่าเป็นอย่างไร
พรรคเราคงนำเอาเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ มาพิจารณาปรับปรุงเพื่อให้เรายังสามารถยึดมั่นในเจตจำนงที่จะใช้นโยบายเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องให้ดียิ่งๆ
ขึ้นไป

ขณะนี้หลายฝ่ายให้ความสนใจกับตัวผู้นำพรรคคนใหม่เป็นอย่างมาก
พรรคมีระบบการคัดเลือกผู้นำพรรคอย่างไร และจะต้องฟังความเห็นจากคนแดนไกลหรือไม่

ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจและห่วงใยในปัญหานี้แทนพรรคเพื่อไทย
โดยกระบวนการของพรรค สามารถหารือกันในหมู่สมาชิกทั่วทั้งพรรค
เพื่อจะคัดสรรบุคลากรคุณภาพ พรรคเรามีแกนนำของพรรคจำนวนมากที่ช่วยกันทำงานตามเงื่อนไขและสถานการณ์ทางการเมืองต่างๆ
มาโดยตลอด
การพิจารณาเลือกผู้นำมีปัจจัยแวดล้อมหลายด้านที่จะต้องร่วมกันทำความเข้าใจ
รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองภายนอกที่จะทำให้พรรคต้องพิจารณาปัจจัยและผลกระทบต่างๆ
ร่วมกัน

พรรคของเราเป็นสถาบันทางการเมืองที่ค่อยๆเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง
มีระบบบริการจัดการร่วมกัน รับฟังเสียงและความคิดเห็นต่างๆ จากแกนนำพรรค
นักการเมืองของพรรค สมาชิกพรรค เราเชื่อมั่นว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจ เราจะร่วมกันคัดกรองให้ได้บุคลากรที่เข้าใจในอุดมการณ์และเจตนารมณ์ของพรรค
และสามารถเป็นแกนกลางในการประสานความร่วมมือร่วมใจของคนทั่วทั้งพรรคได้

เมื่อถึงเวลาที่มีการปลดล็อคให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้
เราจะต้องเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคและคณะผู้เกี่ยวข้องตลอดจนแกนนำสมาชิกตามข้อบังคับของพรรค
จัดการประชุมเพื่อเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ พร้อมตำแหน่งหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค
เลขาธิการพรรคและรองเลขาธิการพรรค ตลอดจนเหรัญญิกพรรคและโฆษกพรรค เป็นตำแหน่งสำคัญๆ
ตามข้อบังคับพรรคทันที

และเมื่อนั้นความชัดเจนต่างๆ ของพรรคจะเกิดขึ้นภายใต้การเห็นพ้องต้องกันของสมาชิกพรรคทุกส่วน
ซึ่งเชื่อว่าโดยกระบวนการที่เราเคยปฏิบัติมา จะเป็นฉันทามติที่เราได้เข้าใจและเดินหน้าทำงานไปด้วยกันต่อไป

โอกาสในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยจะผงาดขึ้นเป็นผู้นำด้วยเสียงข้างมากหรือไม่
อย่างไร

“คำตอบนี้อยู่ที่ประชาชน”

ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินจากประสบการณ์ของพวกเขา ผมเชื่อว่าสภาพชีวิตที่คนไทยส่วนใหญ่ได้เผชิญหลังการรัฐประหารปี
2557 และประสบการณ์ที่เขาได้เห็นการทำงานและผลงานของพรรคการเมืองต่างๆ
จะทำให้คนไทยจำนวนมากเรียนรู้ว่า สิ่งใดเหมาะสมกับพวกเขา เกิดประโยชน์กับพวกเขา และสิ่งใดคือสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ก่อประโยชน์ให้แก่ชีวิตของพวกเขา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เชื่อว่าประชาชนได้เรียนรู้และมีความเข้าใจสภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างดี
และพวกเขาจะใช้สิทธิเพื่อเลือกโอกาสจากนโยบายต่างๆ
ที่อำนวยประโยชน์อย่างเป็นจริงต่อชีวิตเขาด้วยตัวของพวกเขาเอง

ถ้าไม่ได้เป็นเสียงข้างมากเช่นเดิม แนวทางที่จะมีนายกฯ คนนอก รับได้หรือไม่
เพราะอะไร

ในแง่ของการเมือง ต้องทำตามฉันทามติของประชาชน

ในหลักการแล้ว พรรคเรายึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย
เราจึงต้องคำนึงถึงหลักการที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากฉันทามติและความเห็นชอบของพี่น้องประชาชน
ฉะนั้นเราจึงไม่สนับสนุนหลักการที่จะเอาคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ถ้าประชาชนต้องการให้พรรคเราเป็นรัฐบาล
ก็จะถูกสะท้อนออกมาจากคะแนนเสียงที่ประชาชนไว้วางใจและมอบให้
เพื่อให้เข้ามาแก้ไขปัญหาบริหารประเทศให้พวกเขา

แต่ถ้าอยากให้พรรคเราเป็นฝ่ายค้าน
คะแนนเสียงที่ประชาชนมอบให้ ก็จะออกมาในอีกลักษณะหนึ่ง

หากพรรคเราได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนอย่างเต็มเปี่ยม แต่กลับไม่สามารถทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนมอบให้
ก็จะเป็นการเรียนรู้ครั้งสำคัญของประชาชน ถึงลักษณะและเงื่อนไขข้อจำกัดที่ถูกสร้างขึ้นจากการเมืองพิเศษ

และหากพบว่าข้อจำกัดเหล่านั้น ล้วนเกิดขึ้นจากกฎกติกาที่ถูกสร้างขึ้นมา
และเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาของประเทศและของพี่น้องประชาชน
พวกเขาก็จะช่วยกันหาทางออกเพื่อให้ประเทศเดินก้าวต่อไปข้างหน้าได้

ถ้ารับไม่ได้ โอกาสที่จะจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้ได้นายกฯ จากระบบพรรคการเมืองเป็นไปได้หรือไม่

ปัญหาในข้อนี้เป็นเรื่องที่สมมติและคาดการณ์ไปโดยยังไม่ได้อิงข้อเท็จจริง
และเร็วเกินไปที่จะตอบเพราะปัจจัยและเงื่อนไขที่จะกำหนดแนวทางการเมืองของพรรคว่าจะทำอย่างไร
ล้วนมีปัจจัย เงื่อนไขและข้อจำกัดอีกหลายประการ

แต่สิ่งที่สามารถยืนยันกับพี่น้องประชาชนได้คือ การตัดสินใจของเราอยู่บนพื้นฐานที่ต้องเคารพในหลักการประชาธิปไตย
และคำนึงถึงเจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชนที่เลือกเรามา
และต้องเป็นไปเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ และเอื้อต่อการคลี่คลายปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

บทสัมภาษณ์คอลัมน์ “ตรวจการบ้าน” นสพ.เดลินิวส์ ฉบับเสาร์ที่ 9 ก.ย.60

Categories: Interview