การคลังที่เริ่มจะไม่ “ยั่งยืน”

เมื่อหลายปีที่ผ่านมาเราเคยตั้งเป้าว่าเราจะเข้าสู่การทำงบประมาณสมดุล (ไม่ใช้เงินเกินตัว) ให้ได้ภายในปี 2560 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบันคือปี 2561 เราตั้งงบประมาณขาดดุล (ใช้เงินเกินตัว) มากสุดเป็นประวัติศาสตร์ นอกจากนั้น พรุ่งนี้ 22 มี.ค. สนช.จะพิจารณางบกลางเร่งด่วนเพิ่มเติม 150,000 ล้านบาท (กู้เพิ่มอีก 1 แสนล้าน) โดยจะเป็นการพิจารณา 3 วาระรวด (ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน)  

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการทำงบประมาณขาดดุลแบบเรื้อรัง รวมทั้งการกู้เงินของรัฐบาลนั้น ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าเศรษฐกิจต้องขยายตัวให้ได้ตามเป้า จึงจะไม่ “อันตราย”  

ครั้งนี้ (การขาดดุลขนาดนี้) เราเริ่มจะ “เสี่ยง” กับ “การเดิมพัน” กับเศรษฐกิจไทยในอนาคตค่อนข้างมาก  

จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องลงไปดูในรายละเอียดถึงประสิทธิภาพของการใช้เงินของภาครัฐ ถ้าใช้เงินมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจขยายตัวเพียงพอที่จะชดเชยกับหนี้ที่สร้างขึ้น ก็รอดตัวไป แต่ถ้ากู้มาแล้วใช้เงินไม่เป็น ไม่เกิดประโยชน์ ไม่เหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์ หรือมีจุดประสงค์อย่างอื่น ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ได้ตามสมมติฐาน อันนี้อันตราย อันตรายมากๆ

ผมขอยกตัวอย่างการใช้งบประมาณของรัฐบาลที่ผมกังวล เช่น  
1) โครงการธงฟ้าประชารัฐ — รัฐบาลกระจายเงินไปสู่ผู้มีรายได้น้อย (อันนี้ถูก) โดยกำหนดให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยเฉพาะในร้านที่รัฐบาลกำหนด (อันนี้ผิด)  
เพราะอะไร? หลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น (ที่ทุกคนก็รู้) คือ รัฐบาลควรจะกระจายทรัพยากรลงสู่ผู้ที่มีแนวโน้มในการเอาเงินนั้นมาจับจ่ายใช้สอยมากที่สุด เงินนั้นควรจะต้องถูกหมุนโดยอิสระ ให้หมุนจำนวนหลายรอบอยู่ที่ “ฐานราก” มากที่สุด ก่อนจะถูกดูดขึ้นมาสู่ “ชั้นบน” ของสังคม

ผมมองไม่เห็นความจำเป็นใดๆเลยที่จะต้องไปจำกัดการหมุนเวียนของเม็ดเงินที่จะลงไปสู่ฐานรากของประเทศ ซึ่งโครงการธงฟ้าประชารัฐนั้น เราอาจกล่าวได้ว่ามีการหมุนของเม็ดเงินเพียงรอบเดียว แล้วถูกดูดขึ้นมาส่วนบนของสังคม (ซึ่งเป็น “กลุ่มทุน” เพียงไม่กี่กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่อาจมีความเชื่อมโยงและเกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ส่งผลให้การกระจายทรัพยากรเป็นในลักษณะกระจุกตัว เพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีกด้วย)  

นี่คือตัวอย่างของการใช้เงินที่ไม่เกิดประสิทธิภาพ — งบประมาณในส่วนนี้ ไม่ก่อให้เกิดผลบวกต่อเศรษฐกิจเท่าที่ควร ถ้าต้องกู้เงินมาใช้แบบนี้บ่อยๆ อย่างนี้ที่ผมเรียกว่าอันตราย

2) โครงการไทยนิยมยั่งยืน ใช้เงินมหาศาล บางส่วนคือเงินกู้ แต่ไม่มีรายละเอียดโครงการที่แน่ชัด และอาจมีวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากประโยชน์สูงสุดของประเทศ อันนี้ก็อันตราย

ทั้งนี้เมื่อไหร่ก็ตามที่เศรษฐกิจขยายตัวไม่ทัน หนี้” ที่เพิ่มขึ้น อีกไม่นานระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะชนเพดาน แล้วถึงเวลานั้นเราจะไม่มี “เครื่องมือ” ในการประคับประคองเศรษฐกิจไว้ได้ ถึงเวลานั้นเราอาจต้องปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มรายได้แก่รัฐ ซึ่งนั่นยิ่งก่อให้เกิดแรงฉุดซ้ำเติมต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเข้าไปใหญ่  

จึงอาจถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่เราจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการคลังแบบเอาจริงเอาจังเสียที ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป

ดร. เผ่าภูมิ โรจนสกุล  
ที่ปรึกษาเลขาธิการพรรคเพื่อไทย
21 มี.ค. 2561

Categories: Interview