จากคนตุลาฯ ถึงคนรุ่นใหม่: คุยกับหมอพรหมินทร์ จาตุรนต์ และภูมิธรรม คนเดือนตุลาฯ
หลายคนอาจจะไม่ค่อยได้ทราบว่า นักการเมืองหลายคนในอดีต สมัยที่เป็นนักเรียน นักศึกษา เคยมีประสบการณ์ในการทำงานการเมือง ทำกิจกรรม ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประชาธิปไตยมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อย่าง 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์การเรียกร้องรัฐธรรมนูญครั้งสำคัญ ในวันนี้พวกเขาก็ยังคงทำงานการเมืองและมีส่วนช่วยในการพัฒนาประชาธิปไตยในหลาย ๆ ด้าน และท่ามกลางกระแสการเกิดขึ้นของพรรคการเมือง และการให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ที่มีจิตใจอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง
วันนี้เรามีโอกาสพูดคุยกับคนเดือนตุลา 3 คน อย่าง นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรีรัฐบาลทักษิณ ที่ในสมัยที่เป็นนักศึกษาเคยเป็นเลขาธิการพรรคแนวร่วมมหิดล นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลทักษิณ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ก็เป็นผู้ประสานงานแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ในช่วงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เดือนตุลาเช่นเดียวกัน ในฐานะที่พวกเขาเคยเป็นหนึ่งในขบวนการคนรุ่นใหม่ในสมัยนั้น เราลองมาฟังเรื่องราว และแง่คิดของพวกเขากัน
“สิ่งที่สำคัญคือการเคลื่อนไหวทางการเมืองมันสะท้อนสภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม” นายแพทย์พรหมินทร์เริ่มต้นด้วยประโยคนี้ ก่อนจะชี้ให้เห็นว่าสภาพสังคม เศรษฐกิจในยุคข้าวยากหมากแพง เป็นเหตุให้ประชาชนลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว
“14 ตุลา สะท้อนให้เห็นภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจโดยรวม สภาพเศรษฐกิจสังคมที่ขณะนั้นย่ำแย่มาก มีการสืบทอดอำนาจกันมา เพราะฉะนั้นมีความอึดอัดและตึงเครียดเกิดขึ้น”
“ขณะนั้นผมเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 แต่ผมก็สัมผัสได้ถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น” นายแพทย์พรหมินทร์เล่า
ด้านนายจาตุรนต์ก็เล่าว่าในขณะที่เกิดเหตุการณ์ตนก็เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เช่นเดียวกัน
“ช่วงที่ทำกิจกรรมนักศึกษาเป็นช่วงที่ประทับใจมากที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต รู้สึกว่าได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ได้เรียนรู้การต่อสู้ การทำงานร่วมกับคนอื่น การแก้ปัญหา การเผชิญหน้ากับวิกฤต รวมทั้งการพูด อภิปราย ปราศรัยและสื่อสารกับผู้อื่นและประชาชน” นายจาตุรนต์ กล่าว
ไม่น่าเชื่อว่าแม้เวลาจะผ่านมาหลายสิบปี การใช้อำนาจในมือไปอย่างบิดเบี้ยว จะยังออกมาในรูปแบบไม่ต่างจากเดิมมากนัก ยังคงมีการยัดเยียดตีตราประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงและนำไปสู่การใช้กำลังเข้าปราบปราบประชาชนในที่สุด
“ความจริงเพียงไม่ถึง 3 ปีความไม่เป็นประชาธิปไตยก็กลับมาและกว่าจะค่อยๆเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นบ้างก็กินเวลาหลายปี แล้วก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงมาก ทำให้สังคมไทยเปิดมากขึ้น ประชาชนเห็นพลังอันยิ่งใหญ่ของตนเอง เห็นความอ่อนแอของเผด็จการ สังคมไทยจะปกครองแบบก่อนหน้านั้นอีกไม่ได้” นายจาตุรนต์เสริม
ด้านนายภูมิธรรม รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และหนึ่งในคนเดือนตุลาฯ ให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่คนมองว่าเป็นชัยชนะของขบวนการประชาธิปไตยว่า “ถ้าถือว่าชัยชนะ 14 ตุลาฯ ถือว่าเป็นชัยชนะขั้นต้น สิ่งที่ขบวนการ 14 ตุลาฯ ชนะคือการต่อสู้กับเผด็จการ แต่สิ่งที่ควรเชิดชู เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ จิตใจที่ใฝ่หาเสรีภาพ แต่มันบอกความจริงเราอย่างหนึ่งว่าการจะได้มาซึ่งประชาธิปไตย มันไม่ใช่แค่การเรียกร้องให้กลุ่มผู้มีอำนาจชุดเดิมออกไป แล้วสถาปนาอำนาจประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น มันไม่ใช่แค่นั้น มันเป็นเรื่องที่ต้องมาพิจารณาเรื่องโครงสร้างอำนาจต่าง ๆ ให้มากกว่านั้น”
แล้วทำไมความไม่เป็นประชาธิปไตยมันถึงกลับมาอีก ? นายภูมิธรรม ให้ความเห็นว่า
“โครงสร้างอำนาจเก่ามันยังครอบอยู่ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มันเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนกระเบื้องสามสี่แผ่นบนหลังคา แต่มันไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างของบ้าน ชัยชนะที่มันเกิดขึ้นนั้นก็เป็นเพียงชั่วคราว เป็นแค่การสะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ยอมรับเผด็จการและพร้อมที่จะสู้ในทุกวิธีที่เป็นอยู่ แต่โครงสร้างสังคมที่มันยังอยู่ก็ได้บั่นทอนพลังนักศึกษาที่บริสุทธิ์จนถูกทำลายไปในที่สุด”
เมื่อพูดถึงคนรุ่นใหม่ บุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทยที่เป็นคนเดือนตุลาฯทั้ง 3 ท่าน ยังได้ฝากแง่คิดถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมืองและมีจิตใจที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคม
ซึ่งความเป็นคนรุ่นใหม่ในสายตาของ”นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” ไม่ใช่แค่คนอายุน้อยเท่านั้น แต่เขาเชื่อว่าคนรุ่นใหม่คือคนที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เปิดกว้างต่อความหลากหลาย และเคารพสิทธิของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
“สำหรับผมคนรุ่นใหม่ ไม่ได้วัดกันที่อายุ แต่คนรุ่นใหม่วัดกันที่ความคิดที่ต้องเท่ากันการเปลี่ยนแปลงของสังคม คนอายุน้อยแต่ตามไม่ทันสังคม ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลง ล้าหลัง ในขณะที่คนอายุมาก แต่ความคิดเท่าทันการเปลี่ยนแปลงก็ล้วนแต่เป็นคนรุ่นใหม่ในสายตาผม”
“พลังของการเปลี่ยนแปลง หากมีอุดมการณ์ที่อยากทำประโยชน์ให้สังคมโดยเฉพาะเรื่องการเมืองซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจ ต้องถามตัวเองว่าสุดท้ายเรากำลังทำเพื่อใคร? “
ด้านนายจาตุรนต์ กล่าวว่าในฐานะที่ตนเคยเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจปัญหาบ้านเมือง และต้องการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อคนจน เพื่อสังคมที่ดีงามในสมัยเป็นนักศึกษาและเคยเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เข้าสู่วงการการเมืองด้วยความหวังที่จะอาศัยระบบรัฐสภาเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้พัฒนาก้าวหน้าและเป็นประชาธิปไตย อยากให้คนรุ่นใหม่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ตัวเองได้รับในช่วงเวลาที่ทำกิจกรรมและเอามาสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้ามากขึ้น
“ขอให้ใช้ประสบการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงเป็นนักกิจกรรมให้เป็นประโยชน์ให้เต็มที่ ขอให้รักษาความประทับใจความทรงจำที่มีค่าไว้ให้นานเท่านานเพราะสิ่งเหล่านั้นได้เกิดกับเราในช่วงที่เราทำไปโดยไม่ติดยึดกับผลประโยชน์ส่วนตัว การรู้จักถึงการเสียสละ ความเป็นคนมีอุดมการณ์ที่ถูกสร้างขึ้นในระหว่างเป็นนักกิจกรรมนั้น เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่ายๆ สิ่งเหล่านี้จะมีคุณค่าอย่างมากในอนาคต”
นายภูมิธรรมกล่าวปิดท้ายและฝากบอกคนรุ่นใหม่ว่าอย่าได้ละทิ้งความฝันที่จะสร้างสรรค์ประชาธิปไตยแม้จะต้องใช้เวลานาน ก็ตาม
“การที่จะทำให้สังคมพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย และทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามกับโครงสร้างสังคมได้ มันต้องใช้เวลาที่ยาวนั้น และต้องใช้ความกล้าหาญที่จะฝ่าฟัน และความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชนให้เข้าใจและมาร่วมกันคิดร่วมกันหาทางออก และผมคิดว่าบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน มันไม่ต้องให้เกิดสิ่งต่าง ๆ เหมือนในอดีต แต่ถ้าเรายังปรารถนาสังคมที่ดีงาม ถ้าอยากเห็นสิทธิเสรีภาพของคนได้รับความคุ้มครอง ให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น คุณต้องค้นคว้าหาคำตอบ ต้องไม่หมดกำลังใจ ต้องไม่หมดความฝัน และต้องพร้อมที่จะฝ่าฟันไปสู่หนทางข้างหน้าอย่างต่อเนื่องและเชื่อว่าความสำเร็จมันจะเกิดขึ้น เพราะเราคิดว่าเรากำลังจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนโดยรวมของสังคม”
จากความเห็นและแง่คิดของทั้งสามท่าน เราก็มั่นใจว่าการต่อสู้เพื่อสร้างสรรค์ประชาธิปไตยมาตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ทั้งสามเชื่อและยึดถือมาตลอดคือการที่พวกเขายึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักเหนือสิ่งอื่นใด