‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ มั่นใจ 2 ทศวรรษ เพื่อไทยฆ่าไม่ตาย
นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์มติชนถึงสถานการณ์การเมืองทั้งการดูด ส.ส. การจัดทำนโยบาย และการรับมือการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นของพรรคเพื่อไทย
พ้นช่วงวันที่ 26 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นกรอบ 90 วันของการสังกัดพรรคการเมืองของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ตามกรอบกฎหมายสถานการณ์ในพรรค พท.เริ่มนิ่งหรือยัง
จริงๆ ในพรรคก่อนหน้านี้ก็ถือว่านิ่ง เพราะสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญของพรรคคือฐานพี่น้องประชาชนที่ให้การสนับสนุน โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสานที่ค่อนข้างแข็งแรงมาก ดังนั้น ผู้แทนของพรรคเราที่ลงไปพบพี่น้องประชาชนเขารู้ว่าพี่น้องประชาชนยึดมั่น และศรัทธาในพรรค พท. ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ ส.ส.รู้สึกว่าเขายืนอยู่ข้างพรรคการเมืองที่พี่น้องประชาชนให้การยอมรับ และสนับสนุน ตรงนี้จึงทำให้การขับเคลื่อน หรือเคลื่อนย้ายของ ส.ส.โดยรวมก็นิ่งมาพอสมควร โดยจะเห็นการพยายามให้นักการเมืองมีการโยกย้าย หรือการดึงตัวนักการเมืองไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้น แต่ทำมานานแล้ว แต่คราวนี้ถือว่าเป็นมหกรรมการใช้เครื่องมือทุกวิถีทางในการที่จะย่อยสลาย พท. เพื่อดึงเอานักการเมืองของเราที่เป็นคีย์หลักๆ ไปอยู่ฝ่ายเขา
กระบวนการเหล่านี้ทำมาเป็นปีแล้ว แต่ความสำเร็จไม่ค่อยเกิดหลังจากว่าช่วงแรกที่มีการดึงนักการเมืองของพรรคไป บางจังหวัดขยับแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดึงบางส่วนบางทีไปอีกหลายท่านก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น สังเกตว่าไม่ได้ผลเพราะหัวใจหลักที่เรายึดถือคือพี่น้องประชาชนที่ยังรักและศรัทธาในพรรค พท. สิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักการเมืองที่อยากจะเปลี่ยนแปลงโยกย้ายต้องคิดเยอะ เพราะแม้จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่ไปถึงแล้วประชาชนไม่ตอบสนอง และไม่ตัดสินใจเลือกก็ยากเหมือนกัน เนื่องจากนักการเมืองหากไม่มีโอกาสเข้าไปในสภาก็ไม่มีเวทีที่จะทำงานอะไรได้เลย
อย่างไรก็ตาม ช่วงใกล้ๆ วันที่ 26 พฤศจิกายน และวันที่ 26 พฤศจิกายน จะเห็นว่ากระบวนการสร้างเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ค่อนข้างรุนแรงมาก หลังการยื่นเงื่อนไขข้อเสนอผลประโยชน์ หรือพิษภัยต่างๆ ที่จะกระทบช่างรุนแรง ตั้งแต่มีการปล่อยข่าวว่าพรรคจะถูกยุบแน่นอน ส.ส.หลายคนที่ไม่ทราบข้อมูลทางการเมืองก็เกิดความสับสน เหมือนการกวนน้ำให้ขุ่นเพื่อที่จะได้ช้อนตักเอาปลาที่ตื่นตระหนกตกใจไปได้ นี่เป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็คือ การขู่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายเขตเลือกตั้ง พูดหลายครั้งแต่สุดท้ายปัญหาก็ยังไม่เกิดอะไร จนสุดท้ายเขารู้สึกว่า การขู่ฆ่าโดยวาจาไม่มีผลอะไรก็ออกมาตรา 44 มา เพื่อทำให้กระบวนการในการคัดสรรวางเขตเลือกตั้งเกิดความเปลี่ยนแปลงโดยไม่ยึดตามหลักเกณฑ์ ทั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ทำมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่ง กกต.ทำอะไรที่นอกเหนือกฎเกณฑ์ได้ยากไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ง่ายนัก ดังนั้น การออกมาตรา 44 มาทั้งที่ระยะเวลาที่จะต้องประกาศตามกฎหมายมาถึงแล้ว การทำประชาพิจารณ์ก็ทำแล้ว แบบนี้เป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่าฉันกำลังจะใช้อำนาจมาตรา 44 มีความหมายของตนเรียกว่า อำนาจตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ ในการที่จะทำอะไรก็ได้ เปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้ แบบนี้ก็เป็นการส่งสัญญาณขู่กลายๆ ว่า ฉันจะเปลี่ยนแปลงแล้วนะ โดยการที่ฉันออกกฎหมายมาคุ้มครองให้การกระทำใดๆ ของ กกต.เป็นการกระทำที่ชอบ ถือเป็นการข่มขู่อีกอย่างหนึ่งของผู้มีอำนาจ เพื่อให้เกิดความหวั่นไหวในบรรดานักการเมืองที่จะลงแข่งขันในกติกานี้
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของสินทรัพย์ เรื่องของงบประมาณ และเรื่องของคดีความต่างๆ มากมาย เราก็ไม่อยากเชื่อนะว่าจะมีการกระทำต่างๆ มากมายขนาดนี้ แต่เมื่อมาดูเครือข่าย หรือตัวบุคคลที่ย้ายไปก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในเงื่อนไขเหล่านี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะมีปัญหาเรื่องเขตเลือกตั้งที่ถูกกระทำ ปัญหาเรื่องคดีความ หรือญาติพี่น้องอยู่ในคดีความ แม้กระทั่งมีบางคนออกมาพูดว่าฉันต้องทำไปอย่างนี้เพราะต้องการช่วยญาติพี่น้องของตัวเอง ซึ่งการกระทำแบบนี้เป็นการกระทำที่มิชอบ โดยผู้มีอำนาจใช้อำนาจอย่างเต็มที่ในการที่จะทำให้เกิดกระบวนการที่เอื้ออำนวยต่อฝ่ายตน แต่ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้อยู่ในสายตาของพี่น้องประชาชนหมด และพี่น้องประชาชนได้เก็บบันทึกไว้ ผมไม่เชื่อว่าประชาชนในปัจจุบันจะไม่รับรู้ และเชื่อว่าโดยพื้นฐานประชาชนเขาไม่ยอมรับหรอกกับกระบวนการที่ใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมเหล่านี้ จนกระทั่งวันสุดท้ายคือ
วันที่ 26 พฤศจิกายน มีการเจรจาถึงขนาดจะให้ยกจังหวัดที่เราครองความได้เปรียบไปทั้งหมดด้วยการเสนอเงื่อนไขต่างๆ นานา แต่นักการเมืองของเราฐานกำลังใจเขายังดีอยู่เพราะประชาชนที่สนับสนุนเขา เพราะถ้าไม่มีฐานประชาชนสนับสนุนอย่างแข็งแรงวันนี้พรรค พท.คงจะถูกทำลายปู้ยี่ปู้ยำไปมากพอสมควร
ดังนั้น หลังจากวันที่ 26 พฤศจิกายนเป็นต้นมา เราจึงไม่ได้รู้สึกว่าเราได้รับผลกระทบอะไรที่มากมายจนเกินไป เท่าที่สำรวจเบื้องต้นพบว่ามีเพียง 28 คนเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ เราดูปี 2554 เป็นหลัก และพิจารณาไปที่ ส.ส.พื้นที่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาให้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว ดังนั้น จึงต้องดูว่าพื้นที่ที่จะเก็บคะแนน หรือรองรับคะแนนนั้นอยู่ตรงไหน ก็ดูแล้วว่ามีการเปลี่ยนแปลงประมาณไม่เกิน 30 คน จากนี้ไปก็นิ่งแล้ว หากการเลือกตั้งจะเกิดในวันที่ 24 กุมภาพันธ์จริง เว้นแต่จะมีการเลื่อนตั้งออกไปอีก
คิดว่าจะสามารถหานักการเมืองที่มีฐานเสียงเข้าไปแทนคนที่ออกไปได้ทันหรือไม่
ผมคิดว่าขณะนี้หลักการตอนนี้ส่วนใหญ่ฐานเสียงอยู่ที่พรรคอยู่แล้ว เพราะพรรค พท.ไม่ใช่พรรคใหม่ เรามีฐานเสียงมาตั้งแต่ปี 2541 วันนี้ก็ 20 ปีแล้ว และพรรค พท.ก็ชนะการเลือกตั้งมาตลอด 4-5 ครั้งที่ผ่านมา ทั้งเป็นรัฐบาลที่สามารถสร้างแรงดึงดูดและอยู่ในใจประชาชน ทำให้วันนี้นักการเมืองส่วนใหญ่ก็วิ่งเข้าหาพรรค และพรรคของเราก็อยู่ในอันดับที่คนเชื่อว่าจะเป็นพรรคการเมืองอันดับหนึ่งที่อย่างไรประชาชนก็ยังศรัทธาอยู่ ดังนั้น จึงไม่ใช่ประเด็นในเรื่องของการแสวงหาตัวบุคคลที่มีฐานเสียงมาเป็นเรื่องหลัก แต่ผมคิดว่าการคัดสรรเพื่อให้ได้บุคคลคุณภาพที่ยึดมั่นในอุดมการณ์เหมือนกับเรา และมีจิตใจที่จะทำงานให้กับประชาชนเป็นเรื่องหลักมากกว่า อาจจะไม่ใช่คนหน้าเก่า อาจจะเป็นคนหน้าใหม่ที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ก็ได
หมัดเด็ด หรือจุดแข็งของพรรค พท.คืออะไรที่จะทำให้คนเลือกเรา
เราเป็นพรรคที่พยายามสำรวจตรวจสอบปัญหาความต้องการของพี่น้องประชาชน และที่เราได้รับการยอมรับคือ เราเป็นพรรคการเมืองที่สามารถเสนอปัญหาและทางออกในการแก้ปัญหาให้ตรงใจ ตรงประเด็น และตรงความรู้สึกของพี่น้องประชาชนได้มากที่สุด หลายคนบอกว่าเราเป็นพรรคที่มีทางออกไม่ใช่พรรคที่มาบ่นแต่ปัญหาอย่างเดียว และทางออกที่เราเสนอมักจะตรงกับความเป็นจริงที่สามารถจับต้องได้ของพี่น้องประชาชน ปรัชญาของเราที่ว่า พรรคเพื่อไทยหัวใจคือประชาชนนั้น หมายความว่าเราคิดทุกอย่างแวดล้อมสิ่งเหล่านี้ ประชาชนคือเป้าหมายที่เราจะต้องเอาใจใส่ ดูแล และกำหนดวิถีทางการทำงานของเรา นโยบายของเรา เพื่อตอบสนองเป้าหมายอันนี้ ดังนั้น จุดแข็งของเราคือการเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง
นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้พรรคของเราประสบความสำเร็จตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคือ เราเป็นพรรคที่มีนโยบาย เป็นพรรคที่ริเริ่ม และทำงานกับประชาชนโดยการเอานโยบายไปเสนอเพื่อเป็นทางออกของพี่น้องประชาชน ประโยชน์อื่นๆ ที่พี่น้องได้รับไม่มีใครว่า ไม่ว่าจะเป็นการแจกบัตรคนจน หรือแจกอะไรต่างๆ เราไม่เคยบอกประชาชนว่าไม่เอา ในเมื่อประโยชน์ส่งมาภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดและขาดแคลนอยู่แล้วในพื้นที่ แต่ใครจะเป็นผู้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และชีวิตความเป็นอยู่ที่ประสบปัญหาของเขาได้ ตรงนี้ต่างหากที่คำตอบเป็นพรรค พท. และที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดคือ การพูดแล้วทำ ทำได้จริงอย่างที่พูด ทำแล้วเห็นผลเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาได้ นี่คือหัวใจของพรรคเพื่อไทย
มีการแตกพรรคออกไปเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย ทั้งพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และพรรคอื่นๆ ซึ่งก็มีนักการเมืองรุ่นใหญ่ของพรรค พท.เข้าไปร่วมกับพรรคใหม่จำนวนมาก ตรงนี้จะทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างไร
จริงๆ ต้องยอมรับว่าตามความตั้งใจ และการออกแบบของผู้มีอำนาจเขาออกแบบมาเพื่อที่จะทำให้พรรคการเมืองไม่ใหญ่จนเกินไป ควบคุมพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง จนนักวิชาการและภาคส่วนต่างๆ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าแล้วธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองต้องแตกตัวออกเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย ดังนั้น การเกิดขึ้น และการแตกตัวของพรรคการเมืองจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดขึ้น และไม่ใช่เรื่องของการฮั้วกันทางการเมือง และไม่ใช่ความไม่จริงใจอย่างที่หลายพรรคการเมืองพยายามพูด แต่มันต้องเกิดอย่างนี้แหละ ในเมื่อนักการเมืองมีอยู่จำนวนมาก แต่รัฐธรรมนูญดีไซน์ไม่ให้พรรคการเมืองใหญ่และเติบโตได้ สมาชิกของพรรคการเมืองจึงมีที่นั่งที่ยืนค่อนข้างน้อยลงมา
ดังนั้น ตราบใดที่คุณตัดสินใจที่จะเป็นนักการเมืองในระบอบรัฐสภา และอยากเข้ามายืนอยู่ในวิถีทางของระบอบรัฐสภา ถ้าเขาไม่มีเวทีให้เขาได้เล่น หรือบทบาทของเขาจะต้องลดลงจนแทบไม่มีความหมาย การที่เขาจะดิ้นรนไปหาที่ทางของตัวเองจะให้ตัวเองได้มีที่ยืน และพิสูจน์การยอมรับจากประชาชน ให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกเขาเข้าไปจึงเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งพรรค พท.เป็นพรรคการเมืองใหญ่ ชนะการเลือกตั้งมาทุกครั้ง และครองเสียงข้างมากมา เป็นพรรคที่ 20 กว่าปีที่ผ่านมา แทบจะผูกขาดชัยชนะในการเลือกตั้งมาตลอด จึงมีนักการเมืองอยู่ในพรรคนี้ค่อนข้างมาก เมื่อรัฐธรรมนูญดีไซน์มาแบบนี้แล้วจะให้พวกเขายืนอยู่กับที่แล้วไม่สามารถมีบทบาทในทางการเมืองได้ การแตกตัวไปจึงเกิดขึ้น แต่การจะดูว่าพรรคใดยืนอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยแบบเดียวกันนั้นดูง่ายๆ ดูจากตัวนักการเมืองนั้นๆ และดูจากพฤติกรรมที่แสดงออก เพราะเวลานักการเมืองคิด พูด หรือทำอะไรล้วนปรากฏอยู่ในสาธารณะอยู่แล้ว และไม่สามารถปิดบังร่องรอยเหล่านั้นได้
วันข้างหน้าความแตกต่างจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้วใหญ่ๆ คือ แบบที่ยึดอำนาจมา 5 ปี มีคนอย่างผู้นำทางการเมืองปัจจุบันในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกว่าข้างคุณประยุทธ์ หรือข้างสืบทอดอำนาจก็ได้ และอีกส่วนหนึ่งที่คิดว่าทั้งหมดที่ดำเนินการมาไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่สามารถแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนได้ การหยิบยื่นประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนเป็นการหยิบยื่นประโยชน์ให้เป็นครั้งคราว ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง และเชื่อว่ามีแต่การยืนข้างประชาธิปไตยจะเป็นกลไกสำคัญในการเดินเอาความต้องการของพี่น้องประชาชนมาใช้ในการทำงานการเมืองเพื่อแก้ปัญหา
ประชาชนเลือกไม่ยาก ว่าจะเอาฟากอำนาจปัจจุบัน หรือฟากการเปลี่ยนแปลง การแบ่งเป็น 2 ขั้วใหญ่นี้ จะทำให้การตัดสินใจของประชาชนนั้นง่ายขึ้น สำหรับในส่วนของพรรค พท. คนของเราส่วนหนึ่งไปอยู่ในพรรค ทษช. เพราะเขาเชื่อว่าพรรค ทษช.มีอุดมการณ์ที่ใกล้เคียงกับพรรคของเรา อาจจะแตกต่างกันเพียงทางที่จะเดิน หรือบางส่วนอาจจะไปยืนอยู่กับพรรคที่มีลักษณะเป็นท้องถิ่นมากขึ้น เช่น ไปอยู่ภาคใต้ หรืออาจจะไปอยู่กับบางส่วนซึ่งเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ที่ประกาศตัวเป็นฟากประชาธิปไตยเหมือนกัน การเลือกตั้งครั้งหน้าจึงเป็นการตัดสินใจของพี่น้องประชาชนว่าจะเลือกชีวิตที่เหมือนเดิม แบบ 4-5 ปีที่ผ่านมา หรือจะเลือกชีวิตที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่คิดว่าจะมีผลที่ทำให้สภาพที่เขากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้รับการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เขาคิดว่ามันดีขึ้น สำหรับพรรค ทษช. เท่าที่เราดูก็มีบุคลากรที่เป็นคนเก่าของพรรค พท. และส่วนใหญ่ก็เป็นนักต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย และเรื่องผลประโยชน์ของประชาชน ก็ถือเป็นพรรคที่มีแนวร่วมที่เป็นพันธมิตรกัน
คิดว่าการแตกทัพออกไปแต่ร่วมกันต่อสู้จะเป็นการนำไปสู่เป้าหมาย หรือประสบความสำเร็จหรือไม่
การจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็อยู่ที่แต่ละพรรคการเมือง เราคงไปก้าวล่วงไม่ได้ ผมไม่อาจจะไปบอกว่าอนาคตใหม่เป็นอย่างไร ทษช.เป็นอย่างไร เพื่อชาติเป็นอย่างไร หรือประชาชาติเป็นอย่างไร ผมคิดว่าในการต่อสู้ เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองบีบให้มีพรรคที่เชื่อมั่นในอำนาจแบบที่เป็นอยู่ กับเชื่อมั่นในอำนาจประชาธิปไตยและอำนาจของประชาชน การที่ยืนอยู่ในทิศทางและอุดมการณ์เดียวกัน หรือจุดยืนเดียวกัน ก็กลายเป็นแนวร่วมกันโดยปริยายอยู่แล้ว แต่เมื่อลงไปสู่การต่อสู้กันในการเลือกตั้ง ทุกคนก็ต้องสู้กัน
เต็มที่เพื่อพิสูจน์ความคิดความเชื่อของตน และพรรคของตนให้พี่น้องประชาชนได้ตัดสินใจ และผมเชื่อว่าเมื่อถึงจุดนั้นการคิดเชิงยุทธศาสตร์จะเกิดขึ้น คือคิดให้ฝ่ายที่อยากเห็นอำนาจประชาธิปไตยกับอำนาจประชาชนเป็นคนกำหนดทิศทางของประเทศ เขาก็ต้องตัดสินใจแล้วเลือกว่า หย่อนบัตรครั้งนี้ หรือการตัดสินใจครั้งนี้ ทำแบบไหนเขาถึงจะสามารถได้รับชัยชนะ และเอาชนะฝ่ายที่ใช้อำนาจพิเศษ
ผมไม่มองพรรค พปชร.สูงมากขนาดนี้ ขณะที่พรรค พปชร.ยืนอยู่กับกลุ่มผู้มีอำนาจ แล้วกลุ่มผู้มีอำนาจใช้กลวิธีทุกวิถีทางในการที่จะทำให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทั้งหมด ทั้งหมดอยู่ในสายตาประชาชน และผมเชื่อว่าประชาชนไทยเขามีใจรักความเป็นธรรม เขาไม่ยอมให้เกิดกระบวนการในการที่จะสร้างความได้เปรียบ ก็เหมือนกับกีฬา หากกติกามา กรรมการมีปัญหา ประชาชนโห่แน่นอน เผลอๆ รุนแรงขึ้นมาถึงขนาดไม่ยอมรับ ดังนั้น ผมเชื่อว่าทุกอย่างอยู่ในสายตาพี่น้องประชาชน และหากเรามองอย่างตรงไปตรงมา วันนี้ 4-5 ปี ได้สัญญาอะไรไว้กับพี่น้องประชาชนก็ยังไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย วันนี้ไม่ว่าจะใช้วิธีการตลาด หรือพูดกันให้ตายว่าเศรษฐกิจโตแค่ไหนก็ตาม สิ่งที่ประชาชนสัมผัสในชีวิตจริงเขาเป็นอย่างไร เงินในกระเป๋าเขามีไหม เราเชื่อสวนทางกับมือเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง เราเชื่อว่า
วันนี้เศรษฐกิจแย่ ชีวิตของพี่น้องประชาชนยากลำบาก คนส่วนใหญ่เกิน 60% รู้สึกว่า ประเทศกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ ชีวิตเขาไม่เหมือนเดิม ไม่มีเงินในกระเป๋า วิถีชีวิตโดยปกติเขายากลำบาก เกิดความลำเค็ญ เราดูผลสำรวจจากหลายอันพบว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาหลักของพี่น้องประชาชน กำลังซื้อไม่มีทำให้เศรษฐกิจโดยรวมซบเซา หงอยเหงากันไปหมด
สิ่งที่พูดไว้ว่าดีทั้งหลายเป็นเพียงลมปาก และเลื่อนลอยทั้งสิ้น เมื่อปัญหาของพี่น้องประชาชนเป็นแบบนี้แล้วคนของฝ่ายผู้มีอำนาจจะมาบอกว่าตัวเองได้ประโยชน์และเป็นพรรคที่ใหญ่โตได้อย่างไร นอกจากนี้ พรรค พท.เราเคยบอกอะไรไปแล้วประชาชนเชื่อว่าเราทำได้อย่างนั้นทุกอย่าง ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงจริงๆ เราทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู ประชาชนมีเงินในกระเป๋า เขายอมรับจริงๆ ว่าเราดูแลชีวิตเขามีเงินเพียง 30 บาทก็รักษาโรคได้ เรามีธนาคารคนจน มีกองทุนหมู่บ้าน ทุกอย่างจับต้องได้จริง แล้ววันนี้คุณบอกดีมีอะไรแล้วมันได้แบบนั้นจริงหรือไม่ สิ่งที่รัฐบาลกำลังทุ่มงบและทำอยู่นี้เป็นการเอาเงินในอนาคตมาใช้ทั้งสิ้น และสิ่งนี้จะเป็นปัญหามากในอนาคต
วันนี้หลายฝ่ายจับตาดูการก้าวเดินของคนตระกูลชินในพรรค พท.ว่าจะเดินไปในทางใด เช่น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ หรือนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เพิ่งสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค พท. จะเข้ามาทำหน้าที่อะไร
พรรค พท.เราถูกมองว่าค่อนข้างหยุดนิ่งอยู่กับที่ เราปฏิเสธความสำคัญที่อดีตนายกฯทักษิณเป็นผู้ร่วมพรรคในเครือข่ายนี้มาตั้งแต่ต้นไม่ได้ แต่วันนั้นมันคือ 20 ปีก่อน แต่มาถึงวันนี้ท่านก็ยังเป็นบุคคลที่ในแวดวงเครือข่ายนักการเมืองยังให้ความเคารพอยู่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าท่านยังเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางอะไรต่างๆ แม้แต่คนในตระกูลชินก็ตาม จริงๆ แล้วก็ไม่ได้แตกต่างจากคนตระกูลนั้นตระกูลนี้ที่ไปอยู่ในพรรคอื่นๆ เพียงแต่ผู้นำทางการเมืองของพรรคเราแตกต่างจากส่วนอื่นคือ ผู้นำทางการเมืองของเราถูกมรสุมทางการเมืองบีบรัด พัดพาให้ต้องพรากจากประเทศไป ดังนั้น ในความเป็นจริงก็ไม่มีตัวตนที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว และความเป็นพรรคการเมืองของเรา เรามีพัฒนาการที่ต่อเนื่องที่ทำร้ายไม่ได้ ฆ่าไม่ตายมา 20 กว่าปี การคงอยู่จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเฉพาะบุคคลคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่คงอยู่ด้วยความเป็นสถาบันทางการเมือง และความต่อเนื่องของบุคลากรทางการเมืองที่อยู่ร่วมกันมาในพรรค และบุคคลในสังคมก็มีส่วนในพรรคบ้าง เช่น นายสมชายที่ยังเป็นสมาชิกพรรค พท.อยู่ นายพานทองแท้ก็เช่นกัน เขามีความผูกพันกับพรรคนี้ที่ครอบครัวของเขามีส่วนสร้างขึ้นมา ดังนั้น เขาในฐานะประชาชนคนหนึ่งย่อมมีสิทธิสังกัดพรรคการเมือง ก็เหมือนคนไทยทุกคน
ทั้งนี้ นายพานทองแท้เป็นสมาชิกพรรคคนหนึ่ง ซึ่งสำหรับความแข็งแรงของพรรคการเมืองนั้น การเมืองที่ดีที่เข้มแข็งนั้นจะต้องเป็นพรรคการเมืองที่ทำให้ผู้สนับสนุน หรือสมาชิกพรรคต้องเข้ามามีส่วนร่วมในพรรคให้ได้ และเราก็ตั้งเป้าที่จะเป็นพรรคที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ นายพานทองแท้ก็เป็นสมาชิกพรรคการเมืองคนหนึ่งที่สามารถเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับเราได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความปรารถนาของเขา
ที่มา : https://www.matichon.co.th