“กิตติรัตน์” แนะรัฐนำแนวคิด “การจัดสรรทรัพยากรกันใหม่ (Re-Matching Resources)” แก้ปัญหาเศรษฐกิจและผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของไทยเป็นวงกว้างและลึก  ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งจะมากกว่าที่เข้าใจกันว่าจะกระทบเพียงธุรกิจการท่องเที่ยว  โดยโควิด-19 จะกระทบทั้งภาคการผลิต การส่งออกและนำเข้า เนื่องจากปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีความสำคัญกับห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิตในหลายประเทศทั่วโลก  และมีบทบาทสำคัญต่อการค้าของสหรัฐ  เยอรมัน ญี่ปุ่น และเกาหลีในสัดส่วนที่มากที่สุด   

ในปีที่ผ่านมาจีนมีการขนส่งสินค้าสำเร็จรูป และกึ่งสำเร็จรูปทางทะเลในสัดส่วนถึงร้อยละ 14 ของโลก, สินค้ากลุ่มเคมีร้อยละ 12, อาหารแห้งร้อยละ 2  ขณะที่จีนนำเข้าอาหารแห้งในสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 35, ผลิตภัณฑ์เคมีร้อยละ 20, แก๊ส ร้อยละ 18, น้ำมันและพลังงานร้อยละ 16 และการขนส่งสินค้าทางทะเลร้อยละ 7  หากจีนปิดการขนส่งสินค้าในเมืองสำคัญจะกระทบต่อการผลิตของโลก เนื่องจากวัตถุดิบส่วนประกอบที่หลายประเทศต้องนำเข้าจากจีน  หากไม่มีวัตถุดิบจากจีน  การผลิตสินค้าขั้นปลาย (Finished Goods) จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น  เพราะผู้ผลิตจะต้องนำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งอื่นซึ่งมีราคาสูงกว่า   คาดว่าในระยะเวลา 1-2 เดือนนี้จะเห็นผลกระทบชัดเจน  ทั้งด้านความขาดแคลนสินค้า และราคาสินค้า

ขณะที่ภาคการส่งออกของประเทศต่างๆ ที่ขายเข้าไปในประเทศจีนย่อมจะเกิดปัญหา โดยเฉพาะสินค้าเกษตรของไทยเริ่มได้รับผลกระทบ เนื่องจากจีนระงับการสั่งซื้อจำนวนมาก  ทำให้สินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาสินค้าตกต่ำ  โดยพบว่าสินค้ากลุ่มทุเรียน รังนก กุ้ง ได้รับผลกระทบแล้ว

อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอแนะให้รัฐบาลนำเอาแนวคิด “การจัดสรรทรัพยากรกันใหม่  (Re-Matching Resources)”  ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดร.ทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี เคยแนะนำแนวคิดนี้ไว้ว่าให้เคลื่อนย้ายทรัพยากรที่เหลือใช้จากจุดหนึ่ง ไปใช้ประโยชน์อีกจุดที่ต้องการ  โดยไม่มุ่งใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งเป็นหลักการที่ควรเร่งนำมาใช้ได้ดีในประเทศไทย  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามวิกฤตเช่นนี้ โดยควรเร่งทำก่อนที่จะเสียหายมากจนยากที่จะเยียวยาแก้ไข เช่น ให้ภาครัฐ และองค์กรผู้แทนธุรกิจเอกชน เร่งหารือกับภาคการผลิตที่เคยส่งไปขายที่จีนว่าจะเบนทิศทางไปยังตลาดใดแทนด้วยความช่วยเหลือสนับสนุนกันและกันของรัฐและเอกชน (ซึ่งย่อมรวมถึงภาคการเงินด้วย) หรือแม้แต่การแก้ปัญหาระยะยาวอย่าง การแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง  โดยจ้างงานเกษตรกรที่ประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก  หรือได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง  มาร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลน อย่างการขุดบ่อชลประทานทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดย่อม  ซึ่งจะส่งผลดีเป็นทวีคูณเมื่อวิกฤตการคลี่คลายลง ในระยะสั้น เกษตรกรมีรายได้ไปใช้จ่ายประทังคุณภาพชีวิต แต่ไม่ใช่ได้เงินรับแจกแบบให้ทานโดยไม่เกิดประโยชน์  ยังมีประเด็นอื่นอีกมากทั้งเรื่องใหญ่ ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ ที่เราจะร่วมไม้ร่วมมือกันทำได้  ด้วยการนำของภาครัฐ แต่ขอไม่เสนอในที่นี้ด้วยเกรงว่าผู้มีอำนาจจะเกิดทิฐิ จนกลายเป็นดื้อดึงไม่ยอมทำ

“ขอยืนยันหลักคิดที่ว่า “ในทุกวิกฤต มีโอกาสซ่อนอยู่” หาให้พบ “จับคู่ (Re-matching)” ให้ได้ ให้ทันเวลา แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” นายกิตติรัตน์ กล่าว 

Categories: Interview